26 พ.ค. 63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเชียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19
โฆษก ศบค. กล่าวถึงการที่ประชาชนจำนวนมากมีข้อสงสัยว่าขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีจำนวนไม่มาก สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และประเทศไทยมี พ.ร.บ. โรคติดต่อ แต่ทำไมยังไม่ยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ว่าก่อนการมี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เราใช้ พ.ร.บ. โรคติดต่อเพียงอย่างเดียว ต้องทำงานข้ามกระทรวง
ดังนั้นการประชุมสั่งการโดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติงานได้ดี แตกต่างจากภายหลังจากที่ประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งมีกฎหมายอื่นๆ อีกกว่า 40 ฉบับมาเกี่ยวข้องตามที่นาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ ทำให้เห็นการบูรณาการ ไม่เพียงแต่เป็นการควบคุมโรค แต่ยังคุมเรื่องการคมนาคม เส้นทางผ่านเข้า-ออก ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย หรือการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งการที่หน่วยงานต่างๆ ทำงานร่วมกันจะต้องมีผู้นำ 1 คน ที่เรียกว่า ศปม. หรือ ศูนย์ปฏิบัติการด้านความมั่นคงเกิดขึ้นมา
โฆษก ศบค. ยังได้ยกตัวอย่างเรื่องหน้ากากอนามัย ที่ขาดตลาดในช่วงแรก ซึ่งประชาชนมองว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องจัดสรรให้เพียงพอ แต่จริงๆ แล้วแม้จะมีโรงงานหรือมีผู้ผลิตแต่ติดเรื่องสัญญาที่ต้องส่งออกหน้ากากอนามัยให้กับต่างประเทศ ดังนั้นกฎหมายฉบับเดียวไม่สามารถจัดการได้ ต้องบูรณาการกฎหมายอื่นเพื่อให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมและใช้ภายในประเทศ และเกิดศูนย์ปฏิบัติการด้านต่างๆ
เช่นเดียวกับการนำคนไทยกลับประเทศ การคมนาคม การเดินทางข้ามผ่าน นี่คือความสำคัญของการบูรณาการ เพื่อรวบอำนาจ ในการจัดการเบ็ดเสร็จ เพื่อควบคุมโรคให้ได้ โดยใช้กลไกภาครัฐ การจัดการกฎหมาย การให้อำนาจหน้าที่บุคลากรของรัฐไปควบคุม จัดการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาช่วยงานด้านโรคระบาดนี้ทำให้ประสบความสำเร็จ
ในตอนท้าย โฆษก ศบค. กล่าวทิ้งท้ายย้ำถึงความร่วมมือกันว่า “ภาครัฐเข้มข้น เอกชนเข้มแข็ง ประชาชนร่วมแรง ประเทศไทยได้ไปต่อ” เชื่อมั่นว่าด้วยการร่วมแรงร่วมใจ จะทำให้เราชนะในการต่อสู้กับโควิด-19