ใครจะพาประเทศลงเหว!

ผักกาดหอม

“รากเหง้า”
ใครๆ ก็อ่านออกเขียนได้
แต่เข้าใจหรือเปล่า?

นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถาม ในโซเชียล และแชร์ต่อๆ กันเป็นไวรัล“ผมขออย่างเดียวจริงๆ ขอรัฐธรรมนูญที่ใช้ภาษาง่ายๆ อ่านแล้วเข้าใจ เพราะมันคือสิ่งคู่ประเทศและคนไทย แต่นี่มาถึง ‘ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาค…’ มันแปลว่าอะไร?”

“พอเป็นภาษาที่ยาก เราก็อ่านไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจก็ต้องยืมจมูกคนอื่นตีความ มันต้องลดช่องว่างระหว่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนให้มากที่สุด เข้าใจกันง่ายที่สุด ให้รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญอยู่กับเราจริงๆ ให้เรามั่นใจว่ารัฐธรรมนูญปกป้องเราอยู่”

ครับ…ด้านหนึ่งก็น่าชื่นชมที่ รู้จักตั้งคำถาม
แต่อีกด้าน ก็น่าตำหนิ เพราะเป็นข้อมูลที่หาได้ทั่วไป
ค้นหาเองได้ ไม่เหนือบ่ากว่าแรง
เป็นเรื่องน่าเศร้านักศึกษาปีที่ ๔ กลับไม่มีความรู้กระทั่งโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ

หนักไปกว่านั้น ไม่เข้าใจรากเหง้าของตนเอง
และดูเหมือนอยากจะทิ้ง!
ไม่ต้องไปตีความ “ศุภมัสดุ” เพราะเป็นอารัมภบทของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เอามาใช้บังคับกับใคร

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ที่เขียนต้นฉบับลงบนสมุดไทย จะระบุวันที่ในรูปแบบนี้เสมอ
เป็นประเพณีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕

ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนและความหมายของคำว่า “ศุภมัสดุ” สรุปความได้ดังนี้

…..คำขึ้นต้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เป็นภาษาบาลีและสันสกฤตก่อนคำปรารภนั้น ถือเป็นรูปแบบเฉพาะที่มีปรากฏมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก

โดยจะขึ้นต้นด้วยคำ “ศุภมัสดุ” ซึ่งเป็นคำขึ้นต้นในประกาศที่เป็นแบบแผนหรือข้อความที่เป็นสำคัญ เช่น ประกาศพระบรมราชโองการ มีความหมายว่า “ขอความดีความงามจงมี” ซึ่งเป็นการอัญเชิญความสิริมงคล

ส่วนข้อความต่อจากคำศุภมัสดุ เป็นรายละเอียดของพุทธศักราช วัน เดือน ปี ทางจันทรคติ และวัน เดือน ปี ทางสุริยคติ ซึ่งเป็นวันที่ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น ๆ

จากนั้นจะลงท้ายด้วยคำว่า “โดยกาลบริเฉท” เสมอ ซึ่งมีความหมายว่า “เวลาที่กำหนด”

ดังเช่นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ใช้คำขึ้นต้นว่า
“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๕๕๐ พรรษา ปัจจุบันสมัย จันทรคตินิยม สูกรสมพัตสร สาวนมาส ชุณหปักษ์ เอกาทสีดิถี สิงหาคมมาส จตุวีสติมสุรทิน ศุกรวาร โดยกาลบริเฉท”

แปลความได้ว่า “ขออัญเชิญความสิริมงคล พระพุทธศาสนาได้ผ่านมาแล้ว ๒๕๕๐ กาลปัจจุบัน ตามทางจันทรคติ (ตรงกับ) ปีกุน เดือน ๙ ปักษ์ข้างขึ้น ขึ้น ๑๑ ค่ำ ตามทางสุริยคติ (ตรงกับ) เดือนสิงหาคม วันที่ ๒๔ เป็นวันศุกร์ เป็นเวลาที่กำหนด”…

ส่วน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ก็เขียนไว้ดังนี้

“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๕๖๐ พรรษา ปัจจุบันสมัย จันทรคตินิยม กุกกุฏสมพัตสร จิตรมาส ชุณหปักษ์ ทสมีดิถี สุริยคติกาล เมษายนมาส ฉัฏฐสุรทิน ครุวาร โดยกาลบริเฉท”

ข้อมูลนี้ค้นหาไม่ยาก แต่คงเพราะคนรุ่นใหม่เอาไว เอาง่าย ไม่ต้องการอะไรที่ยุ่งยาก จึงเห็นว่าเป็นส่วนเกิน

อารัมภบท หรือ คำนำ คือการบอกที่มาที่ไป
และคำศุภมัสดุนี้ สะท้อนรากเหง้าความเป็นไทย
มีมาตั้งแต่สมัยคณะราษฎร อยากจะสืบสานกันนั่นหละครับ…….

