เปลว สีเงิน
“สมศักดิ์ เทพสุทิน”
รัฐมนตรีสาธารณสุขในฐานะ “สภานายกพิเศษ” แพทยสภา
ไม่ทำให้ “ทักษิณ” ต้องผิดหวังจริงๆ ด้วย!
กรณี “ป่วยทิพย์” ชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตำรวจ แพทยสภาสอบสวนแล้ว พบว่า “ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์” ที่ชัดเจนว่ามี “ภาวะวิกฤต” เกิดขึ้น
“แพทยสภา” จึงมีมติ “ลงโทษ” ๓ แพทย์
คนที่ ๑.พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตร.ถูกลงโทษ “พักใช้ใบอนุญาต” ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
คนที่ ๒ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ อดีตนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตร. (ปัจจุบันได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผบ.ตร.)
ถูก “พักใช้ใบอนุญาต” ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
คนที่ ๓.พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ รพ.ราชทัณฑ์ ถูกลงโทษ ว่ากล่าวตักเตือน กรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้มาตรฐาน
“ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” อุปนายกแพทยสภาคนที่ ๑ ให้เหตุผลถึงการลงโทษนั้นว่า
สำหรับแพทย์ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือน เพราะเป็นความผิดที่ไม่ได้รุนแรง เนื่องจากเกี่ยวกับเรื่องการออกใบส่งตัว
ส่วนอีก ๒ ท่าน เป็นเรื่องการให้ข้อมูลเอกสารทางการแพทย์ไม่ตรงกับความเป็นจริง ถึงมีมติให้พักใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม
เมื่อ “มติแพทยสภา” นั้น …..
ส่งให้นายสมศักดิ์ “สภานายกพิเศษ” แพทยสภา พิจารณาว่าจะ “เห็นชอบ” ตามมตินั้น หรือจะยับยั้งมตินั้น
ผลก็ออกมาแล้ว……….
นายสมศักดิ์ ในฐานะ “สภานายกพิเศษ” ยับยั้งหรือวีโตมติแพทยสภานั้น ชนิด มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีกิน มีใช้ รวยไปพร้อมๆ กันตามคาด!
ชาวบ้านร้านตลาดก็อยากรู้ว่า นายสมศักดิ์อ้างเหตุผลอะไรในการยับยั้งมติแพทยสภา?
“สำนักข่าวอิศรา” มาตรฐานข่าวเชื่อถือได้แห่งยุค เขาได้รับการยืนยันข้อมูลว่า….
หนังสือของนายสมศักดิ์ที่แจ้งต่อแพทยสภา แสดงความเห็นเกี่ยวกับมติคณะกรรมการแพทยสภา ต่อแพทย์ ๔ ราย
คือ ๑ ราย ที่ถูกยกคำร้อง อีก ๓ ราย ที่ถูกลงโทษตักเตือน กับพักใช้ใบอนุญาต
“นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข” คือรายที่แพทยสภาลงมติให้ยกข้อกล่าวหานั้น นายสมศักดิ์ เห็นชอบด้วย
ส่วน แพทย์หญิง รวมทิพย์ สุภานันท์, พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ และ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ ที่ถูกลงโทษนั้น
นายสมศักดิ์ เห็นควร “ให้ยับยั้งมติลงโทษ”!!!
ในราย “พล.ต.ท.นพ.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์” นายสมศักดิ์ ประทับทรงวิญญานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเลกเชอร์ไปไกล
ขออนุญาตตัดเอาตอนที่เขาสรุปลงท้าย มีใจความว่า
“………เมื่อได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากการสอบสวน พร้อมทั้งความเห็นและเหตุผลในแต่ละฝ่ายแล้ว
เห็นพ้องด้วยกับการรับฟังพยานหลักฐานและการวินิจฉัยตามแนวความเห็นที่หนึ่ง ว่า
ใบความเห็นแพทย์ดังกล่าวมีข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ข้อความในส่วนความเห็นแพทย์ของผู้ถูกฟ้องดังกล่าว ไม่ได้ผิดมาตรฐานหรือให้ความเท็จแต่ประการใด
“แต่เป็นการให้ความเห็นในการใส่ใจดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดและอยู่ระหว่างการรอตัดไหม ซึ่งมีโรคเดิมหลายโรคและเป็นความเห็นตามปกติที่สัญญาแพทย์ทั่วไปที่รับผิดชอบติดตามดูแลคนไข้ของตนในโรงพยาบาลทั่วไปให้เสร็จสิ้นกระบวนการผ่าตัดรักษาจะให้ความเห็นแบบนี้ได้อยู่แล้ว”
“การกระทำของผู้ถูกร้องยังไม่ถือว่าเป็นความผิดจริยธรรมตามที่ถูกกล่าวหา จึงเห็นควรยับยั้งมติลงโทษ”
การจับแพะชนแกะลงท้ายเป็นไก่ปี้เป็ดอย่างนี้ได้ ต้องบอกว่านับถือ..นับถือ ต้องมอบดุษฎีมหาบัณฑิตแพทยศาสตร์ยกให้เป็น “คุณหมอสมศักดิ์” กันเลยเชียว
สรุปว่า รัฐมนตรีสมศักดิ์ “วีโต” มติแพทยสภา
ก็ต้องส่งเรื่องกลับคณะกรรมการแพทยสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งตามพรบ.วิชาชีพเวชกรรม ๒๕๒๕ มาตรา ๒๕ บอกว่า
“ถ้าสภานายกพิเศษยับยั้งมติใด ให้คณะกรรมการประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ในการประชุมนั้น ถ้ามีเสียงยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ก็ให้ดำเนินการตามมตินั้นได้”
“กรรมการทั้งคณะมี ๗๐ ท่าน ประกอบด้วย “คณะกรรมการแพทยสภา” โดยตำแหน่ง ๓๕ ท่าน และโดย “”เลือกตั้ง” ๓๕ ท่าน
๒ ใน ๒ ของกรรมการทั้งคณะ ก็เท่ากับ ๔๗ เสียงขึ้นไป!
