เลขาธิการ คปภ. เปิดโรดแมป “ประชาชน-ภาคธุรกิจ-หน่วยงานกำกับ” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยปี 2568

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานแถลงข่าวนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ประจำปี 2568 พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ณ อาคารรับรองเกษะโกมล ถนนอำนวยสงคราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์แผนงานและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. โดยมีสื่อมวลชนร่วมรับฟังข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแผนงานและทิศทางการดำเนินงานพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ.เพื่อเผยแพร่ไปสู่สาธารณชน อันจะเป็นการส่งเสริมความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสำนักงาน คปภ. รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและระบบประกันภัยไทยในภาพรวม

เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงาน คปภ.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2569 ภาพรวมของธุรกิจประกันภัยไทยจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งระบบแตะที่ 1,000,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว สำนักงาน คปภ. โดยด้านและสายงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ประจำปี 2568

โดยแบ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่ 1 ประชาชน สามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและการบริการที่ได้มาตรฐาน อาทิ ลดเรื่องร้องเรียนที่มีปริมาณมากที่สุดคือข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ ดังนั้นจึงควรกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถให้เป็นจำนวนที่ชัดเจนไม่กำหนดเป็นขั้นต่ำ และกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ให้สามารถเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยที่รับประกันรถยนต์กรณีเป็นฝ่ายถูกของตนเองไว้ และเฉพาะประเภท 1 กำหนดเป็น Knock for Knock รวมทั้งยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของสาขาบริษัทประกันภัยในส่วนภูมิภาคให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบประกันภัยไทย โดยจะมีการตรวจสาขาบริษัทประกันภัยในส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดและให้บริการโดยตรงกับประชาชน โดยเป็นการตรวจติดตามการดำเนินการตามประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตเปิดสาขาย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสาขา หรือเลิกสาขาของบริษัทประกันวินาศภัย/ประกันชีวิต พ.ศ. 2565 โดยจะเริ่มเข้าตรวจในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป และจะมีการประสานความร่วมมือส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยให้แก่ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมของไทยอย่างเป็นระบบอีกด้วย

นอกจากนี้จะมีการทบทวนความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับโดยสำนักงาน คปภ. จะทบทวนความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีความเหมาะสมกับความเสี่ยงภัยและสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสมกับค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบัน อีกทั้งจะมีการผลักดันการจำหน่ายกรมธรรม์รถภาคบังคับผ่านช่องทาง online และการออกกรมธรรม์รถภาคบังคับในรูปแบบ e-Policy ซึ่งถือเป็นการตอบสนองต่อความต้องการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล และจัดโครงการส่งเสริมความปลอดภัยเพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยจะเน้นการศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการที่มีประสิทธิภาพในการลดอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โดยตั้งเป้าเริ่มต้นที่จังหวัดปราจีนบุรีก่อนขยายผลไปในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้าน ESG และมาตรการเชิงป้องกันของภาคธุรกิจประกันภัย โดยสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ดำเนินการจัดกิจกรรมเชิง ESG สร้างความตระหนักรู้ของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยในการใช้มาตรการเชิงป้องกันความเสียหาย (Preventive Measures) รวมทั้งส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยในโรงเรียน/สถานศึกษา ผ่านโครงการยุวชนนักสื่อสารประกันภัยภัยรุ่นใหม่ปี 2568 (Insurefluencer the new GEN 2025) มีการปรับปรุงประสิทธิภาพ API Gateway เพื่อรองรับการให้บริการ OIC Gateway และ App ทางรัฐ ที่มีแนวโน้มการใช้บริการมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มบริการตรวจสอบพฤติกรรม
ขับขี่เพื่อใช้เป็นส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อไป

ส่วนที่ 2 ธุรกิจประกันภัย มีเสถียรภาพความมั่นคง ปรับตัวได้เท่าทันความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อาทิ มีการกำกับบริษัทประกันภัยแบบรวมกลุ่ม (Group Wide Supervision) ในระดับ Solo Consolidation ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติกรรมการ แนวทางการติดตามการถือหุ้นธรรมาภิบาล การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และระดับ Full Consolidation จะมีการพิจารณาหารือกับหน่วยงานการกำกับดูแลภาคการเงิน/ภาคการประกันภัยจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อกำหนดหลักการกำกับดูแลในระดับ Full Consolidation ซึ่งจะครอบคลุมการกำกับบริษัทที่เป็นบริษัทแม่ของบริษัทประกันภัย รวมถึงบริษัทร่วมและบริษัทที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 และมีการทบทวนหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย (All Risks Calibration / Catastrophe Risk / Group Capital – for Group Risk) และมีการปรับเพิ่มอัตราการวางเงินสำรอง UPR โดยจัดกลุ่มบริษัทตามศักยภาพในการดำเนินงานและความมั่นคงของบริษัท โดยมีแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ อีกทั้งจะมีการปรับปรุงประกาศ คปภ. ว่าด้วยการลงทุนประกอบธุรกิจอื่น เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดใหม่ (EWS / Group-Wide Supervision / Risk Proportionality) มีการยกระดับการกำกับดูแลและการตรวจสอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง ERM-ORSA / Examination Form / Stress Test / แบบจำลองมาตรฐาน และมีการจัดทำคู่มือ/กรอบแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานของการจัดทำรายงานทางการเงินตาม TFRS 17 รวมทั้งทบทวน/ปรับปรุง EWS ให้สอดคล้องกับ TFRS 17

