13 พฤษภาคม 2568 ณ ศูนย์อำนวยการฯ อาคารเจเจมอลล์ เขตจตุจักร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว และปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร กรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหว อย่างเป็นทางการ
นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ฯ กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพวกเราทุกคนที่ในหลวง – พระราชินี ทรงห่วงใย ทรงมีพระเมตตา และเป็นเบื้องหลังของการปฏิบัติภารกิจที่สำคัญในครั้งนี้ อีกทั้งยังทรงใส่ใจในผู้ปฏิบัติงานทุกคน ทั้งในเรื่องของความเป็นอยู่ เรื่องอาหารการกิน โรงครัวพระราชทานที่จัดตั้งอยู่ตั้งแต่วันแรก จนถึงปัจจุบันทำให้พวกเราทุกคน มีขวัญ และกําลังใจ พวกเรารู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ และในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ขอปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ สำนักงานเขตจตุจักร กรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหว อย่างเป็นทางการ โดยให้มีผลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 เวลา 16.00 น. เพื่อขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ต่างๆออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันว่า ระหว่างวันที่ 13 – 15 พฤษภาคม 2568 จะมีการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ เครื่องจักรหนักออกจากพื้นที่อาจจะไม่สะดวกในการสัญจรไปมา ขอให้ใช้ความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงเส้นทางในวันและเวลาดังกล่าว
จากนั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจกู้ซากตึกถล่มแล้ว แต่ทางกรุงเทพมหานครยังคงพร้อมสำหรับการอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นห้องสุขาเคลื่อนที่ เครื่องสูบน้ำ ดูแลความสะอาดในพื้นที่ ทั้งนี้ทางกรุงเทพมหานครได้ส่งหนังสือไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเรื่องการปิดศูนย์ และการดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือหน่วยงานราชการ หนังสือชุดแรกออกไปเรียบร้อย
ทางด้าน รศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพหานคร กล่าวว่า ในส่วนของค่าใช้จ่ายในแง่ของการช่วยเหลือประชาชนที่มีการมาร้องขอการช่วยเหลือ ทั้ง 50 เขต เราปิดรับเรื่องไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 68 โดยส่วนใหญ่กว่า 40,000 เคส เป็นเรื่องการขอค่าวัสดุซ่อมแซมบ้าน ส่วนที่เหลือน้อยมากเป็นเรื่องอื่นๆ ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 176 ล้านบาท ส่วนยอดการใช้น้ำมันในพื้นที่ที่ประสบภัย ต่ำสุดอยู่ที่กว่า 3,000 ลิตร สูงสุดกว่า 6,000 ลิตร เพราะฉะนั้นโดยเฉลี่ยแล้ว ค่าน้ำมันเครื่องยนต์และเครน อยู่ที่ประมาณ 200,000 บาทต่อวัน
นอกจากนี้ ยังมีรถบรรทุกที่เราใช้ขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้น้ำมัน เช่น ระบบไฮดรอลิก หรือแม้แต่กระทั่งเครื่องปั่นไฟ เครื่องมือที่ใช้ตัดเหล็ก อาจจะยังคํานวณไม่ได้ แต่ว่าก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ยังไม่นับรวมว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ของคนที่มาช่วยทั้งหมด เช่น ค่าเสียเวลา ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ อะไหล่ต่างๆ ทั้งนี้ รายการซ่อมมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มีบันทึกการซ่อมทุกวันว่าเครื่องยนต์ที่เราใช้เป็นอย่างไรบ้าง