“การเดินทางของปลานิล” เรื่องเล่าจากวารสารมูลนิธิชัยพัฒนา ฉบับเดือนเมษายน 2551

เพจเฟซบุ๊ก “มูลนิธิชัยพัฒนา”  เผยแพร่ความรู้เรื่อง “ปลานิล” ความว่า  “การเดินทางของปลานิล” มีเนื้อหา ดังนี้
ปลานิล เป็นปลาที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าปลานิลมีประวัติศาสตร์ และมีเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ถึงสองพระองค์ นั่นก็คือ กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีไทยและจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น

นับย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโต เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงจัดปลานิลจำนวน 50 ตัว ความยาวเฉลี่ยตัวละประมาณ 9 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 14 กรัม ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดินเนื้อที่ประมาณ 10 ตารางเมตร ภายในบริเวณสวนจิตรลดา
เมื่อเลี้ยงได้สักระยะปรากฎว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นจำนวนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ขุดบ่อขึ้นใหม่อีก 6 บ่อ เนื้อที่เฉลี่ยบ่อละประมาณ 70 ตารางเมตร และได้ทรงย้ายพันธุ์ปลาด้วยพระองค์เอง จากบ่อเดิมไปปล่อยในบ่อใหม่ทั้ง 6 บ่อ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2508 ต่อจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิชาการมาตรวจสอบการเจริญเติบโตเป็นประจำทุกเดือน
เมื่อทรงเลี้ยงไปสักระยะ ทรงสังเกตเห็นว่าปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ออกลูกดก เจริญเติบโตได้รวดเร็ว จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ปลานิลนี้แพร่ขยายพันธุ์ อันจะเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์ ดังนั้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2509 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อปลานิลนี้ว่า “ปลานิล”
ปลานิลมีถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมมาจากแม่น้ำไนล์ (Nile) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Tilapia nilotica และได้พระราชทานปลานิลขนาดยาว 3-5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว แก่กรมประมงนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ในบริเวณสถานีประมงต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์พร้อมกัน เมื่อปลานิลแพร่ขยายพันธุ์ออกไปได้มากเพียงพอแล้ว จึงได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรนำไปเพาะเลี้ยงตามความต้องการต่อไป
นั่นคือประวัติการเดินทางคร่าวๆ ของปลานิลจากประเทศญี่ปุ่นสู่ประเทศไทย แม้ว่าปัจจุบันปลานิลจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายแล้วก็ตาม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงและแพร่ขยายพันธุ์ปลานิลในบ่อสวนจิตรลดาต่อไป โดยในทางวิชาการเรียกสายพันธุ์ปลานิลนี้ว่า “ปลานิลสายสืบพันธุ์จิตรลดา” ซึ่งยังคงเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้ที่ประเทศไทยได้รับการทูลเกล้าฯ ถวาย จากพระจักรพรรดิอะกิฮิโตแห่งประเทศญี่ปุ่น
ในวันนี้ไม่เพียงแต่สวนจิตรลดาเท่านั้นที่มีการขยายพันธุ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลานิล ปัจจุบันมูลนิธิชัยพัฒนา ยังได้เดินดำเนินงานตามรอยพระราชดำริ โดยขยายพื้นที่การเลี้ยงปลานิลออกสู่ต่างจังหวัดเพื่อให้เข้าถึงราษฎรได้มากที่สุด โดยได้จัดทำโครงการสาธิตการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตลูกปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาในพื้นที่ดินเปรี้ยว บ้านเกาะกา ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เพื่อผลิตลูกปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาแท้ที่มีคุณลักษณะดี และมีเป้าหมายเพาะพันธุ์ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาให้ได้ผลผลิตประมาณ 5-10 ล้านตัวต่อปี และเพื่อจำหน่ายในราคาถูกให้แก่เกษตรกรนำไปเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ รวมถึงถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะพันธุ์ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจทั่วไป
ภายในโครงการประกอบด้วย บ่อดิน สำหรับใช้เป็นบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ซึ่งได้มาจากสวนจิตรลดา และบ่ออนุบาลลูกปลา อาคารเพาะฟักและอนุบาลลูกปลา เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้มีการแปลงเพศปลานิล หรือที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดีว่าปลานิลแปลงเพศ เพื่อกำหนดเพศปลานิลให้เป็นเพศผู้ เนื่องจากปลานิลเพศผู้มีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าเพศเมีย ทั้งยังมีตัวใหญ่และให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า และยังสามารถกำหนดขนาดของปลาให้มีขนาดใกล้เคียงกันเกือบทั้งบ่อได้อีกด้วย
ปัจจุบันปลานิลไม่ได้นิยมเลี้ยงเพื่อบริโภคแต่เพียงอย่างเดียว โดยหลังจากแล่เนื้อปลาเพื่อจำหน่าย ได้นำหัวปลาและก้างไปเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ เรายังสามารถนำส่วนต่างๆ ของปลานิลไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานเผยแพร่ข่าวไปทั่วโลกเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2550 ว่า โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีของประเทศไทย นำเอาเกล็ดปลานิลซึ่งมีความแข็งมาดัดแปลงรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ โดยให้โรงงานในจังหวัดนครปฐม นำไปแปรสภาพให้มีสีสันและตัดเย็บเป็นแผ่นสำหรับเป็นวัสดุในการตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากเกล็ดปลานิล ซึ่งนักออกแบบได้ดัดแปลงทำได้หลายอย่าง อาทิ กระเป๋าถือ รองเท้า หรือแม้แต่ชุดชั้นใน บิกินี….
ปลานิลตัวเล็กๆ ซึ่งเดินทางมาไกลจากประเทศญี่ปุ่นในวันนั้น นำมาซึ่งปลานิลนับแสนนับล้านตัวในวันนี้ จากแรกเริ่มเพียง 50 ตัว ได้รับการเอาพระทัยใส่จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จนสามารถเจริญเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ก่อให้เกิดคุณอนันต์มากมายแก่ประชาชนชาวไทย ปัจจุบันไม่มีใครไม่รู้จักปลานิล ในทางกลับกัน เราสามารถเรียนรู้วิธีการนำเอาประโยชน์จากปลานิลไปพัฒนาจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ผลจากสายพระเนตรที่ยาวไกลและทรงห่วงใยพสกนิกร นำมาซึ่งผลผลิตอันเป็นทั้งอาหารและสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ให้สามารถหล่อเลี้ยงประชาชนได้กินดีอยู่ดีพอเพียงตามอัตภาพ…..
ในวันนี้ หากท่านมีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสปลานิลครั้งใด ขอจงระลึกไว้เสมอว่าปลานิลที่ท่านรับประทานอยู่ เป็นอีกหนึ่งในนับร้อยนับพันโครงการของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ แต่ก็มิได้ทรงละเลย นับเป็นความโชคดีของเราแท้ๆ ที่เกิดมาเป็นประชาชนชาวไทย…
…ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ…

Written By
More from pp
วว. ร่วมสร้างความมั่นคงทางการยาระดับภูมิภาค โชว์งานวิจัย บริการ ในงาน CPHI South East Asia 2023
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานวิจัย งานบริการอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ การบริการทดสอบและวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากล...
Read More
0 replies on ““การเดินทางของปลานิล” เรื่องเล่าจากวารสารมูลนิธิชัยพัฒนา ฉบับเดือนเมษายน 2551”