ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่การเกษตรที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำ
ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ว่า
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พบถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรจากฝนทิ้งช่วงและฝนแล้งเป็นเวลานาน
จึงมีแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2563 เพื่อบรรเทาปัญหาฝนทิ้งช่วงและพื้นที่เกษตรที่มีน้ำไม่เพียงพอ โดยได้เร่งทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เกษตรและเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ปฏิบัติการฝนหลวงนั้นจะครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหา ทั้งพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์และส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำอุปโภค – บริโภคของประชาชนด้วย
ในส่วนของการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) มีวันขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง รวม 137 วัน ขึ้นปฏิบัติการรวม 670 เที่ยวบิน วันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 97.08 มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 17.88 ล้านไร่ ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บทั้งสิ้น 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม และจังหวัดชัยภูมิ เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2563 จำนวน 6 เขื่อน
และเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 14 สิงหาคม 2563 จำนวน 5 เขื่อน และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) มีวันขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง รวม 142 วัน ขึ้นปฏิบัติการรวม 805 เที่ยวบิน วันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 92.96 มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จานวน 43.38 ล้านไร่ เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2563 จำนวน 62 เขื่อน และเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 14 สิงหาคม 2563 จำนวน 52 เขื่อน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลรวมการปฏิบัติการฝนหลวงระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 14 สิงหาคม 2563 นั้นมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการ รวม 12 หน่วย รวมวันขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงทั้งสิ้น 177 วัน ขึ้นปฏิบัติการรวม 4,582 เที่ยวบิน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการ รวม 175 วัน คิดเป็นร้อยละ 98.87 จังหวัดที่มีรายงานฝนตก รวม 67 จังหวัด
ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 193.75 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 204 แห่ง แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง และเขื่อนขนาดกลาง 170 แห่ง สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 1,313.706 ล้าน ลบ.ม.