ผักกาดหอม
ไม่ง่ายเสียแล้วครับ…
พรรคภูมิใจไทยประกาศจุดยืนสวนทางกับพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะบรรลุเป้าหมายต้องออกแรงเพิ่มอีกหลายเท่า
และอาจไม่สำเร็จ
ย้ำกันอีกครั้งครับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ๖ ประเด็น
๑.แก้ไข (๗) ของมาตรา ๙๘ ซึ่งปัจจุบันกำหนดห้ามผู้ที่เคยรับโทษจำคุกโดยพ้นโทษยังไม่ถึง ๑๐ ปี สมัคร สส. หรือเป็นรัฐมนตรี
เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ แก้ไขเป็นให้รวมความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย
๒.แก้ไข (๔) และ (๕) ของมาตรา ๑๖๐ คุณสมบัติรัฐมนตรี โดยปัจจุบัน (๔) กำหนดว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ แก้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” และให้ถือการกระทำดังกล่าวนับแต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบังคับใช้
ส่วน (๕) เรื่องจริยธรรมแก้ให้ชัดเจนว่า ผู้เป็นรัฐมนตรีต้องอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในศาลฎีกา กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
โดย (๗) คนที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอลงโทษซึ่งปัจจุบันห้ามเป็นรัฐมนตรีนั้น แก้เป็น ให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๗๐ แทน
๓.เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญให้นำไปใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย จึงแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน โดยแก้ไข ม.๒๐๑, ม.๒๐๒, ม.๒๒๒, ม.๒๒๘, ม.๒๓๒, ม.๒๓๘ และ ม.๒๔๖
๔.แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องมติและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ปัจจุบันคำวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขเป็นถ้าเป็นการวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว.สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว
การวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา ๑๔๔ ให้ใช้เสียง ๒ ใน ๓ ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้น ให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน
๕.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๓๕ กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า มีความผิดคดีอาญา ร่ำรวยผิดปกติ หรือศาลฎีกาพิพากษาว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยปัจจุบันให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน ๑๐ ปี
แก้ไขเป็น “ให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งมีกำหนด ๕ ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง”
๖.แก้ไขหมวด ๑๕ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มเป็นวรรคสองของมาตรา ๒๕๕ กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้
แก้ไข (๘) ของมาตรา ๒๕๖ เดิมกำหนดว่าการแก้ไขในเรื่องต่างๆ ทั้งการแก้ไขหมวด ๑ หมวด ๒ การแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ก่อนนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อนนั้น
แก้ไขเป็น เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้นที่ต้องจัดทำประชามติ
คือทั้งหมดนี้เพื่อคนโกงชัดๆ
ฉะนั้นหากพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ เอาด้วยกับพรรคเพื่อไทย มันก็ไม่ต่างกับการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออุปถัมภ์คนโกง
วันนี้ดูเหมือนสถานการณ์เปลี่ยน พรรคภูมิใจไทย ประกาศจุดยืนไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคเพื่อไทย
คำตอบจากปาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” คือ “มันไม่ใช่จุดยืน แต่มันเป็นวิถีชีวิต”
Day of Life
“…คนการเมืองเป็นคนสาธารณะ ถ้าไม่อยากให้ตรวจสอบก็เล่นการเมืองไม่ได้ การเข้ามาการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรี แค่เป็นที่ปรึกษาเป็นเลขานุการ หรือรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง กรรมการรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องแจ้งทรัพย์สินแล้ว นั่นคือบทแรกของการตรวจสอบ
ผมคิดว่าคนที่มาทำงานสาธารณะรับใช้บ้านเมือง ใช้อำนาจรัฐในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ต้องรับการตรวจสอบ เป็นการเช็ก and Balance ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ นักร้องมีอยู่ทั่วไป เขาก็ร้องได้ ในสิ่งที่เราทำผิด ถ้าเราไม่ได้ทำผิด พิสูจน์อย่างไรก็ไม่ผิด เขาก็มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี หรือถูกฟ้องร้อง ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่า…”
คิดได้แบบนี้นับว่าประเสริฐครับ!
นักการเมืองจำต้องถูกตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน เพราะเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเต็มไปด้วยผลประโยชน์ต่างๆ มากมาย
หากนักการเมืองทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ ก็ไม่มีเหตุอะไรต้องเกรงกลัวการตรวจสอบ
แต่เนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยนั้น มันประเจิดประเจ้อ เปิดทางให้คนไม่สะอาดเข้าสู่การเมืองง่ายขึ้น
เข้ามาแล้วทำผิด ก็แก้ไขให้อัตราโทษน้อยลง
ประชาชนจะยอมให้พรรคเพื่อไทยทำเช่นนี้หรือครับ
พรรครวมไทยสร้างชาติตามภูมิใจไทยมาติดๆ เคาะมติไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของ “มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง” ให้นักการเมืองมีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไร้ประวัติด่างพร้อย
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังเงียบกริบ
อย่ายึดอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาล
พูดง่ายๆ อย่าให้ความอยากเป็นรัฐบาลมาอยู่เหนือความถูกต้อง
ฝั่ง สว.ก็เริ่มเปล่งเสียงแล้ว “ไม่ใช่คนชั่วกลัวอะไร”
ก็เหลือแค่พรรคเพื่อไทยกับพรรคส้ม ที่จะรวมหัวกันชำเรารัฐธรรมนูญ
อย่างที่บอก มันไม่ง่าย
ขณะเดียวกันพรรคภูมิใจไทย ประกาศยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยผ่านการทำประชามติก่อน
ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ต้องบอกกับประชาชนให้ชัดว่า การันตีได้หรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มีบทบัญญัติและหลักการหลายส่วนที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา ทั้งในส่วนขององค์อำนาจหลักของประเทศ ได้แก่ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมทั้งองค์กรอิสระ
นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มให้บัญญัติหมวดใหม่เพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ และหมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ
ซึ่งไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน
ฉะนั้นอย่าสักแต่คิดว่า รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แล้วรื้อทิ้งหมด
ศึกษาให้ดีเสียก่อน ว่าทำไมพรรคเพื่อไทยถึงกลัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้นักหนา
แยกน้ำแยกเนื้อให้ชัดเจน