รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แจงกรณี “ต่างด้าว” สามารถเข้ารักษาพยาบาลในประเทศไทยฟรี มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติไทย มีกองทุน ท.99 ดูแล กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่มีการจ่ายเงินสมทบ และกลุ่มที่ซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดออกหนังสือแจ้งซักซ้อมแนวทางการขึ้นทะเบียนกลุ่ม ท.99 แล้ว ส่วนกลุ่มอื่นนอกเหนือจากนี้ต้องชำระค่ารักษาพยาบาลเอง
21 ธันวาคม 2567 นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกระแสสังคมที่ห่วงใยต่อระบบสาธารณสุขประเทศไทย จากกรณีประชากรข้ามชาติแห่คลอดลูกและใช้สิทธิรักษาฟรี ว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยปฏิบัติตามกฎหมายที่บัญญัติไว้และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการดูแลรักษาทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อ ครอบคลุมผู้ที่กำลังดำเนินการพิสูจน์สัญชาติไทยด้วย
ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยจัดตั้งกองทุนต่างๆ รวมถึงมีเครือข่ายองค์กรนานาชาติให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสม เบื้องต้น มีการจัดการสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย 3 ส่วน คือ
1.บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิหรือบุคคลไร้รัฐ ซึ่งเป็นบุคคลที่กำลังดำเนินการพิสูจน์สัญชาติไทย และได้รับเลขประจำตัว 13 หลัก จากกระทรวงมหาดไทย และปรากฏรายการบุคคลในฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย กลุ่มนี้จะมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยใช้กองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (ท.99) ซึ่งรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนกับกองทุน 723,603 คน
2.แรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงาน นายจ้างจะส่งเข้าประกันสังคมแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ การรักษาพยาบาล เงินทดแทนรายได้กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ชราภาพ และสิทธิในกรณีว่างงาน และ
3.กองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข หรือการซื้อประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะมีการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพให้แก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว เมียนมา และกัมพูชา ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือกำลังรอสิทธิ รวมทั้งผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว โดยอายุความคุ้มครองจะแตกต่างกันไปตามค่าประกันสุขภาพ ทำให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการให้บริการของสถานพยาบาล
นพ.มณเฑียรกล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มที่จะได้รับการดูแลจากกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือ ท.99 นั้น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือแจ้งซักซ้อมแนวทางการขึ้นทะเบียนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกลุ่มบุคคลที่สามารถขอรับสิทธิได้ จะต้องได้รับเลขประจำตัว 13 หลัก จากกระทรวงมหาดไทย ตามมติ ครม. ที่กำหนดให้การขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางด้านสุขภาพ ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และต้องยื่นหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวบุคคล ทะเบียนบ้าน และหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป
“ส่วนกลุ่มผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือประกันสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข และไม่ใช่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตามที่มติ ครม.กำหนด หากเข้ารับบริการสาธารณสุขจะต้องชำระค่าบริการเอง”
อย่างไรก็ตาม บางส่วนที่ไม่สามารถชำระค่าบริการได้ อาจขอความอนุเคราะห์ค่ารักษาพยาบาล โดยหน่วยบริการจะพิจารณาตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เรียกเก็บไม่ได้นี้ จะมีงบประมาณจากเครือข่ายองค์กรนานาชาติให้การสนับสนุนส่วนหนึ่ง