บ่ายวันนี้ (13 เมษายน 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยความคืบหน้าการบริหารจัดการเตียงรองรับการรักษาโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพ มหานคร และปริมณฑลว่า รัฐบาลได้ทุ่มสรรพกำลังในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ด้านการรักษาพยาบาล ทำให้วันนี้เริ่มเห็นตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งความร่วมมือของทุกภาคส่วนในภารกิจด้านการรักษาและดูแลผู้ป่วย การวางแผนบริหารจัดการโรงพยาบาล และ Hospitel ทำให้ผู้ป่วยรักษาหายแล้วถึง 1,288 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จร่วมกันในการเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้
ข้อมูล ณ วันที่ 13 เมษายน 2563 ได้บูรณาการความร่วมมือจัดสรรเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วยรวม 2,701 เตียง ดังนี้
1.เตียงในหอผู้ป่วย จำนวน 1,978 เตียง อยู่ในภาครัฐ 930 เตียง (โรงเรียนแพทย์ เหล่าทัพ ตำรวจ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข) และภาคเอกชนอีก 1,048 เตียง
2.เตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) จำนวน 120 เตียง เป็นของรัฐ 65 เตียง เอกชน 55 เตียง
ทั้งนี้ คาดว่าปลายเดือนเมษายนจะขยายเพิ่มเป็น 187 เตียง และ 292 เตียงในเดือนพฤษภาคม
3.Hospitel จำนวน 603 เตียง รองรับผู้ป่วยรอจำหน่ายที่มีอาการดีขึ้น เป็นโรงแรม 2 แห่ง และหอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 แห่ง
สำหรับเครื่องช่วยหายใจได้จัดเตรียมชนิดขีดความสามารถสูงสุด ที่ประมวลผลการเปลี่ยนแปลงผู้ป่วยวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ สนับสนุนการทำงานของแพทย์ เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ปอดติดเชื้ออย่างรุนแรง มีเพียงพออย่างน้อย 2 เท่าของเตียงไอซียู ที่กำลังจัดเตรียมไว้ 400 เตียงทั่วประเทศ มีอีกประมาณ 100 ในภาคเอกชนมีอีก และมีแผนจัดหาเพิ่มเติมอีกประมาณ 100 เครื่อง มั่นใจว่ามีทั้งเตียงและเครื่องช่วยหายใจรองรับเพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ณ สถานการณ์ขณะนี้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีไอซียูรวมทั้งหมดประมาณ 6,000 เตียง และมีเครื่องช่วยหายใจที่สามารถใช้ในห้องไอซียู ประมาณ 10,000 เครื่อง แบ่งเป็นชนิดมีศักยภาพสูงสุดช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของแพทย์ ใช้งานในระดับวิกฤตสูงสุด 4,000 เครื่อง และกลุ่มขีดความสามารถสูง มีความซับซ้อนขึ้น มีระบบการวัดผลมากขึ้นแสดงผลใช้งานหลากหลายอีกประมาณ 6,000 เครื่อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การอนามัยโลกและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลของเครื่องช่วยหายใจรุ่น PB560 ของบริษัท Puritan Bennett – Covident (ขีดความสามารถระหว่างกลุ่มที่ 2 และ 3 ใช้ในICUได้) โดยให้ถอดแบบและนำไปผลิตโดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์ ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังร่วมมือกันทำงานชิ้นสำคัญชิ้นนี้อยู่ คาดว่าในอีก 1 ปีข้างหน้าจะสามารถใช้งานได้