นั่นคือ ถ้าแพทยสภายืนยันมติเดิมได้ ก็ต้องมีเสียงสนับสนุน ๔๗ เสียงขึ้นไป
ถ้าได้ต่ำกว่า ๔๗ เสียง การยับยั้งมติของสมศักดิ์ก็มีผล
ลงโทษ ๓ หมอนั้นไม่ได้!
ทีนี้ มาสำรวจคณะกรรมการแพทยสภาทั้งโดยตำแหน่งและจากเลือกตั้ง แล้วประเมินดู “อสูร” จะชนะ “เทพ” หรือ “เทพ” จะพิชิต “อสูร”?
คณะกรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่ง ๓๕ ท่าน
“นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข เป็น “สภานายกพิเศษ” แพทยสภา
๑.นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
๒.นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์
๓.พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย
๔.พล.ท.ศ.คลินิก นพ.เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก
๕.พล.ร.ท.นพ.ประทีป ตังติสานนท์ เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ
๖.พล.อ.ท.นพ.ชวลิต ดังโกสินทร์ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ
๗.พล.ต.ท.นพ.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ สนง.ตำรวจแห่งชาติ
๘.ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดี แพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
๙.รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑๐.รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต คณบดี แพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
๑๑.ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดี แพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
๑๒.รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มทรเวส คณบดี แพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น
๑๓.ผศ.นพ.กิตติพงษ์ เรียบร้อย คณบดี แพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
๑๔.พล.ต.ผศ.ดร.นพ.สุขไชย สาทถาพร ผอ.วิทยาลัยแพทยศาสตร์ พระมงกุฎเกล้า
๑๕.ผศ.พญ.นันทนา ชุมช่วย คณบดี แพทยศาสตร์ มศว.
๑๖.รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ คณบดี แพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
๑๗.ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดี แพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล
๑๘.ผศ.พญ.พิริยา นฤขัตรพิชัย คณบดี แพทยศาสตร์ ม.นเรศวร
๑๙.ศ.คลินิก นพ.เจษฎา โชคบำรุงสุข อธิการบดี วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ม.รังสิต
๒๐.รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี
๒๑.ศ.นพ.สงวนสิน รัตนเลิศ คณบดี วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลราชธานี
๒๒.ผศ.นพ.เทพลักษ์ ศิริธนะวุฒิชัย คณบดี แพทยศาสตร์ ม.มหาสารคาม
๒๓.ผศ.นพ.ทวีลาภ ตั๊นสวัสดิ์ คณบดี แพทยศาสตร์ ม.บูรพา
๒๔.รศ.ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ คณบดี สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
๒๕.ผศ.ดร.สุพัฒน์ ศรีสวัสดิ์ คณบดี วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ม.นราธิวาส
๒๖.นศ.นพ.สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี คณบดี แพทยศาสตร์ ม.พะเยา
๒๗.ศ.คลินิก นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ คณบดี แพทยศาสตร์ ม.สยาม
๒๘.รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ คณบดี สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.แม่ฟ้าหลวง
๒๙.ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดี แพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
๓๐.ผศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล คณบดี วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
๓๑.ศ.เกียรติคุณ นพ.สารเนตร์ ไวคกุล คณบดี แพทยศาสตร์ ม.กรุงเทพธนบุรี
๓๒.รศ.นพ.นิยม ละออปักษิณ คณบดี แพทยศาสตร์ ม.เวสเทิร์น
๓๓.ศ.ดร.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก
๓๔.รศ.พล.อ.นพ.ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
