เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ณ ห้องประชุม อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สมาชิกวุฒิสภา นำโดยพลตำรวจตรีอังกูร คล้ายคลึง ดร.ชูชีพ เอื้อการณ์ ร่วมด้วยนายสุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร อุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการ TSPCA นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาช้างป่า
สืบเนื่องด้วยสำนักงานรับเรื่องราวร้องทุกข์และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน สมาชิกวุฒิสภา พลตำรวจตรีอังกูร คล้ายคลึง ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนและผลกระทบจากช้างป่าที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก จนบางครั้งเกินเลยนำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตของประชาชนและช้างป่า ซึ่งหลายหน่วยงานกำลังแก้ไขปัญหาแต่ก็ยังไม่ได้รับข้อสรุปหรือแนวทางที่เหมาะสมในการคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าว อีกทั้งนับวันสถานการณ์ยิ่งอ่อนไหว บานปลาย กระทบต่อความรู้สึกร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบและประชาชนที่รักช้าง จนเกิดความขัดแย้งขึ้นในหลายๆ พื้นที่
ดังนั้น พลตำรวจตรีอังกูร คล้ายคลึง และดร.ชูชีพ เอื้อการณ์ สมาชิกวุฒิสภา มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้มีความรู้ความสามารถประสบการณ์มาร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันการทารุณกรรมและการจัด
สวัสดิภาพสัตว์มากว่า 30 ปี มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ปฏิบัติงานในการดูแลช้าง
เช่น รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร, ดร.น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ, น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต), ศาตราจารย์ (ปฏิบัติ) น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม, ศาตราจารย์ ส.พญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านอื่นๆ ที่จะมาร่วมแก้ไขปัญหาช้างป่า ที่สำคัญหัวใจหลักคือประชาชนในพื้นที่จะทราบถึงปัญหาและต้องสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหาจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวนี้ได้สำเร็จลุล่วง
ด้าน รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร อุปนายก TSPCA เห็นว่า นโยบายแก้ไขความขัดแย้งคนกับช้างที่ชัดเจน เช่น การควบคุมประชากรช้าง การเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบ การดูแลเฝ้าระวังพื้นที่ สุขภาพช้าง ภัยคุกคามช้างป่า ช้างบ้าน พ.ร.บช้าง การยกระดับสวัสดิภาพช้างและควาญช้าง การนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหา และการสื่อสารที่ดีในทุกมิติเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งนี้องค์ความรู้ต่างๆ ในเรื่องช้างป่าและช้างเลี้ยง ได้มีการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง มีการเก็บข้อมูลและวิจัยในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับการนำมาสู่การปรับใช้ของผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ต้องขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมและประธานการประชุมที่สนใจและจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้
ทั้งนี้ ผลการหารือวันนี้จะนำกลับไปสู่ การประชุมของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม ในการแก้ไขปัญหา มีระบบกลไกในการดำเนินงาน ติดตามและตรวจสอบผลลัพธ์ที่ครอบคลุมในการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ เพื่อเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เกิดความเป็นธรรม โดยการยึดหลักการ ทำงานเพื่อประชาชน
ช้างป่าไทย เราอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนต่อไป