สันต์ สะตอแมน
ลำไย ไหทองคำ กับโตโน่ ต่างกันตรงไหน?
เนี่ย..เพื่อนคนหนึ่งเอ่ยถาม ผมเลยตอบ.. “ลำไยเป็นผู้หญิง โตโน่เป็นผู้ชาย” เพื่อนมองหน้า.. “เออ ถูก”!
“เอ้า..ห่า มรึงจะถามทำไม กรูก็แค่ตอบกวนๆ ไปอย่างนั้นเอง” ผมว่า เพื่อนยิ้มพลางพูด..
“ก็เพราะลำไยเป็นผู้หญิง เธอจึงไม่ได้ถูกตำหนิด่าว่าอะไรกับเรื่องราวการนอกใจแฟน ผิดกับกับโตโน่ที่เป็นผู้ชาย พฤติกรรมนอกใจแฟนเหมือนกัน
ตอนนี้ทั้งแฟนและไม่ใช่แฟนคลับต่างรุมสวด รุมด่า รุมประณามเสียแทบต้องมุดรูหนี”
“อ๋อ มรึงกำลังจะสื่อว่าน่าสงสารโตโน่อย่างงั้นสินะ” ผมถาม.. “เปล่าๆ” เพื่อนรีบปฏิเสธและว่า..
“ก็แค่ตั้งข้อสังเกตและสงสัยว่า ทำไมทีผู้หญิงนอกใจแฟน ทั้งแฟนเพลง ทั้งสื่อไม่ค่อยเหยียบย่ำซ้ำเติม ทั้งๆ ที่ก็ผิดศีลกาเมฯ ข้อเดียวกัน”
เพื่อนที่นั่งร่วมโต๊ะพูดแทรก “มรึงไม่ต้องสงสัยอะไรไป ผู้หญิงน่ะยังไงๆ ก็น่าสงสาร ดูอย่างนายกฯ สิ พูดผิดๆ ถูกๆ หรือเฉิ่มเชยแค่ไหน คนก็สงสาร บางคนยังว่าน่าร้ากกกเลย”
“เฮ้ย..พอๆ” ผมรีบตัดบท จบการสนทนาเชิงนินทาบนโต๊ะข้าวเอาไว้เพียงเท่านี้ ก่อนที่จะลามไปถึงพ่อนายกฯ!
ครับ..วันนี้มาว่ากันต่อเรื่อง หนัง AI กับรางวัลเสียให้จบ ด้วยเหตุที่ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านการสร้างภาพเคลื่อนไหวของ AI
ซึ่งนับวันจะใกล้เคียงภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มหรือบันทึกด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลเข้าไปทุกที ทำให้มีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่า อีกไม่ช้านานนี้..
หนังที่ AI ทำ กับที่มนุษย์ทำ มันจะดูกันไม่ออกว่าแตกต่างกันตรงไหน จึงเกิดคำถามว่า แล้วหนัง AI จะมีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์มั้ย?
เพราะตอน “หนังสตรีมมิง” ก็เคยมีความเห็นต่อต้านกันหนักทีเดียว แต่สุดท้ายหนังสตรีมมิงก็เข้าชิงออสการ์ได้ แล้วหนัง AI ล่ะจะเอาไง?
เอาไง..เรื่องแบบนี้เห็นต้องฟังความเห็นของคนทำหนังไทย อย่ากระนั้นเลย ผมกดปุ่มมือถือหาผู้กำกับรุ่นเก๋า คุณมานพ อุดมเดช ขอความเห็น..
“ก็จริง ถ้ามองในมุมที่ว่ามันก็เป็นหนังด้วยกันทั้งคู่น่ะแหละ สตรีมมิงก็หนัง AI ก็หนัง แต่มันเป็นความเหมือนที่แตกต่าง” เอาละซี เริ่มต้นน้ำเสียงทรงนี้ ไม่พ้นได้ฟังพี่แกเลกเชอร์แน่
“ประเด็นไม่ได้อยู่ที่แบบไหนเป็นหนัง แบบไหนไม่ใช่ มันอยู่ที่รางวัล ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน วัตถุประสงค์ของการมีรางวัล มันเพื่ออะไร?
