13 ส.ค. 63 เวลา 13.45 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับปฏิบัติหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
โดยทรงมีพระราชกระแสให้กำลังใจแก่คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติและประชาชนโดยรวม ให้ทุกคนมีความสุข มีความพึงพอใจ
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ยังมีความซาบซึ้งในพระมหาการุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พร้อมน้อมนำพระราโชบายมาเป็นแนวปฏิบัติในการทำงานอย่างเคร่งครัดและเต็มขีดความสามารถ
นายกรัฐมนตรียังได้เปิดเผยถึงกระแสรับสั่งผ่านพระราชเลขานุการส่วนพระองค์ว่า ทรงกังวลในเรื่องสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงพัฒนาการกักเก็บน้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการบึงเก็บน้ำต่าง ๆ อาทิ บึงสีไฟ บึงบอระเพ็ด ที่มีปัญหาการทิ้งดินจำนวนมากภายหลังการขุดลอก
ซึ่งตนเองได้แนะแนวทางแก้ไขปัญหาการทิ้งดิน โดยอาจนำมาสร้างเป็นภูเขาขนาดเล็ก เพื่อเป็นการปรับภูมิทัศน์หรืออาจไปทำเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มเติม
รัฐบาลพร้อมรับสนองพระราโชบายแก้ไขปัญหาคูคลองในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการสัญจรทางน้ำของประชาชน ขยะในน้ำ ที่อยู่อาศัยริมคลอง ซึ่งมีความคืบหน้าในการดำเนินงานแล้วส่วนหนึ่ง เช่น แฟลตดินแดง คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร
รวมทั้งการแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียงและทางน้ำของคลองแสนแสบ ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการและต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เนื่องจากคลองแสนแสบประกอบด้วยคลองระบายน้ำเสียจำนวนมากถึง 101 คลอง จึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นทาง เริ่มจากความร่วมมือจากประชาชนหลีกเลี่ยงการทิ้งขยะลงคลอง งดการปล่อยน้ำเสีย
โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ นายกรัฐมนตรีเผยว่า นอกจากกล่าวต้อนรับรัฐมนตรีใหม่แล้ว ยังมอบนโยบายของรัฐบาลในปีที่ 2 และนโยบายทั่วไปของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมุ่งเน้นการทำงานที่สอดประสานกับยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ 1 คือ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 – 2565
ซึ่งแต่ละกระทรวงมีแผนแม่บทเพื่อให้ตอบสนองต่อเป้าหมายการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดแผนการโครงงาน การใช้จ่ายเพื่อให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่ สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร รวมถึงฝ่ายตุลาการจะต้องทำงานร่วมกัน เพราะการดำเนินงานหลายอย่างต้องเป็นไปตามข้อกฎหมาย ขณะนี้ มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องเร่งพิจารณาแก้ไขในที่ประชุมรัฐสภา