“พลเอก ประวิตร” สั่งการ สทนช.ลงพื้นที่โคราชบูรณาการหน่วยงาน–จังหวัดพร้อมรับมือ หลังประเมินอีสานยังมีความเสี่ยงฝนตกหนัก ย้ำแผนบริหารน้ำเขื่อนลำพระเพลิง-ลำตะคองโดยถอดบทเรียนน้ำท่วมโคราชปี’63 ด้านเลขาฯ สทนช.เล็งดึงเส้นทางผังน้ำลุ่มน้ำมูลกำหนดจุดเสี่ยงท่วมเชื่อมข้อมูลศูนย์ข้อมูลน้ำจังหวัด ให้ประชาชนรู้ล่วงหน้า
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร
วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล จ.นครราชสีมา เพื่อเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนช่วงนี้อย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากระยะนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีแนวโน้มฝนตกหนักในช่วงปลายเดือนกันยายนต่อเนื่องตุลาคม ที่หน่วยงานในพื้นที่ต้องให้ความสำคัญ ติดตาม และวางแผนการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ อย่างใกล้ชิด เครื่องจักรเครื่องมือต้องพร้อมใช้งาน รวมถึงการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ เพื่อสร้างการรับรู้เชิงพื้นที่ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด โดยเฉพาะการบูรณาการการบริหารจัดการภัยพิบัติที่ช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ณ วันที่ 4 ก.ย. 64 พบว่า อ่างเก็บน้ำลำตะคองมีปริมาณน้ำ 213 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68 อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงมีปริมาณน้ำ 100 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 อ่างเก็บน้ำมูลบนมีปริมาณน้ำ 99 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 และอ่างเก็บน้ำลำแซะมีปริมาณน้ำ 164 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ซึ่งจากการคาดการณ์ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 64 จะมีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง และเขื่อนมูลบน จ.นครราชสีมา
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.นครราชสีมา พบว่า ทางจังหวัดได้มีแผนรับมือรองรับสถานการณ์ โดยตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรณีอุทกภัย ซึ่ง กอนช.จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการคาดการณ์แนวโน้มปริมาณฝน น้ำในแหล่งน้ำ ผ่านศูนย์ข้อมูลทรัพยากรน้ำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นชุดข้อมูลให้หน่วยงานในพื้นที่ใช้ในการตัดสินใจในการวางแผนจัดการมวลน้ำก่อนเกิดผลกระทบ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตาม 10 มาตรการอย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะเขื่อนที่มีแนวโน้มปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม ขอให้ปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน เพื่อรองรับฤดูฝนนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อน วางแผนนำน้ำไปเก็บกักไว้ในแก้มลิง และลำน้ำธรรมชาติครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ไร่ ประกอบกับเสริมศักยภาพของเขื่อนให้สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูแล้ง ปี 2564/65 ได้ต่อไป ขณะเดียวกัน ได้เน้นย้ำกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในเขื่อนสำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล 2 แห่ง ได้แก่
เขื่อนลำพระเพลิงและเขื่อนลำตะคอง ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 60% ของความจุ และมีแนวโน้มปริมาณน้ำไหลอ่างฯ มากขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ต้องมีการประเมินฝนรวมถึงพายุที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน หากจะมีการพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณฝนที่อาจจะตกลงมาเพิ่มเติมจะต้องแจ้งให้ทางจังหวัดรับทราบล่วงหน้า และมีแผนการระบายน้ำที่กำหนดช่วงเวลาชัดเจนเพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ
ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลผลศึกษาผังน้ำลุ่มน้ำมูล ที่จะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ มาพิจารณาเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจบริหารจัดการน้ำและวางแผนเตรียมการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น อาทิ พื้นที่ลุ่มน้ำ มีลำน้ำ หรือแหล่งน้ำใดเกี่ยวข้องบ้าง พื้นที่ที่มีกฎหมายควบคุมเฉพาะ หรือมีแนวทางการบริหารจัดการน้ำเฉพาะพื้นที่
เช่น พื้นที่ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ชลประทาน อยู่บริเวณใดบ้าง เพื่อป้องกันการรุกล้ำพื้นที่ รวมถึงคาดการณ์พื้นที่น้ำท่วม โอกาสน้ำล้นตลิ่งได้ โดยใช้แผนที่พื้นที่น้ำท่วมที่จะเกิดในรอบปีต่างๆ ที่หน่วยงานสามารถวางแผนจัดลำดับการช่วยเหลือได้ โดยอาจให้ความสำคัญในพื้นที่ที่มีความลึกน้ำท่วมสูงก่อน รวมถึงวางแผนบรรเทาปัญหาอุทกภัยเพิ่มเติม เช่น การขุดลอกลำน้ำ หรือปรับปรุงสิ่งกีดขวางลำน้ำ หรือแม้กระทั่งใช้ข้อมูลศักยภาพแหล่งน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำหลากและน้ำแล้ง ให้สอดคล้องกัน ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพน้ำที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำ เป็นต้น