ส่วนในเรื่องการขยายการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลในหมวดของการให้ความช่วยเหลือประชาชน กทม. ทำเรื่องปรึกษากรมบัญชีกลางไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการที่อุดหนุนค่าน้ำมัน ซึ่งแม้ว่าทางบริษัทอิตาเลียน-ไทยจะอุดหนุนค่าน้ำมันมาตลอดระยะเวลา 48 วัน แต่จะมีช่วงแรกที่อาจมีอาสาสมัครที่ได้จัดการด้วยตัวเองทั้งในแง่ของการซ่อมและในแง่ของน้ำมัน และอยู่ระหว่างทำเรื่องขอขยายความช่วยเหลือเรื่องนี้ อีกส่วนคือเรื่องของการปฏิบัติงาน โดยในส่วนของข้าราชการนั้นทุกคนต้องปฏิบัติงานอยู่แล้วตามหน้าที่ แต่ในส่วนของเอกชนหรือแม้แต่อาสาสมัครที่มาช่วย ทางหน่วยงานเขาเป็นคนจ้างมาแล้วก็มาทำงานอยู่กับเรา เพราะฉะนั้นต้องทำเรื่องขอขยายวัตถุประสงค์การใช้เงินช่วยเหลืออุดหนุนค่าจ้างของอาสาสมัคร ซึ่งถึงแม้ว่าจะมาด้วยความตั้งใจตั้งแต่แรกก็ตาม แต่ว่าระยะเวลาเกือบ 50 วัน เป็นระยะเวลาที่นานมากกับการที่เขาก็ต้องหยุดทำงาน อีกส่วนหนึ่งคือการที่เราปิดถนนหลายวันทำให้การค้าขายย่านนี้ก็กระทบไปด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ขอขยายวัตถุประสงค์เงินชดเชยส่วนนี้ไปที่คณะรัฐมนตรีของกรมบัญชีกลางด้วย จากเดิมเคยอนุมัติอยู่ที่ 200 ล้านบาท ซึ่งยังต้องใช้อีก 176 ล้านบาท สำหรับการช่วยเหลือประชาชนในค่าวัสดุซ่อมบ้าน ค่าใช้จ่ายหน้างาน ซึ่งก็เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันคาดว่ากว่า 10 ล้านบาท เพราะฉะนั้นก็จะประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายทั้งหมดขึ้นไปด้วย
ทางด้าน นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.) แจ้งว่า ในส่วนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ จะเริ่มดำเนินการถอนกําลัง ในวันนี้ (13 พ.ค. 68) ซึ่งเครื่องจักรจะทยอยเคลื่อนย้ายออกโดยต้องใช้รถขนย้าย เช็คข้อมูลทั้งกําลังคนและเครื่องจักรต่างๆ ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว
ทั้งนี้ ทางด้าน พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง แจ้งรายละเอียดการพิสูจน์หลักฐานและการอายัดว่า ส่วนแรก คือ ส่วนของศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่สถาบันนิติเวช ร่วมกับผู้อำนวยการนิติเวชของโรงพยาบาลตำรวจ ในส่วนของโรงพยาบาลตำรวจ ได้ทำการพิสูจน์บุคคลตั้งแต่วันแรกที่ผ่านมา 89 ราย แบ่งออกร่างที่สมบูรณ์ 80 ราย และอีก 9 ราย ที่เป็นชิ้นส่วน ณ ปัจจุบัน มีการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ไปแล้ว 72 ราย ซึ่งตอนนี้ไม่มีศพเข้ามาที่นิติเวช แต่ยังมีการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจากชิ้นส่วนกว่า 200 ชิ้น และวันนี้จะมีการปล่อยศพรวมทั้งหมด 86 ราย และวันนี้ (13 พ.ค. 68) ช่วง 15.00 น. จะมีการปล่อยศพเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีการอายัดแท่งคอนกรีตและเศษวัสดุต่างๆ จากอาคารที่ถล่มและอาคารข้างเคียงอีกจำนวนหนึ่ง โดยจะอายัดจุดอาคารถล่มถึงวันที่ 31 พฤษภาคม และจุดกองปูนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม
ด้าน นางสาวฐิตาพรรณ ฉันทโชติ จากกรมโยธาธิการและผังเมือง แจ้งถึงการเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ สตง.ถล่ม ว่า จะมีการเก็บเพิ่มเติม ที่จะอายัดถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งจะมีชิ้นส่วนอาคารที่ยังคงสภาพจากการรื้อถอนอยู่ ทางกรมฯ พิจารณาแล้วว่า จะขอเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นและคอนกรีตในส่วนเสาและบ่อลิฟท์ที่เหลืออยู่