ม.มหิดล วิจัยจุดคุ้มทุนรักษา ‘โรคลมชักในเด็ก’ ด้วยวิธีการผ่าตัด เตรียมยกระดับสิทธิการรักษาในเชิงนโยบาย

“โรคลมชัก” (Epilepsy) คือหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อพัฒนาการของลูกน้อย การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค แม้สาเหตุบางส่วนเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยบางรายที่ดื้อต่อยากันชัก สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วย “การผ่าตัด” ซึ่งยังคงมีสิทธิการรักษาที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเพียงบางส่วน จึงได้นำไปสู่การศึกษาถึง “จุดคุ้มทุน” เพื่อผลักดันสู่การยกระดับสิทธิการรักษาในเชิงนโยบาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกิ่งทอง อนุรัตน์ อาจารย์แพทย์ประจำสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันให้การรักษาโรคลมชักในเด็กได้รับการพิจารณายกระดับสิทธิการรักษาในระดับนโยบาย

โดยได้ทำการวิจัยประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการผ่าตัดลมชักในเด็กที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชัก (Cost – Effectiveness Analysis) เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลระหว่างการรักษาโรคลมชักในเด็กด้วยการผ่าตัด กับการรักษาด้วยยากันชัก พบว่าการรักษาโรคลมชักในเด็กด้วยการผ่าตัดมีแนวโน้มคุ้มค่ามากกว่าในระยะยาว เนื่องจากหากผ่าตัดได้ผลดี จะทำให้ครอบครัวผู้ป่วยเด็กโรคลมชักและรัฐบาลไม่ต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากไปกับการรักษาด้วยการรับประทานยารักษาโรคลมชัก เพื่อประคับประคองอาการไปตลอดทั้งชีวิต

อย่างไรก็ดีตามผลงานวิจัยโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกิ่งทอง อนุรัตน์ และคณาจารย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี อาทิ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงลัลลิยา ธรรมประทานกุล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยยศ คงคติธรรม และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์อัตถพร บุญเกิด ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ “Journal of Clinical Neuroscience” ได้มีการเก็บข้อมูลผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ซึ่งอาจจะเป็นข้อกังวลของผู้ปกครอง

พบว่าหากสามารถผ่าตัดรักษาได้เฉพาะจุดโดยไม่กระทบกระเทือนต่อสมองในส่วนอื่น อาจไม่แสดงผลข้างเคียง แต่หากกระทบต่อจุดอื่นด้วย อาจต้องมีการดูแลต่อเนื่องด้วยการทำกายภาพบำบัด ซึ่งส่วนใหญ่ผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย และเป็นชั่วคราว

ซึ่งตามสิทธิการเบิกจ่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กำหนดเพดานของสัดส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (Incremental Cost – Effectiveness Ratio : ICER) สำหรับการรักษาโรคต่างๆ ไว้ที่ 160,000 บาท ต่อ 1 ปีสุขภาวะ หรือปีที่ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Quality – Adjusted Life Year : QALY)

ในขณะที่การผ่าตัดรักษาโรคลมชักรวมทุกประเภท ณ 3 ปี หลังการผ่าตัดเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รักษาด้วยยากันชัก มีสัดส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่มอยู่ที่ 743,040 บาท ต่อ 1 ปีสุขภาวะ แม้ยังห่างไกลจากความเป็นจริงที่จะผลักดันให้มีการยกระดับสิทธิการรักษาในระดับนโยบาย แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยากันชักลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นการติดตามในระยะยาวอาจจะเห็นผลมากขึ้น

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยโรคลมชักจากบริเวณสมองกลีบขมับ (Temporal lobe) ที่ได้รับการผ่าตัด พบว่ากลุ่มนี้มักได้ผลดีจากการผ่าตัดมาก และได้รับผลกระทบหลังการผ่าตัดน้อย มีสัดส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่มเพียง 36,568 บาท ต่อ 1 ปีสุขภาวะ ซึ่งพบว่ามีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับเพดานจุดคุ้มทุนที่กำหนดไว้ของประเทศไทย

คุณค่าที่ได้จากงานวิจัย ไม่เพียงมอบองค์ความรู้ใหม่อันเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ยังช่วยจุดประกายแห่งความหวังให้ผู้ป่วยเด็กโรคลมชักที่ดื้อต่อยากันชัก ได้ห่างไกลจากการทุพพลภาพจากข้อจำกัดด้านพัฒนาการทางสมอง และได้เข้าถึงโอกาสที่จะมีชีวิตและอนาคตที่สดใสเฉกเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

Written By
More from pp
เกินกว่าคำวินิจฉัย #ผักกาดหอม
ผักกาดหอม จบแต่ไม่จบ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวานนี้ (๗ สิงหาคม) มีด้วยกัน ๓ ประเด็น ประเด็นที่ ๑ มีเหตุสมควรยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ....
Read More
0 replies on “ม.มหิดล วิจัยจุดคุ้มทุนรักษา ‘โรคลมชักในเด็ก’ ด้วยวิธีการผ่าตัด เตรียมยกระดับสิทธิการรักษาในเชิงนโยบาย”