ผักกาดหอม
ฝุ่นตลบ…
ตั้งรัฐบาลเที่ยวนี้ บางพรรค บางคน ไม่ค่อยจะเห็นหัวประชาชนสักเท่าไหร่
ย้อนกลับไปก่อนปี ๒๕๕๗ การเมืองแบ่งขั้วชัดเจน
เหลือง-แดง
ช่วงนั้นไม่มีใครพูดถึง ฝ่ายอนุรักษนิยมกันสักเท่าไหร่ เพราะมีแค่ฝ่ายเอากับไม่เอาระบอบทักษิณ
ฝ่ายที่ต่อสู้กับระบอบทักษิณ สู้กันมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔
ตั้งแต่ที่ “ทักษิณ” ซุกหุ้นไว้กับคนใช้ คนขับรถ
๒๓ ปีให้หลังมันพร่ามัวไปหมด
เริ่มจะแยกไม่ออกแล้วระหว่างคนโกงกับคนปราบโกงบางส่วน
มีคนบอกว่า เพราะมีขั้วใหม่ขึ้นมา นั่นคือ พรรคส้ม
แรกๆ ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น
แต่หลังๆ มานี้ เพราะอยากมีอำนาจกันทั้งนั้น
ขึ้นชื่อว่านักการเมือง พร้อมที่จะผสมพันธุ์กันโดยไม่สนใจอุดมการณ์ของตัวเอง
จนอดคิดไม่ได้ว่าตกลงแล้ว นักการเมืองมีอุดมการณ์จริงหรือไม่
หรือมีแค่อุดมกิน
ครับ…เขียนถึงลอยๆ ไม่อยากเจาะจง แต่คนที่อยู่ในข่ายน่าจะรู้ตัวดี
อย่าไปกลัวพรรคส้มเลยครับ เอาเข้าจริงไม่มีอะไรน่ากลัว
ก็ดูกรณี ฉาวกาม เป็นตัวอย่าง ใบ้กินกันทั้งพรรค กว่าจะตั้งหลักได้ ตาเหลือกกันทั้งพรรค
วันก่อน “ลุงป้อม” ขยุมหัวนักข่าว “ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ” เดือดเลยครับ ประณามเสร็จ จะเอาเข้า กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ วันนี้ (๒๒ สิงหาคม) นี่แหละครับ
โทษฐานกระทำความรุนแรงต่อสื่อมวลชน
เป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตย
ยกนิ้วให้สิครับ ใส่ใจขนาดนี้
แต่ถามหน่อย ตอนเรื่อง สส.ก้าวไกล ฉาวกาม คุกคามทางเพศ ผู้ช่วย สส.แย่งผัวชาวบ้าน บางรายรีดทรัพย์ และอดีตหลายกรณี วันนั้นว่าไง
เคยเสนอเรื่องเข้ากรรมาธิการสักคณะหรือเปล่า
หรือไม่เข้าองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตย
ยกตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ครับ
นักการเมืองพูดเป็นต่อยหอยได้ทุกเรื่องครับ ถ้าไม่ใช่เรื่องตัวเอง แต่เมื่อถึงเรื่องที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ เกิดอาการคิดไม่ทัน
สมองมันช้าชั่วขณะ
แล้วลองให้พรรคประชาชนชนะเลือกตั้งถล่มทลายได้ สส. ๕๐๐ เสียงตั้งรัฐบาลพรรคเดียว คิดว่าจะทำได้ทุกเรื่องตามที่พูดอย่างนั้นหรือ
ไม่หรอกครับ
ถึงเวลามีอำนาจอยู่ในมือ ปัญหา ข้อจำกัด มันก็อยู่ในมือเช่นกัน มันต่างกับตอนเป็นฝ่ายค้านราวฟ้ากับเหว
ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยวินิจฉัยการแก้ ม.๑๑๒ แบบก้าวไกล ต่อให้พรรคประชาชนได้ สส. ๕๐๐ เสียง คิดว่าจะแก้ได้อย่างนั้นหรือ
ม็อบเต็มถนน!
