ผักกาดหอม
ใกล้เข้ามาอีกนิด…
มีความคืบหน้าคดี นักโทษเด็ดขาดคดีคอร์รัปชัน ที่ป่วยวิกฤต เป็นตายเท่ากัน ห่างหมอไม่ได้ ที่ชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตำรวจ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัด “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าฟังคำสั่งในวันที่ ๓๐ เมษายน เวลา ๑๓.๐๐ น.
คดีนี้ยาวนานพอควรครับ เพราะ “ชาญชัย” ร้องไปแล้ว ๒ รอบ ศาลยกคำร้องทั้ง ๒ รอบ
คราวนี้เป็นครั้งที่ ๓ ครับ
รายละเอียดคำร้องตามนี้ครับ….
“…นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขดำที่ อม.๓/๒๕๕๑ หมายเลขแดงที่ อม.๔/๒๕๕๑ ว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๖๒ ขอให้ศาลไต่สวนกรณี กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ไม่จัดการให้เป็นไปตามหมายจำคุกคดีถึงที่สุดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีนายทักษิณ ชินวัตร จำเลยในคดีนี้
ซึ่งศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ๓ ปี คดีหมายเลขดำที่ อม.๑/๒๕๖๑ หมายเลขแดงที่ อม.๑๐/๒๕๕๒ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ๒ ปี และคดีหมายเลขดำที่ อม.๙/๒๕๕๑ หมายเลขแดงที่ อม.๕/๒๕๕๑ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ๕ ปี โดยนับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ และคดีหมายเลขแดงที่ อม.๑๐/๒๕๕๒
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รับตัวจำเลยแล้วส่งตัวจำเลยไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมิใช่เรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุก โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องรักษาโรคใด และขณะที่ส่งตัวจำเลยไปยังโรงพยาบาลตำรวจ
จำเลยยังไม่ได้รับโทษจำคุก ทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๙, ๘๙/๒ (๑) (๒) และมาตรา ๒๔๖ จึงไม่ชอบ และไม่อาจอ้างกฎกระทรวง เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๓ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ เพราะขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งผู้ร้องเคยยื่นคำร้องต่อศาลนี้ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๖ และเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง
ขอให้เพิกถอนคำสั่งเดิม และขอให้รับคำร้องไว้ไต่สวนและมีคำสั่งบังคับโทษจำคุกให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุด…”
มาดูว่า ๒ ครั้งแรกที่ยกคำร้องนั้น ศาลให้เหตุผลว่าอย่างไร
การยกคำร้องครั้งแรกศาลให้เหตุผลว่า “…เมื่อศาลออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว การบังคับโทษและอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่า เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฯ
จึงไม่ต้องไต่สวน!
ให้ยกคำร้อง…”
ครั้งที่ ๒ ศาลมีคำวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีไม่ปรากฏ มีการทุเลาการบังคับโทษ จึงไม่ต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๖ และมาตราอื่นที่ผู้ร้องอ้างมา
จึงไม่ต้องไต่สวน
ให้ยกคำร้อง…”
การร้องในครั้งที่ ๓ “ชาญชัย” มองว่า คำวินิจฉัยของศาลให้ยกคำร้องข้างต้นนั้น เข้าใจได้ว่า อยู่ในอำนาจของศาลที่สามารถวินิจฉัยคดีได้ เพียงแต่ไม่มีการยื่นคำร้องขอทุเลาโทษจากเจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้อง
นำมาสู่การยื่นครั้งใหม่ โดยรวบรวมพยานหลักฐาน และตัวผู้กระทำความผิดให้ครบถ้วน
ครั้งนี้คำสั่งศาลน่าจะแตกต่างออกไป
ครับ…ขมวดปมมาที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ช่วงที่ “ทักษิณ” นอนห้องวีไอพี ชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตำรวจ มีความพยายามอย่างมากจากผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมราชทัณฑ์ หรือกระทรวงยุติธรรม ประสานเสียงว่า การรักษาตัวนอกเรือนจำถือเป็นการรับโทษ
แต่ก็มีข้อกฎหมายแย้งกับข้ออ้างดังกล่าว
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค ๖ การบังคับตามคำพิพากษา และค่าธรรมเนียม ในหมวด ๑ ของการบังคับตามคำพิพากษา มาตรา ๒๔๖ ระบุว่า
“เมื่อจำเลยสามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก ร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้
๑.เมื่อจำเลยวิกลจริต
๒.เมื่อเกรงว่าจำเลยจะอันตรายถึงแก่ชีวิต ถ้าต้องจำคุก
๓.ถ้าจำเลยมีครรภ์
และ ๔.ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น…..”
กรณีของ “ทักษิณ” เข้าข่ายข้อ ๒
อย่าลืมนะครับวันที่ราชทัณฑ์ส่งตัว “ทักษิณ” ไปโรงพยาบาลตำรวจนั้น ข้ออ้างคือ
“…เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตจะมีการส่งตัวรักษาให้ทันท่วงที…”
หากกรมราชทัณฑ์ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา สิ่งแรกที่ต้องทำพร้อมกับการส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจคือ ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่า “ทักษิณ” จะหายป่วย
แต่กลับกลายเป็นว่าสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
กรมราชทัณฑ์ปล่อยให้ “ทักษิณ” รักษาตัวเกินกว่า ๑๒๐ วัน เกินระเบียบการรักษาตัวนอกโรงพยาบาล และให้นับวันการนอนห้องวีไอพี เป็นการรับโทษ
มีคนทำผิดขั้นตอนกฎหมาย
จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ “ทักษิณ” ได้ประโยชน์
๓๐ เมษายน ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น
และจะเป็นบรรทัดฐานว่า นักโทษสามารถเลี่ยงโทษจำคุกได้ ด้วยการไปนอนในห้องวีไอพี.
