‘โรคไตวาย’ อาจไม่ใช่โรคที่ฟังแล้วชวนให้นึกถึงสถานการณ์สุดเลวร้ายเท่าโรคมะเร็งหรือเอดส์ แต่สิ่งที่ตามติดมากับโรคไต กลับเป็นสถานการณ์สุดยุ่งยากชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะนอกจากผู้ป่วยจะต้องดูแลด้านอาหารการกินเคร่งครัดกว่าปกติเป็นสิบเท่าแล้ว อีกหนึ่งกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำเป็นประจำคือ ‘การล้างไต’ ที่นอกจากจะเสียเวลาในแต่ละวันไปกว่าครึ่งแล้ว บางรายอาจต้องไหว้วานญาติสนิทมิตรสหายไปโรงพยาบาลด้วย เปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตเข้า-ออก ประมาณ 4 ครั้ง/วัน เรียกได้ว่ากิจกรรมทุกอย่างที่เคยวางไว้ในแต่ละวัน ก็เป็นต้องพับไปเมื่อเจอกับสถานการณ์สุดยุ่งยากเช่นนี้แล
แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะต้องขอบคุณความก้าวหน้าทางการแพทย์ ที่ได้สร้าง ‘เครื่องล้างไต’ ออกมาให้ใช้กันแล้ว ส่วนวิธีการก็แสนง่าย เพียงต่อท่อเข้ากับเครื่องตอนก่อนนอน แล้วตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ ข่าวดีคือเทคโนโลยีนี้ช่วยจัดการปัญหาการล้างไต ที่เข้ามารบกวนชีวิตของคุณได้แบบหมดจด ส่วนข่าวร้ายคือ เครื่องล้างไตมีค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000 บาท/เดือน และซ้ำร้ายคือ มันไม่รองรับสิทธิบัตรทอง ทำให้ปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยโรคไตที่เข้าถึงการรักษาโดย ‘เครื่องล้างไต’ เพียง 1%เท่านั้น
แน่นอนว่าผู้ป่วยโรคไตอีก 99% คือตัวเลขที่ต้องใช้เวลาครึ่งวันไปกับการล้างไตด้วยตัวเองต่อไป แต่เราอาจมีข่าวดี (ที่ไม่มีข่าวร้ายแทรก) อยู่ก็ได้ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มแพทย์โรคไตแห่งโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ส่งผลงานเข้าประกวดบนเวที ‘Smart Health Idea Pitching’ ในงาน ‘MAHIDOL R-I-SE NOW’ พร้อมนำเสนออุปกรณ์ต้นแบบที่จะเข้ามาแทนที่เครื่องล้างไต ในชื่อผลงาน ‘อุปกรณ์ฟอกไตอัตโนมัติ’ ที่ผู้ป่วยสามารถใช้งานเองได้ที่บ้านและหาซื้อได้ในราคาย่อมเยา
‘อุปกรณ์ฟอกไตอัตโนมัติ’ เป็นไอเดียของทีม ‘NAP-ESRD’ ที่เริ่มต้นการ pitching บนเวทีพร้อมๆ กับกระเป๋าเดินทางหนึ่งใบ ซึ่งเมื่อดึงสายลากของกระเป๋าเดินทางขึ้น เราจะเห็นถุงบรรจุน้ำยาล้างไตแขวนอยู่กับสาย Connector Unit พร้อมท่อต่อที่เชื่อมกับร่างกายผู้ป่วย ซึ่ง พญ.ชโลธร แต้ศิลปสาธิต หนึ่งในสมาชิกทีม ‘NAP-ESRD’ ได้เล่าถึงกระบวนการทำงานของเครื่องฟอกไตอัตโนมัติว่า
“เครื่องฟอกไตอัตโนมัติจะทำงานคล้าย ‘เครื่องล้างไต’ โดยหลังจากเชื่อมต่อท่อส่งน้ำยาเข้ากับร่างกายผู้ป่วยแล้ว ผู้ป่วยสามารถตั้งค่าระยะเวลาการถ่ายน้ำยาที่ CONTROLLER ได้เลย จากนั้นเมื่อเริ่มต้นการทำงาน น้ำยาจะส่งผ่าน Heat Control เพื่อลดความเย็นก่อนเข้าสู่ร่างกาย และเมื่อน้ำยาไหลเข้าร่างกายผ่านสาย input จนเต็ม เซ็นเซอร์จะทำงานหยุดการไหลของน้ำยา รอจนน้ำยาทำการฟอกของเสียในร่างกายระยะเวลาหนึ่ง เซ็นเซอร์ก็จะทำงานอีกครั้ง เพื่อดูด (Drain) น้ำยาออกจากร่างกายผ่านสายoutput พร้อมส่งต่อน้ำยาที่ใช้งานแล้วไปไว้ใน CONTAINER เพื่อรอระบายทิ้ง ซึ่งเซ็นเซอร์จะใช้เวลาทำงานคืนละประมาณ 4-5 รอบคล้ายกับเครื่องล้างไต แต่แตกต่างกันตรงที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ 100% นั่นเอง”
แม้ ‘อุปกรณ์ฟอกไตอัตโนมัติ’ จะเผยโฉมครั้งแรกบนเวที Idea Pitching แต่คุณหมอชโลธร ได้เล่าว่า แนวคิดนี้ได้ตั้งทีมพัฒนาขึ้นมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งตอนนี้ ‘เครื่องต้นแบบ’ กำลังรอผลการทดสอบจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ถึงการตรวจสอบ toxicity ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งหากผ่านผลการทดสอบเมื่อไร ‘อุปกรณ์ฟอกไตอัตโนมัติ’ อาจเป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการโรคไตอย่างสิ้นเชิง และที่สำคัญที่สุด กระเป๋าเดินทางใบนี้ อาจพาผู้ป่วยโรคไตได้เดินทางสู่ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งเมื่อถึงช่วงเวลานั้นเมื่อไร กิจวัตรประจำวันอย่าง ‘การล้างไต’ ก็คงเป็นเพียงอดีตที่ห่างไกลเท่านั้น…
สมาชิกทีม New Era of Automated Peritoneal Dialysis for End Stage Renal Disease patients in Thailand (NAP-ESRD) ผู้คิดค้นและพัฒนา ‘อุปกรณ์ฟอกไตอัตโนมัติ’
- นพ.อาคม นงนุช (หัวหน้าทีม)
- นพ.สุชาย ศรีทิพยวรรณ
- พญ.ชโลธร แต้ศิลปสาธิต
- นางสาวณภัสนันท์ กุมภีพงษ์
- นายกะรัต ธนะบุญกอง