ใกล้ ๑๙ กันยายน ขบวนการไอโอ ทำงานชนิดไม่ได้หลับได้นอน
ก็มีกันทั้ง ๒ ฝั่ง
แต่ที่น่ารังเกียจ มุ่งแต่จะบิดเบือนความจริง ลงทุนเข้าไปแก้ไขข้อมูลในวิกิพีเดีย ให้ร้ายฝ่ายตรงข้าม พวกนี้ขี้ขลาด
เล่นเป็นแต่บทหมาลอบกัด

อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ โดนไปเต็มๆ
“นายแก้วสรร เป็นผู้จัดทำแผน ๑๙ กันยา ๖๓ โดยมีแผนที่จะฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์ โดยร่วมมือกับกองทัพบก และกลุ่มไทยภักดี เพื่อที่จะกดดันไปยัง ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ ในฐานะผู้สนับสนุนและกดดัน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้ลี้ภัยออกนอกประเทศ นอกจากนี้ นายแก้วสรร ยังมีแผนที่จะสร้างความวุ่นวาย เพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร”

ถึงจะเป็นคนพูดจา โผงผาง ขวานผ่าซาก แต่อาจารย์แก้วสรร ไม่ใช่คนกะล่อน หรือเป็นนักฆ่า วางแผนสังหารนักศึกษา
และที่ไม่อยากให้กลุ่มปลดแอกเข้าไปชุมนุมในมหาวิทยาลัย ก็มีเหตุผล
เพราะเป็นการคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยงสูงสุด แต่หาคนรับผิดชอบแท้จริงไม่ได้ ผิดมาตรฐานประชาธิปไตย และมาตรฐานธรรมศาสตร์โดยสิ้นเชิง

“อานนท์ นำภา” คนนอกจะรับผิดชอบอะไรได้

“เพนกวิน” ยิ่งแล้วใหญ่ กระเหี้ยนกระหือรืออยากปะทะกับสถาบันฯ จนไม่คิดถึงผลที่จะตามมา โดยเฉพาะกับผู้ชุมนุม

๒ คนนี้ไม่อยู่ในข่ายจะรับผิดชอบอะไร หากการชุมนุมไม่ได้เป็นไปอย่างสงบ และสันติ

อย่าเอาแต่โทษว่าฝ่ายรัฐจ้องจะทุบตี จับขังคุกอย่างเดียว
หากไม่ทำผิดกฎหมาย ก็ไม่มีใครไปตอแย

อันที่จริงไม่เฉพาะในธรรมศาสตร์
ไม่ว่าชุมนุมที่ไหน การให้ “อานนท์-เพนกวิน” เป็นคนชี้นิ้ว ล้วนเสี่ยงเกิดความรุนแรงได้ทั้งสิ้น

อาจารย์แก้วสรร เป็นคนธรรมศาสตร์ แต่ก็ชัดเจนว่า ม็อบเด็กธรรมศาสตร์ และพวกโหนธรรมศาสตร์นั้นไม่ปร่งใส

“…ทางความคิดนั้นผมไม่ขอเถียงอะไรกับเขาเลย คนเรามีสิทธิจะคิดอะไรก็ได้อยู่แล้ว
แต่ผมไม่เห็นด้วยที่เขาจะป่าวผู้คนมาชุมนุมปลุกความจงเกลียดจงชัง ๑ วัน ๑ คืนแล้วเทใส่ทำเนียบ อย่างนี้
นี่มันไม่ใช่การชุมนุมทางความคิด
ไม่ใช่การประท้วง
แต่เป็นการต่อสู้ขับไล่ทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายมาก
ไม่ต่างจากยิงปืนใส่แมงสาบเลยครับ…”

กลับกันอย่างสิ้นเชิง คนธรรมศาสตร์อีกคนที่ชื่อ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” พยายามอย่างหนัก ให้เปิดประตูรั้ว ต้อนรับนักศึกษาเข้าไปชุมนุม

