จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์ของโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคไข้ฉี่หนู ในปี 2563 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 501 ราย เสียชีวิต 6 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ระนอง ยะลา พังงา ศรีสะเกษ และสตูล ตามลำดับ ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคใต้ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ตามลำดับ
และกลุ่มอายุที่พบมากอยู่ระหว่างอายุ 45–54 ปี รองลงมาคืออายุ 35-44 ปี และอายุ 55-64 ปี ตามลำดับ โดยอาชีพที่พบส่วนใหญ่คือ อาชีพเกษตรกร ร้อยละ 43.7”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่อาจสัมผัสกับเชื้อโรคมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลทำนา และโรคนี้มักพบผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงฤดูฝนของทุกปี
ประกอบกับหลายพื้นที่มีน้ำท่วมหรือน้ำขัง ประชาชนจึงเสี่ยงที่จะรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ขณะลุยน้ำ แช่ในน้ำนานๆ หรือย่ำดินโคลนหลังน้ำลด โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะพบผู้ป่วยสูงในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ย. ส่วนภาคใต้จะพบผู้ป่วยสูงช่วงเดือนพ.ย.-ม.ค. โรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะหนู
ซึ่งเชื้ออาจปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินที่เปียกชื้น หรือพืชผัก สามารถเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา และจมูก
นอกจากนี้ยังสามารถเข้าทางผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มเนื่องจากแช่น้ำอยู่นาน ซึ่งคนมักติดเชื้อทางอ้อมขณะย่ำดินโคลน หรือแช่น้ำท่วม หรืออาจติดโรคโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อโดยการกินอาหารหรือน้ำ
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ในการป้องกันโรค โดยหลีกเลี่ยงการแช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะสัตว์นำโรค หรือถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ตหรือใช้ถุงมือยาง เช่น การทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด การทำเกษตรกรรมหรือเลี้ยงสัตว์ หลังจากลงไปในแหล่งน้ำหรือย่ำดินโคลนควรรีบทำความสะอาดร่างกาย กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่และใส่ภาชนะมิดชิด ควรล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดก่อนนำมารับประทาน
และควรควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน และแหล่งท่องเที่ยว สำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงแช่น้ำ ย่ำดินโคลน หรือบุคคลทั่วไป หากพบว่ามีอาการป่วยด้วยไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422