ทำเนียบรัฐบาลถูกยึด
ตำรวจห้ามใช้อาวุธ ห้ามใช้แก๊สน้ำตานะครับ เพราะตั้งแต่อนาคตใหม่ ก้าวไกล เคยด่ารัฐบาลที่มีการสลายม็อบด้วยการใช้แก๊สน้ำตาว่า เผด็จการ ทรราช
ฉะนั้นในรัฐบาลพรรคประชาชน ไม่มีหรอกครับการสลายม็อบ
มีแต่สนับสนุนให้ผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลตัวเอง เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ถ้ามีใครมาขัดขวาง รัฐบาลส้มก็จะฟ้องอียู ยูเอ็น อเมริกาให้ประณามสามเวลาหลังอาหาร
ประชดครับ!
แต่มันก็เป็นข้อเท็จจริง เพราะพรรคส้มทำตัวเป็นพระเอกไปเสียทุกเรื่อง ฉะนั้นวันหนึ่งหากมีอำนาจมันจะย้อนเข้าหาตัว
หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยด่าเขามันปาก ถึงเวลามีหน้าที่รับผิดชอบกลับทำไม่ได้ เช่นที่ยกตัวอย่างข้างต้น มันก็บั่นทอนศรัทธา
ศรัทธาที่มีต่อพรรคส้มในวันนี้ เพราะคนเบื่อนักการเมืองหน้าเก่า
คนส่วนมากไม่ได้คาดหวังว่าพรรคส้มจะมาเปลี่ยนอะไรได้มาก แค่ไม่อยากทนอยู่กับการเมืองที่สืบทอดอำนาจโดยสายโลหิตแบบเกาหลีเหนือ
ก็การเมืองแบบนี้แหละครับที่สร้างพรรคส้มขึ้นมา
ถ้าคิดทำลายพรรคส้ม ก็ต้องหยุดการเมืองเฮงซวยเสียก่อน
ยุบไปก็ยักไหล่ไปเรื่อย ไม่จบ!
ตบท้ายเรื่องเบาๆ
มีข่าวเกี่ยวกับประเด็นที่โซเชียลพูดถึงนายกฯ คนที่ ๓๑
ข้อมูลวิเคราะห์จาก ดาต้าเซต เก็บข้อมูลระหว่าง ๑๕-๑๘ สิงหาคม ที่ผ่านมา ผลดังนี้ครับ
Insight ที่น่าสนใจจาก Reaction ของผู้คนบนเฟซบุ๊ก
การวิเคราะห์การแสดงอารมณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับนายกฯ แพทองธารผ่าน Reaction บนเฟซบุ๊ก พบประเด็นที่น่าสนใจ คือโดยปกติผู้ใช้เฟซบุ๊กมักจะกดไลก์ (Like) เพราะกดง่าย แตกต่างจาก Reaction อื่นที่ต้องเลื่อนเพื่อจะเลือก แต่จากการศึกษาโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับนายกฯ แพทองธารซึ่งมี Engagement สูงกว่า ๑๐,๐๐๐ ครั้ง กลับพบว่ามีการกดปุ่ม “หัวเราะ” เฉลี่ยสูงถึง ๒๙% ของ Reaction ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ
การตีความ Reaction “หัวเราะ”:
-ไม่ได้สะท้อนถึงความขบขันจากเนื้อหาโพสต์โดยตรง
-อาจบ่งชี้ถึงทัศนคติเชิงลบต่อนายกรัฐมนตรีและระบบการเมือง
-อาจเป็นการแสดงความไม่เชื่อมั่นหรือการเยาะเย้ย
นัยทางสังคม: การใช้ Reaction “หัวเราะ” บนโซเชียลมีเดียอาจเป็นวิธีที่ผู้คนใช้เพื่อแสดงความรู้สึกอย่างปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับในบริบทของสื่อสังคมออนไลน์ ประเด็นนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงวิธีที่คนไทยในยุคดิจิทัลเลือกแสดงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองผ่านฟีเจอร์ที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
งั้นขอกดปุ่มหัวเราะด้วยคน