ชาญวิทย์กับคณะเข้าชื่อให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทบทวนคำสั่งห้ามใช้มหาวิทยาลัยเป็นที่ชุมนุม
แต่ “ชาญวิทย์” คนเดียวกันนี้เมื่อครั้ง เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาพื้นฐานสมัย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี ได้ลาออกยกทีม ตามอาจารย์ป๋วย ก่อนเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

วันนั้นอาจารย์ป๋วย ไม่เห็นด้วยที่นักศึกษาใช้มหาวิทยาลัยเป็นที่ชุมนุม

“มันต้องมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ผมไม่ขอรับผิดชอบและผมจะขอลาออกจากการเป็นอธิการบดี”
และ “ชาญวิทย์” ก็ออกตาม
แล้ววันนั้น “ชาญวิทย์” คิดอะไร ต่างจากวันนี้อย่างไร?

ในขณะที่ ม็อบมีความชัดเจนว่า เหตุการณ์เดือนตุลาคือโมเดล และต้องการเดินตามนั้น

เอาหละ…ไม่ปกตินัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์ผ่านทีวีรวมการเฉพาะกิจ ก่อนการชุมนุม ๒ วัน

…..เมื่อเวลาที่ท่านมารวมตัวกัน ท่านกำลังเพิ่มความเสี่ยงอย่างมหาศาล ที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในประเทศไทย

และขณะเดียวกัน ท่านกำลังเพิ่มความเสี่ยง ที่จะทำลายการทำมาหากินของคนไทยด้วยกัน อีกสิบๆ ล้านคน


การจุดชนวนการแพร่ระบาดโควิด ให้เสี่ยงที่จะลุกโชนขึ้นมาอีก นั่นจะส่งผลกระทบที่เลวร้าย และทวีคูณปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ไปสู่ระดับที่เรายังไม่เคยเจอมาก่อน

ผมขอให้ทุกท่าน คำนึงถึงเรื่องนี้ ให้มาก
ดังนั้น เราจึงไม่ควรทำอะไรก็ตาม ที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้ประเทศไทยต้องกลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง เหมือนเมื่อเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา แบบนั้นจะยิ่งเพิ่มความเดือดร้อนและเจ็บปวดให้กับทุกคน

ผมขอบอกทุกคนที่อยากจะออกมาชุมนุม ชัดๆ ว่า ผมได้ยินสิ่งที่ท่านพูด ผมรับทราบความคับข้องใจของพวกท่านในเรื่องการเมือง และความไม่พอใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ


ผม เคารพ ความคิดเห็น และความรู้สึกของท่าน
แต่วันนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเจ็บปวดเร่งด่วน ที่เราจำเป็นต้องจัดการก่อน นั่นคือการบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจที่โควิดได้ก่อให้เกิดขึ้นไปทั่วโลก
เราไม่ควรทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งไปกว่านี้

การชุมนุมจะทำให้การฟื้นเศรษฐกิจเกิดการล่าช้า เพราะจะทำลายความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ และสร้างความลังเลใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะมาเมืองไทย เมื่อถึงเวลาที่เราพร้อมจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง การชุมนุมจะสร้างความวุ่นวายในประเทศ และทำลายสมาธิการทำงานของภาครัฐในการจัดการกับโควิด และปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน


ผมจึงอยากขอให้เราเอาชนะโควิดและผ่านวิกฤตโลกครั้งนี้ ไปด้วยกัน ให้ได้ก่อน หลังจากนั้น เราค่อยกลับมาที่เรื่องการเมือง……

ครับ…นักศึกษา นักการเมืองฝ่ายค้านบอกว่า ปล่อยให้รัฐบาลนี้บริหารประเทศต่อไม่ได้แล้ว มันจะฉิบหายในวันนี้ พรุ่งนี้
นายกฯ ประยุทธ์ก็บอกข้างต้นว่า การมีม็อบทำลายความเชื่อมั่น เสี่ยงโควิด การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะล่าช้าออกไปอีก คนไทยทั้งชาติเจ็บปวดจากล็อกดาวน์มาแล้วไม่อยากให้มีซ้ำสอง

ก็ลองดูเหตุผลของทั้งสองฝ่าย แล้วชั่งน้ำหนัก
ใครมีโอกาสพาประเทศลงเหวมากกว่ากัน
แต่จะบอกว่า ให้ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” บริหารประเทศแทนวันนี้…
จะยิ่งฉิบหายเร็วกว่าเดิม


Written By
More from pp
0 replies on “ใครจะพาประเทศลงเหว!”