๓๕.ผศ.นพ.พีระพงค์ กิติภาวงศ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ ม.ธรรมศาสตร์
ฝ่ายคณะกรรมการจากเลือกตั้ง ๓๕ ท่าน มีดังนี้
๑. ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ๒. ศ.นพ.อำนาจ กุสลานันท์ ๓. พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ
๔. ศ.เกียรติคุณ.นพ.อมร ลีลารัศมี ๕. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
๖. ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ๗. พญ.ชัญวลี ศรีสุโข ๘. พญ.นิจศรี ชาญณรงค์
๙. รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ๑๐. นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา ๑๑. ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร ๑๒. รศ.นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ ๑๓. นพ.พินิจ หิรัญโชติ ๑๔. ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์
๑๕. นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ๑๖. รศ.นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ ๑๗. ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ ๑๘. นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ๑๙. รศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ๒๐. รศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ
๒๑. ศ.เกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ๒๒. รศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง ๒๓. ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ๒๔. นพ.สุรจิต สุนทรธรรม ๒๕. รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ
๒๖. ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ๒๗. รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ๒๘. นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ ๒๙. นพ.กรพรหม แสงอร่าม
๓๐. ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช
๓๑. ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ๓๒. รศ.นพ.ภาคภูมิ สุปิยพันธุ์ ๓๓. รศ.นพ.อดิศักดิ์ ตันติวรวิทย์ ๓๔. รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ๓๕.รศ.นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล
หัวใจ “แพ้-ชนะ” ของเกมนี้ อยู่ที่จำนวนเสียง ๒ ใน ๓ ตรงนี้ต้องเข้าใจกันให้ชัด มาตรา ๒๕ ระบุเลยว่า ๒ ใน ๓ ของ “จำนวนคณะกรรมการทั้งคณะ”
หมายถึงว่า จะมาประชุมกันกี่คนก็ช่าง สมมติมา ๓๖ คน “ครบองค์ประชุม” แต่ไม่ถึง ๗๐ คน ก็ได้
แต่ มติ ๒ ใน ๓ ก็ต้องจากจำนวนกรรมการทั้งคณะ คือ ๗๐ คนอยู่ดี ฉะนั้น ตัดสินแพ้-ชนะกันที่ ๔๗ ขึ้น กับต่ำกว่า ๔๗
ทุกคนบอก..สบาย!
แต่สมศักดิ์นี่…เทพสุทิน “รัฐมนตรีตลอดกาล” นะ ไม่ใช่สมศักดิ์-เจียม ที่ความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด
ฉะนั้น เมื่อสมศักดิ์วีโต แสดงว่าเขามีแผน เพราะกรรมการโดยตำแหน่ง ล้วนหมอในกำกับกระทรวงสาธารณสุขแทบทั้งนั้น!
และมั่นใจได้แค่ไหนว่า ในจำนวนกรรมการเลือกตั้งทั้ง ๓๕ คน จะมาประชุมกันครบ และทั้ง ๓๕ คนนั้น ไม่มี “แอบจิต” เลย!?
สมมติ วันประชุม กรรมการมาประชุมกันแค่ครบองค์ แต่ไม่ถึง ๔๗ คน อะไรจะเกิดขึ้น?!
แพทยสภา “แพ้” ประชาชนก็แพ้!
สำนักข่าว “โดเมอึ” รายงานว่า มีการล็อบบี้กรรมการ ทั้งโดยตำแหน่งและทั้งจากเลือกตั้งให้ “ไม่ต้องไปประชุม” ด้วยเงื่อนไขเย้ายวน
ก่อนถึง ๑๒-๑๓ มิถุนา.นี้ ระหว่าง “เทพ” กับ “อสูร” ลองพลังกัน มันสนุก เร้าใจ จริงๆ น่าสนใจกว่าเรื่อง “เขมรกวนโอ๊ย” เยอะ
เพราะนั่น มันเป็นเรื่อง “คนในครอบครัว” ที่เขาเป็นดองกันระหว่าง “ตระกูลฮุน” กับ “ตระกูลชิน”
เผลอๆ เป็นฉากสร้างกระแสเบี่ยงที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังเพลี่ยงพล้ำก็เป็นได้ สื่อทั้งหลายจะได้เฮกันไปทางนั้นแทน
ขออนุญาตไปขุด “คูเลต” ซัก ๓-๔ วัน ได้เรื่องว่าไง แล้วจะมารายงานนะ!
เปลว สีเงิน
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๘
