ถึงคิว ‘แพทองธาร’ #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

งานงอก!

เริ่มต้นจากข้อเขียนของ “คำนูณ สิทธิสมาน” เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า อย่าเสี่ยงจงใจขัดรัฐธรรมนูญ! MOU 44 ต้องผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ ๖๐ มาตรา ๑๗๘

เหตุผลคือ MOU 2544 แม้จะมีอายุ ๒๓ ปีเต็มแล้ว กำเนิดในยุครัฐธรรมนูญ ๒๕๔๔ ผ่านยุครัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แต่เมื่อมาถึงยุครัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เมื่อพิจารณาแล้วเป็นหนังสือสัญญาที่เข้าข่ายมาตรา ๑๗๘ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

ไม่อย่างนั้นจะขัดรัฐธรรมนูญ!

นี่ไม่ใช่สิ่งที่ “คำนูณ” ทึกทักเอาเอง

แต่เป็นการยืนยันหนักแน่นในบทความทางวิชาการเรื่อง “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา : ปัญหาและพัฒนาการ” โดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คนที่ลงนามใน MOU 2544 ตีพิมพ์ในจุลสารความมั่นคงศึกษาฉบับที่ ๙๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ สนับสนุนการพิมพ์โดยสถาบันการข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

มาวันอังคาร “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ขยายความบทความทางวิชาการ ๓๖ “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” เขียนว่า

“(๕) บันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้ลงนามโดยผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ จึงมีสถานะเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙”

ถัดมา “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” โพสต์ข้อความว่า…

“…ขอขอบคุณท่านอาจารย์หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ ที่ได้อนุญาตให้เผยแพร่เอกสารสำคัญ เป็นแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ลงนามโดย ทักษิณ ชินวัตร กับ ฮุน เซน วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๔ ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า JC2544 หรือ J44

โดยเฉพาะข้อ ๑๓ และ ข้อ ๑๔ ที่ได้มีการรับรอง MOU 2544 จึงทำให้สถานภาพของ MOU 2544 กลายเป็นสนธิสัญญาที่ได้มอบอำนาจโดยรัฐบาลทั้ง ๒ ประเทศ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และไม่ได้มีพระบรมราชโองการ

จึงขอนำเสนอและช่วยกันเผยแพร่ในโอกาสนี้ เพื่อเพิกถอนทั้ง MOU 2544 และ JC2544

ด้วยความปรารถนาดี…”

ครับ…เท่ากับว่าที่ผ่านมาเราคุยกันบนพื้นฐาน MOU 2544 ไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ เพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น

“คำนูณ” อธิบายไว้ดังนี้…

“…เมื่อเป็นสนธิสัญญาแล้ว ต่อไปก็ต้องดูว่าเข้าข่าย ‘หนังสือสัญญา’ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๑๗๘ หรือไม่ จึงจะตอบได้ว่าต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่

ไม่ยาก เปิดรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๑๗๘ อ่านแล้วเทียบเคียง

ผมขอนำมาแจกแจงเขียนใหม่เป็นข้อๆ ให้ได้พิจารณากันชัดๆ

รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๑๗๘ วรรคสอง กำหนดประเภทของหนังสือสัญญาที่คณะรัฐมนตรีจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาไว้ ๓ ประเภทด้วยกัน คือ

๑.หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ

๒.หนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา

๓.หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศ อย่างกว้างขวาง

ขอให้พิจารณาหนังสือสัญญาประเภทที่ ๓ เป็นหลัก

กรุณาสังเกตคำว่า ‘อาจ’ ที่ตามหลังคำ ‘หนังสือสัญญาอื่นที่…’ ให้ดี แล้วค่อยๆ คิดตาม

ตรงนี้แหละ Keyword ของเรื่อง!

