3 พฤษภาคม 2567 จากกรณีที่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเตือน ผู้ค้าห้ามขายปลาภายในวัด ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อการทำบุญ เสริมความเป็นสิริมงคล โดยมีการยกข้อกฎหมายและ พ.ร.บ.เกี่ยวกับสัตว์ และผลการประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2561 ซึ่งมีการออกหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติ จนเหตุการณ์ปานปลายจนถึงการทำร้ายร่างกายกันนั้น
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการแลผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า จากกรณีดังกล่าวนั้น ก็ทราบข้อเท็จจริงจากสื่อ ซึ่งรู้สึกว่าไม่ควรจะใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา และควรใช้แนวทางสันติวิธี ข้อกฎหมายที่มีอยู่จะดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและขอเป็นกำลังใจให้
แต่แน่นอนบางกรณีก็อาจจะเป็นเรื่องของการขัดผลประโยชน์ เรื่องของอาชีพ การทำมาหากิน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่ก็ต้องมีวิธีการปรับตัวของการค้าให้เข้ากับสภาพบริบทแวดล้อมทางสังคมและข้อกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งสังคมจะอยู่ร่วมกันได้ก็ควรต้องมีขอบเขตและกติกาของการอยู่ร่วมกันเพื่อความสงบเรียบร้อยและรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน
จากกรณีดังกล่าวนั้น ถ้าในแง่การปล่อยสัตว์ในวัด สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้รณรงค์เรื่องการยุติกับจับสัตว์ในธรรมชาติมาเพื่อปล่อยอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำภาพยนตร์สั้น ปล่อยนกบุญหรือบาป ? หรือรักไม่ปล่อย เพราะการจับสัตว์เพื่อมาปล่อยก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
แม้การปล่อยสัตว์จะเป็นธรรมเนียมการปฏิบัติที่สืบทอดต่อกันมา ที่ถูกยึดโยงกับความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา แต่เนื่องด้วยวัตถุทานคือสัตว์ในปัจจุบันต่างจากอดีต เพราะวิธีการจับสัตว์เพื่อมาปล่อยในปัจจุบัน ก็เป็นการทำลายวงจรชีวิตสัตว์ในธรรมชาติ เช่นจับแม่นก ลูกนกก็ตายหมดทั้งรังเพราะขาดอาหาร จับแม่ปลา ลูกปลาก็ถูกกินทั้งหมดคอกเพราะไม่มีผู้ดูแล
และเป็นการสนับสนุนวงจรธุรกิจค้าชีวิตสัตว์ เป็นการส่งเสริมให้ทำผิดศีลข้อที่ 1 และจะนำมาสู่การทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์โดยไม่สมควร เช่น การจับ การขังเพื่อรอปล่อย ปลา นก เต่า ก็ได้รับความทุกข์ทรมาน จากภาชะ กรงที่คับแคบ แออัด เป็นต้น
โดยสัตว์ที่มีการจับตามธรรมชาติเพื่อมาสู่ธุรกิจเพื่อปล่อย เช่น เต่า หอยขม ปลาไหล ฯลฯ ก็อาจจะทำบุญที่ทารุณสัตว์เช่นกัน เพราะหากปล่อยเต่าในน้ำเชี่ยวที่ไม่มีตลิ่งให้เกาะหรือปล่อยเต่าในน้ำกร่อยตาเต่าจะค่อยๆ บอดและก็จะตายไปในที่สุด หอยขมต้องอยู่ในที่ชื้นแฉะ เช่น บึงคลอง ไม่ใช่แม่น้ำ ปลาไหลก็เช่นกัน อยู่ไม่รอดเช่นกันในน้ำเชี่ยวไหลแรง
และสำหรับปลาที่จับตามธรรมชาติหรือซื้อจากท้องตลาด หรือในบริเวณวัดและปล่อยในแม่น้ำก็เช่นกัน ต้องระวัง เพราะปลาอาจจะช๊อกในน้ำที่มีอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากที่เคยเติบโตมาได้ และปลาบางขนิดปล่อยลงไปก็อาจสร้างปัญหาการรุกรานจากปลาต่างถิ่น การทำลายระบบนิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพได้ ซึ่งขณะนี้เป็นปัญหาอย่างมาก
สำหรับกฎหมายในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ได้กำหนดห้าม ในการล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น นก เต่า บางชนิด ฯลฯ ตามมาตรา 12 ประกอบมาตรา 89 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท การครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 92 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การทิ้งสัตว์หรือการปล่อยสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งได้กำหนดโทษไว้ใน มาตรา 32 ถ้าเจ้าของไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท
สำหรับเรื่องการปล่อยสัตว์ในวัดนั้นเคยมีมติมหาเถรสมาคมฯ ที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ
1.กำหนดเขตอภัยทานในพื้นที่วัด พ.ศ.2538 ข้อ 4 การกำหนดเขตอภัยทานขึ้นไว้ โดยความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์บก สัตว์น้ำ ตลอดถึงปักษีทวิชาติที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย ได้อาศัยด้วยความร่มเย็นเป็นสุขปราศจากการถูกเบียดเบียน หรือรบกวนด้วยประการใดๆ ดังนั้น วัดจึงมีเขตอภัยทาน (animal sanctuary) ซึ่งเป็นเขตที่ห้ามผู้ใดกระทำ อันมุ่งหมายแก่การทำร้ายทำลายชีวิตสัตว์ อันเป็นการกระทำความผิดศีลธรรมเพื่อให้สัตว์ได้อาศัยด้วยความร่มเย็นเป็นสุขปราศจากการถูกเบียดเบียน
2. มติที่ 410/2561 เรื่อง การจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการปล่อยสัตว์ในวัด โดยออกหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติ 3 ข้อ ดังนี้ 1 ให้กำหนดพื้นที่วัดเป็นเขตห้ามเจ้าของสัตว์ นำสัตว์มาปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร 2.ให้กำหนดเขตพื้นที่วัดเป็นเขตห้ามซื้อขายหรือการทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าชีวิตสัตว์ภายในเขตวัด 3.ให้วัดต่าง ๆ ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โดยเคร่งครัด โดยมติดังกล่าวทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีหนังสือ เลขที่ พศ.0006/09315 เรื่อง ขอส่งมติมหาเถรสมาคม แจ้งให้เจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดทราบและถือปฏิบัติตามมติ
อาจกล่าวได้ว่า จากมติมหาเถรสมาคมและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าว วัดนั้นจึงเป็นพื้นที่เขตอภัยทาน สัตว์ที่อยู่ในวัดจะอาศัยอยู่ได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขปราศจาการเบียดเบียน แต่เจ้าของสัตว์นั้นก็ไม่ควรนำสัตว์ของตนมาปล่อย ละทิ้ง ในพื้นที่วัดโดยไม่มีเหตุอันควร เพราะปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดความรับผิดแล้ว และในพื้นที่วัดไม่ควรมีการค้าขายชีวิตสัตว์อันเป็นการกระทำฝ่าฝืนศีลธรรมในวัดอีกด้วย
ดังนั้นเรื่องจากรณีดังกล่าว ในเมื่อวัดมีมติขอความร่วมมือจากผู้ขายสัตว์ภายในวัด ให้ย้ายการขายสัตว์ออกนอกวัด ตามมติเถรสมาคมและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ภายในระยะเวลา 1 เดือนนั้น ผู้ขายก็ควรมีการดำเนินการให้ถูกต้องเหมาะสม ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องก็ควรปฏิบัติกับผู้ค้าอย่างให้เกียรติและช่วยกันหาทางออกร่วมกันเพื่อสร้างสังคมและชุมชน ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป