ไม่แก้ รธน.จะตายมั้ย #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

อยากรู้จริงๆ

ถ้าพักการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้สัก ๑๐ ปี หมายถึงนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึงปี ๒๕๗๗ หากนักการเมืองไม่พูดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย ประเทศไทยจะฉิบหายหรือเปล่า

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประกาศใช้มาแล้วเป็นปีที่ ๗ พบว่าบางมาตราใช้แล้วมีปัญหา แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้ประเทศพัฒนาไปไม่ได้

บางมาตรามีการแก้ไขไปแล้ว เช่นระบบการเลือกตั้ง จากบัตรใบเดียว เป็น ๒ ใบ แยกบัตร สส.เขต และบัญชีรายชื่อออกจากกัน

คำนวณสัดส่วน สส.บัญชีรายชื่อใหม่

คือกลับไปใช้แบบเดิม ไม่มี สส.ปัดเศษ

นี่คือสิ่งที่นักการเมืองมองว่ามีปัญหามาก และแก้ไขไปเรียบร้อยแล้ว

แต่…ยังไม่พอ

ถึงหน้าเลือกตั้งที หาเสียงแก้ไขรัฐธรรมนูญที การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงทุกครั้ง

แท้จริงแล้วประชาชนต้องการจริงหรือไม่?

หรือเพียงแค่นักการเมืองต้องการเพิ่มความสะดวกให้ตัวเอง ด้วยการแก้บทบัญญัติที่เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่อำนาจ และการถูกตรวจสอบการใช้อำนาจ เท่านั้นเอง

หากพิจารณาจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านี้ทั้ง ๖ ประเด็น จะพบว่ามีเนื้อหาแก้เพื่อตัวเองแทบทั้งสิ้น

ประชาชนไม่ได้อะไรจากการแก้ไขเลย

หนำซ้ำยังเป็นการบ่มเพาะนักการเมืองสีเทายันนักการเมืองคดโกงให้เพิ่มมากขึ้น

ให้นักการเมืองกลุ่มนี้สามารถเข้าไปนั่งในทำเนียบรัฐบาลได้ง่ายขึ้น

ฉะนั้นหากหยุดพูดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญสัก ๑๐ ปี ประเทศไม่มีทางวิบัติหรอกครับ กลับกันคนโกงที่รอครอบครองอำนาจ ก็ต้องรอไปอีก ๑๐ ปี

หลายคนครับที่ไม่กล้ากลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรี หากยังไม่มีการแก้ไขคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีเสียใหม่

จึงอยากให้กลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่ไม่มีบทบัญญัติเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

แต่…ยากครับ ที่นักการเมืองจะยอมถอย

เพราะยังคงเห็นข่าวกระเหี้ยนกระหือรือจะแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแทบทุกวัน

วานนี้ (๓๐ กันยายน) ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร เป็นประธาน กมธ.ฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน ๑๖๗ เสียง ไม่เห็นชอบ ๑๙ เสียง งดออกเสียง ๗ เสียง

คือเอาตามที่กรรมาธิการแก้ไข

ร่างกฎหมายฉบับนี้ แก้ไขมาตรา ๑๓ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การผ่านประชามติ ที่ให้เติมความวรรคสอง กำหนดให้ การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในการจัดทำประชามติ มาตรา ๙ (๑) หรือ (๒) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น (Double Majority)

เรียกง่ายๆ คือ เกณฑ์ออกเสียงประชามติด้วยเสียงข้างมาก ๒ ชั้น

บรรดา สส.ที่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงกับสำลักอาหารเที่ยง แบบนี้เท่ากับขวางไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นทันอายุสภาผู้แทนฯ ชุดนี้ชัดๆ

เรื่องมันเป็นแบบนี้ครับ…

เมื่อ สว.เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก แก้เกณฑ์ออกเสียงประชามติด้วยเสียงข้างมาก ๒ ชั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกส่งกลับไปยังสภาผู้แทนฯ อีกรอบ

ถ้าสภาผู้แทนฯ เห็นด้วยก็ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

แต่กรณีนี้คงยาก สส.ไม่ยอมหรอกครับ

ฉะนั้น เมื่อร่างกฎหมายกลับมาที่สภาผู้แทนฯ ก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม โดยกรรมาธิการฯ จะมีจำนวน สส.และ สว.เท่ากัน

ให้ไปคุยกันว่าจะเอาไงต่อ

จะแก้ไขอย่างไร

จะพบกันครึ่งทาง

หรือจะซัดกันให้แหลก ก็ว่าไปตามสะดวก

เมื่อกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ให้เสนอต่อทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา

ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบด้วย ก็นำสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย

แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน

ตรงนี้แหละครับที่นักการเมืองเขากังวล

เพราะนั่นหมายความว่าสภาผู้แทนฯ จะหยิบยกร่างกฎหมายมาพิจารณาใหม่ ต้องรอให้พ้น ๑๘๐ วันไปก่อน

คือให้แขวนไว้ครึ่งปี หลัง ๒ สภาคุยกันไม่รู้เรื่อง

นี่แค่กระบวนการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามตินะครับ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเท่านั้น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีรายละเอียดอีกมาก และใช้เวลาแรมปี กับระยะเวลาอายุสภาผู้แทนฯ ที่เหลืออยู่ ๒ ปี ๘ เดือน ไม่ทันแน่นอน

ต้องแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ เพื่อเปิดทางให้ตั้งส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

เสร็จแล้วต้องไปเลือก ส.ส.ร.

เลือก ส.ส.ร.เสร็จ จึงจะเข้าสู่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.

เสร็จแล้วถึงจะให้ ส.ส.ร.พิจารณา

ต้องใช้เวลานานนับปี

และด้วยเกณฑ์ออกเสียงประชามติด้วยเสียงข้างมาก ๒ ชั้น ก็อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มเหลวไม่เป็นท่า

แต่ก็ยังคงดันทุรังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนที่สภาผู้แทนฯ ชุดนี้จะหมดวาระลง

หากคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่าเต็มไปด้วยประชาธิปไตยไร้ราคีคาวเผด็จการ ทำไมต้องเร่งรีบให้เสร็จภายในอายุสภาผู้แทนฯ ชุดนี้

ผูกโยงกันทำไม

มันหาคำตอบที่มีน้ำหนักแทบไม่ได้เลยครับ

นอกจากมีแผน ครอบงำ และ ครอบครอง ส.ส.ร.ที่จะตั้งขึ้น เพื่อกำหนดเนื้อหารัฐธรรมนูญได้ตามที่ตนเองต้องการ

ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ ประเทศไม่พังแน่นอน

แต่หากดันทุรังจะแก้กันให้ได้ตอนที่ตัวเองถืออำนาจอยู่ ก็ระวัง…

รัฐบาลนั่นแหละครับจะพังเสียเอง

Written By
More from pp
มูลนิธิเพื่อการศึกษาของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดรับสมัครนักศึกษาทุนฯ
มูลนิธิเพื่อการศึกษาของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญด้านการศึกษา พร้อมส่งเสริมนักศึกษาภาควิชาการตลาดที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ โดยพร้อมให้การสนับสนุนทุนการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อให้นิสิตนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือก ได้จบการศึกษาเป็นบัณฑิตคุณภาพ เป็นอนาคตของแวดวงนักการตลาดไทย
Read More
0 replies on “ไม่แก้ รธน.จะตายมั้ย #ผักกาดหอม”