ไม่เพียงเท่านั้น มาตรา ๑๗๘ วรรคสาม ยังได้บัญญัติขยายความเพิ่มเติม ‘หนังสือสัญญาอื่นที่อาจ…’ ในมาตรา ๑๗๘ วรรคสองให้มีความชัดเจนขึ้น โดยระบุไปเลยว่าให้หมายถึงหนังสือสัญญาดังต่อไปนี้

๑.การค้าเสรี

๒.เขตศุลกากรร่วม

๓.การให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

๔.ทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน

๕.อื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

บทบัญญัติที่ระบุไว้ชัดเจนอย่างนี้ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๔ และรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐

MOU 2544 เข้าข่ายข้อ ๓ ข้อ ๔ ของมาตรา ๑๗๘ วรรคสามเต็มๆ ตรงๆ…”

ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ใช่หรือไม่? นี่คือคำถามตัวโตๆ

เห็นรัฐบาลรีบเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (JTC) เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันทางทะเล ระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อรีบคุยกับกัมพูชา ทั้งๆ ที่รู้ว่า MOU 2544 เป็นสนธิสัญญา และไม่เคยผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

ทำไมถึงกล้าเร่งรีบเดินหน้า ทั้งๆ ที่มีความเสี่ยง!

ความเห็นของ “ธีระชัย”…

“…ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะท่านในฐานะผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจเต็มจากรัฐบาลไทย ไปลงนามในสนธิสัญญา..

ทั้งที่มิได้มีการทูลเกล้าฯ และมิได้มีการนำเสนอรัฐสภาเสียก่อน เป็นการกระทำเกินอำนาจ ultra vires จึงไม่ผูกพันรัฐบาลไทย และทำให้ MOU 44 เป็นโมฆะตั้งแต่ต้น

ผมเห็นว่าไม่มีเอกสารหลักฐานชิ้นไหน ที่มีความสำคัญเท่าชิ้นนี้อีกแล้ว…”

“ธีระชัย” เปรียบเทียบให้เห็นการเจรจาระหว่างไทย-มาเลเซีย และไทย-กัมพูชา

“..ในลำดับขั้นตอนการจัดทำพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เริ่มต้นจากการเจรจาเส้นเขตแดนของทั้งสองประเทศให้เสร็จเรียบร้อยก่อน จึงจะได้อาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย เป็นขั้นตอน ใช้ม้าลากรถ แต่ลำดับขั้นตอนการจัดทำพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา เริ่มต้นจากการกำหนดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมขึ้นมาเอง เป็นการรีบร้อนลัดขั้นตอน ใช้รถลากม้า

การเจรจากำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยกับมาเลเซีย ใช้เวลาหลายปี ท่านใช้เวลาเจรจากำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชาเพียงสองสามเดือน ส่อเจตนาชัดเจนว่าให้ความสำคัญลำดับหนึ่งแก่การแสวงหาประโยชน์ปิโตรเลียม จนมีความเสี่ยงเรื่องเขตแดนเกิดขึ้น

การเร่งรีบเช่นนี้ ทำให้ประชาชนกังวลว่า มีวาระซ่อนเร้นแฝงอยู่ในการเจรจาหรือไม่…”

มาถึงบทสรุปรัฐบาลระบอบทักษิณ มักสนใจแต่ผลประโยชน์มากกว่าความถูกต้อง

“ทักษิณ” สั่งเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เมียนมา เอื้อประโยชน์แก่บริษัทในเครือชินคอร์ป แก้ไขสัมปทานโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป คดีหวยบนดิน ศาลสั่งจำคุก ๑๐ ปี

“ยิ่งลักษณ์” ปล่อยทุจริตจำนำข้าว ศาลสั่งจำคุก ๕ ปี

“แพทองธาร”….

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
เครือซีพี ลดภาระภาครัฐ เริ่มฉีดวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์ม แล้ว โดยเริ่มจากพนักงานสายการผลิต พนักงานด่านหน้าที่ต้องสัมผัสลูกค้า และพนักงานที่มีความเสี่ยงสูง 
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เริ่มฉีดวัคซีนทางเลือกให้กับพนักงานวันแรก ซึ่งเป็นวัคซีนที่ภาคเอกชนออกค่าใช้จ่ายเอง ผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาครัฐ และถือเป็นการดูแลพนักงานและครอบครัวอีกด้วย
Read More
0 replies on “ถึงคิว ‘แพทองธาร’ #ผักกาดหอม”