นอกจากนี้มีการเตรียมความพร้อมในการผลักดันร่างกฎหมายแม่บท และจัดเตรียมร่างกฎหมายลำดับรองโดยสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. กลุ่ม 2 (บทบัญญัติเกี่ยวกับการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคง) และสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. กลุ่ม 3 (บทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการ) รวมทั้งมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัย เชื่อมโยงฐานข้อมูลไปยังหน่วยงานภาคีเครือข่าย และมีการจัดทำระบบแสดงพฤติกรรมฐานข้อมูลฉ้อฉลประกันภัยหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัยของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย เพื่อให้บริษัทประกันภัยเข้าใช้งานระบบเพื่อตรวจสอบข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งมีการยกระดับการกำกับดูแลคนกลางประกันภัยด้วยแนวทาง Conduct Risk-Based รวมทั้งยกระดับมาตรฐานความรู้และการดำเนินงานของคนกลางประกันภัยให้มีคุณภาพ

ในขณะเดียวกันก็จัดทำแผนยุทธศาสตร์ประกันสุขภาพภาคเอกชน เพื่อกำหนดภูมิทัศน์ด้านประกันภัยสุขภาพภาคเอกชนของประเทศไทย (Health Insurance Landscape in Thailand) รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ โดยปรับปรุงและพัฒนาหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินค่าเวนคืนตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถกำหนดอัตราเงินค่าเวนคืนดามกรมธรรม์ที่ต่ำลงได้หรือที่เรียกว่า Low cash surrender value (Low CSV) ที่ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยต่ำลง ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคและส่งเสริมโอกาสให้แก่บริษัทในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศได้มากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการพัฒนาและส่งเสริมการประกันภัยพืชผล โดยสนับสนุนการประกันภัยการเกษตรให้ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รวมถึงการหารือกับภาคธุรกิจประกันภัยต่อต่างประเทศถึงความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการสำรวจภัย และมีการทบทวนความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอกของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 5 เพื่อเพิ่มศักยภาพภาคธุรกิจ ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยและมีการ Open Insurance ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาการให้บริการการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เริ่มจากการเชื่อมโยงข้อมูลภายในภาคประกันภัย (Open Insurance) ในปี 2568 จากนั้น จึงจะขยายการเชื่อมโยงใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีในภาคส่วนอื่นๆ (Open Data) ในปี 2569 อีกทั้งจะมีการจัดทำ AI Governance Guideline สำหรับธุรกิจประกันภัย เพื่อให้มีกรอบแนวทางในการกำกับดูแลให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนสร้างประเทศไทยให้มี Insurance Community เป็น Hub of Insurance ของภูมิภาคอาเซียน และเสริมสร้าง Insurance Literacy ด้วยการขยายบทบาทภารกิจของสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สู่การเป็น Research & Development Center ของประเทศไทย และดำเนินการให้เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ รวบรวม จัดเก็บ และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการประกันภัย (Insurance Learning Center) ไปพร้อมๆกับการสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพของบุคลากรประกันภัย โดยเริ่มจากการจัดทำหลักสูตรนานาชาติ สำหรับผู้กำกับดูแลและบุคลากรประกันชีวิต เป็นต้น

ส่วนที่ 3 ขับเคลื่อนสำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรที่มีศักยภาพสูง อาทิ ปรับกระบวนการทำงาน Team-based / Project-based เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น และมุ่งสู่ AI Driven Organization โดยขับเคลื่อนการดำเนินการผ่าน AI Champion และนำ AI เข้ามาใช้ในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ มีการยกระดับการบริหารผลงาน ด้วยการตั้งเป้าหมายการทำงานด้วย OKRs ที่ชัดเจนและท้าทาย รวมทั้งให้ผู้บังคับบัญชามีการติดตามการทำงาน ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการทำงาน (Coaching & Feedback) อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์สำนักงาน คปภ.ในเชิงรุกและหลากหลาย โดยการบูรณาการความร่วมมือด้านการสื่อสาร เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัยให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนเพิ่มมากขึ้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า หัวใจสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. คือ การทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างความร่วมมือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องด้านการประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล ตัวแทนประกันภัย และสื่อมวลชนทุกช่องทางเพื่อเป็นสื่อกลางนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร แนวทางการดำเนินงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงาน คปภ. ออกสู่สาธารณชนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยไทย

Written By
More from pp
“จุรินทร์” ย้ำ ประชาธิปัตย์ ยืนหยัดวิถีประชาธิปไตย พรรคฯ ไม่มีใครเป็นเจ้าของชี้นำได้ ข้อยุติขึ้นอยู่กับมติพรรค ส่วนเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ ขอให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
11 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
Read More
0 replies on “เลขาธิการ คปภ. เปิดโรดแมป “ประชาชน-ภาคธุรกิจ-หน่วยงานกำกับ” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยปี 2568”