ถ้าเข้าใจไม่ตรงกัน เถียงกันไปไม่จบ หรือไม่ก็แยกสำรับ”.. “มันยังไงรวมกันไม่ได้รึ ก็หนังสตรีมมิงยังส่งชิงออสการ์ได้เลย” ผมถาม
“ก็บอกแล้วไง เหมือนแต่ไม่เหมือน สตรีมมิงมันไม่เกี่ยวกับธรรมชาติของการทำหนัง ที่ต่อต้านมันเป็นประเด็นหนังฉายโรงมันจะเจ๊งกันทั้งระบบ โรงหนังมันจะอยู่ไม่ได้
อย่าลืมนะ อุตสาหกรรมหนังอเมริกันเกือบเจ๊งไปทีแล้วนะ มันโดนดอกแรกหายใจพะงาบๆ เลยนะ ตอนมีทีวีเกิดขึ้นในโลก แต่มันก็เหมือนกรรมตามสนอง
เพราะก่อนจะมีหนังเกิดขั้นในโลก บันเทิงอเมริกันก็มีแค่ฟังวิทยุ ดูละครเวที พอหนังเกิด ละครเวทีเจ๊งระนาว ทุกวันนี้เหลือแค่ที่เห็นคือบรอดเวย์ ฮอลลีวูด มันก็กลัวซี
หนังสตรีมมิงกับหนังฉายโรงหรือแพร่ภาพทางโทรทัศน์ เปรียบก็เหมือนดอกผักบุ้งนาผักบุ้งทุ่งกับผักบุ้งทะเล ต่างกันแค่สปีชีส์ นอกนั้นไม่ว่า วงศ์ หรือสกุล ก็เหมือนกัน
วัตถุประสงค์ของรางวัลที่เขาจัดมอบให้หนังที่ชนะการประกวดนั้น ก็เพื่อรับรองความเป็นผู้มีฝีมือในทางช่างหรือในทางศิลปะของคนทำภาพยนตร์ในตำแหน่งต่างๆ
เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ รางวัลต่างๆ นั่นน่ะ มอบเพื่อเชิดชูเกียรติของคนที่ทำงานในสาขานั้นๆ มันไม่มีรางวัลสำหรับสิ่งที่ไม่ใช่คนทำนะ
ผมไม่ต่อต้านนะ ถ้าจะมีหนัง AI ร่วมประกวดในงานมอบรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ แต่ต้องจำแนกเหมือนออสการ์ทำ
คือมีกรรมการตัดสินในส่วนภาพยนตร์ต่างด้าวแค่รางวัลเดียว ภาพยนตร์สาขาต่างด้าวยอดเยี่ยม คุณมานพว่า.. “แล้วทำไมต้องรางวัลเดียวล่ะ” ผมคาใจ..
“ถ้าอยากได้หลายรางวัลก็ไปจัดกันเองละกัน ประกวดเฉพาะภาพยนตร์สร้างโดย AI ถึงแม้วงการศิลปะเขาไม่ถือหรือนับเข้าเป็นงานศิลปะก็อย่าใส่ใจ
AI เป็นมนุษย์หรือไม่เป็น มีตัวตนหรือไม่มี หน้าตารูปร่างจะยังไงไม่ต้องสน อยากจะมอบก็ทำไปเหอะ สมัยนี้สุดแท้แต่ใครมันเลยครับ ปัญญาแค่ไหนก็แค่นั้นละครับ”
คุณมานพพูดจบ ก็บอกขอตัว แมวร้องเรียกไปให้อาหารแล้ว ยังดีแกเป็นทาสแมว..
เป็น “ทาสแม้ว” ผมเลิกคบ!
