จาก “แบงก์ชาติ” ถึง “รัฐบาล” – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

ขณะนี้…..
เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า เศรษฐกิจประเทศไทย
“ไม่ได้วิกฤติ”
แต่รัฐบาล “เศรษฐา-เพื่อไทย” กำลังทำให้ประเทศวิกฤติ โดยจะเอาเงิน “งบประมาณแผ่นดิน” และ “ลักหลับ” เงินฝากประชาชนใน “ธนาคารธกส.”
รวม ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ไปแปลงเป็น “โทเคน”

เพื่อแจกคนอายุ ๑๖ ปีขึ้นไป ๕๐ ล้านคน ผ่าน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ตาม “สัญญาว่าจะให้” ของเพื่อไทย ตอนหาเสียง

เมื่อรัฐบาล “จะเอาให้ได้” ก่อนประชุมครม.เมื่ออังคารที่ ๒๓ เมย.ที่ผ่านมา ๑ วัน

“นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ”
“ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท่านร้อนใจ เมื่อเห็นหายนะจากไฟ “ผลาญประเทศ” คืบคลาน จึงทำหนังสือถึง “สำนักเลขาธิการครม.”

เป็น “ความเห็น-ข้อสังเกต-ข้อห่วงใย” ให้ครม.ใช้ประกอบการพิจารณาในที่ประชุม
แต่ครม. “รับฟัง-ตระหนักรู้” แค่ไหน ดูจากที่นายกฯ “อ่านแถลง” หลังประชุม เมื่อวานซืน ก็จะรู้

หนังสือฉบับนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” นำเผยแพร่เป็นข่าวเมื่อวาน
ตราสัญลักษณ์ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เคยเห็นกันใช่มั้ย เป็นรูป “พระสยามเทวาธิราช” พระหัตถ์ขวากำถุงเงิน หมายถึงผู้คุม “ถุงเงินของชาติ”

“พระแสงธารพระกร” ในพระหัตถ์ซ้าย หมายถึงหน้าที่หลักของ “แบงก์ชาติ”
ผู้ว่าฯ “เศรษฐพุฒิ” รวมถึงคนแบงก์ชาติ กำลังทำหน้าที่ตามสัญลักษณ์นั้น “สุดเหนี่ยว-เต็มล้า”

ผมจะ “เก็บความ” ในหนังสือ ๕ หน้า ซึ่งจะเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่อไป มาบันทึกไว้ตรงนี้
ว่า “แบงก์ชาติ” ได้ยืนหยัดทำหน้าที่….

มิติ “พระสยามเทวาธิราช” พระหัตถ์ขวา “กุมถุงเงิน” และพระหัตถ์ซ้ายกระชับ “พระแสงธารพระกร” พิทักษ์ ได้โดยมิหวั่นหน้าไหน เช่นไร
………………………….

“ความเห็น-ข้อสังเกต-ความห่วงใย-ข้อเสนอ” จากผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ถึงครม. “เศรษฐา-เพื่อไทย” เมื่อ ๒๒ เมย.๖๗

“ผู้ว่าฯธปท.-เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” มีข้อเสนอว่า

ควรทำโครงการครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น เพื่อแบ่งเบาค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิผล คุ้มค่าและใช้งบประมาณลดลง

โดยเฉพาะ “กลุ่มเปราะบาง” เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ๑๕ ล้านคน
ทำได้ทันที ใช้งบ ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท

เพราะคนกลุ่มนี้ มีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น มักซื้อสินค้าผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า

-ควรพิจารณาดำเนินโครงการแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อ “เสถียรภาพการคลัง” ด้วย

ความจำเป็นกระตุ้นการบริโภคในวงกว้าง มีไม่มาก โดยในปี ๖๖ การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวได้ที่ร้อยละ ๗.๑ เทียบค่าเฉลี่ยช่วงปี ๕๓-๖๕ ที่ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ ๓ ต่อปี

แจก ๑ หมื่น ก่อภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว หากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody’s ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baal (Rating ไทยปัจจุบัน)ไว้ “ไม่ควรเกินร้อยละ ๑๑”

โครงการแจกนี้ จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์นี้ ในปี ๖๘

หากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ “ต้นทุนการกู้ยืม” ภาครัฐและภาคเอกชน ปรับเพิ่มขึ้น
อาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม

-โครงการนี้ ใช้งบประมาณสูง ทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง

-เสี่ยงจะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับภาวะฉุกเฉิน เพาะเพิ่มวงเงินกู้ ปี งบ ๖๘ ไปเกือบเต็มกรอบกฎหมายกำหนดแล้ว
ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว ๕ พันล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อน ๆ ที่มากกว่า ๑ แสนล้านบาท

-การนำเงินจากงบปี ๖๗ ไปแจก ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีจำเป็นลดลง อาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน
โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ “การเมืองโลก” ที่มีความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น

-ควรพิจารณาถึงความคุ้มค่า ด้วยการนำงบ ๕ แสนล้าน ไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหา “เชิงโครงสร้าง”
และยกระดับ “ศักยภาพทางเศรษฐกิจ” ประเทศระยะยาว

ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่

-โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้วงเงินเฉลี่ย ๓.๘ ล้านบาท/ตำแหน่ง) จะสร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า ๑๓๐,๐๐๐ ตำแหน่ง

-โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (๘๓,๐๐๐ ล้านบาท/ปี) จะสนับสนุนได้นานถึง ๖ ปี

-โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม – ชุมพร (๔๐,๐๐๐ล้านบาท/สาย) จะพัฒนาได้กว่า ๑๐ สาย

-โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (๑๙๐,๐๐๐ ล้านบาท/สาย) จะพัฒนาได้กว่า ๒ สาย

แหล่งเงินโครงการแจก ๕ แสน มีที่มาจากงบรายจ่ายต่างปี, ต่างประเภท

และอีกส่วนหนึ่ง มาจากการให้หน่วยงานของรัฐจ่ายไปก่อน รัฐบาลจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ทีหลัง
ตามมาตรา ๒๘ พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ การใช้เงินงบจากแหล่งต่าง ๆ
ต้องสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

-สิทธิการใช้จ่ายภายใต้โครงการแจก ๑ หมื่น จะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา

โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้น จะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน มีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงการ

หากรัฐบาลยังไม่สามารถ earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการด้วยเหตุใดๆ

เช่น ไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ ตามเงื่อนไขของกฎหมายหรือมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ
จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับ
เป็นการ “สร้างวัตถุ” หรือ “เครื่องหมาย” แทนเงินตรา
ผิดตามมาตรา ๙ พรบ.เงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑

-การให้ ธ.ก.ส.ร่วมสนับสนุนแจก ๑ หมื่น ควรมีความชัดเจนทางกฎหมาย ว่าการดำเนินการนั้น อยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ
และอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา ๙,๑๐ พรบ.ธนาคารธกส.ประกอบกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

-การ “เติมเงิน” ให้เกษตรกร “ต้องแยกส่วน” จากการ “เติมเงิน” ให้ “ประชาชน” ทั่วไป ให้ชัดเจน
ทั้งต้องจำกัดขอบเขตการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการ “ใช้งบประมาณผิดประเภท”
เพื่อให้เป็นไปด้วยความถูกต้องและรอบคอบ

เสนอให้ครม.มอบหมายให้ “กระทรวงคลัง” หารือ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ก่อน
ดังที่เคยหารือเช่นกรณี “ธนาคารออมสิน” ตามมาตรา๗ พรบ.ธนาคารออมสิน ซึ่งทำมาแล้ว

ธปท.มีข้อกังวล ว่า….
การที่รัฐบาลจะใช้เงินธกส.ขณะนี้ รัฐบาลยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส.กว่า ๘ แสนล้านบาท
อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. อย่างมีนัยสำคัญ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน

จึงควรมีแนวทางชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้แก่ ธ.ก.ส.พร้อมทั้งรับฟังความเห็นบอร์ด ธ.ก.ส.ก่อน

ผู้พัฒนาและดำเนินการระบบจิทัลวอลเล็ต ๑ หมื่น มีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก
จึงต้องเป็นระบบมีประสิทธิภาพ เสถียร มั่นคง ปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ

ธปท.มีข้อห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ ดังนี้

-ควรใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ปัจจุบัน เช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่เกิดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่

-เงื่อนไขการใช้สิทธิ ซับซ้อนในหลายมิติ รวมทั้งระบบจะมีลักษณะเป็นระบบเปิด ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการที่หลากหลาย
จึงควรต้องกำหนดโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน และการทดสอบที่รัดกุมครบถ้วน
เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ อันจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ

-ควรคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของระบบและข้อมูล ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงาน และข้อมูลความต่อเนื่องการให้บริการ การจัดการ การเข้าถึงข้อมูลธุรกรรม และการป้องกันภัยไซเบอร์ที่เข้มงวด รวมทั้งมีกระบวนการพิสูจน์,ยืนยันตัวตนของประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐาน ตามระดับความเสี่ยงของภาคการเงินด้วย

-ผู้พัฒนาระบบ ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาระบบที่เป็น Open-loop
เพื่อให้ระบบสอดคล้องกับมาตรฐานข้างต้นและดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่จำกัด

จากตัวอย่างที่ผ่านมา แบงก์พาณิชย์ ต้องใช้บุคลากรมีความเชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงินจำนวนมาก และใช้เวลาพัฒนาต่อเนื่อง มากกว่า ๑ ปี

-ต้องดูแลระบบที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก
สามารถดูแลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้รวดเร็ว เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายของประชาชนติดขัด

หรือเกิดการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขโครงการ -ในกรณี มีการโจมตีทางไซเบอร์ หรือมีการรั่วไหลของข้อมูลธุรกรรมหรือข้อมูลส่วนบุคคล จะต้องสามารถหยุดยั้งและแก้ไขเหตุได้อย่างทันท่วงที
การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต

หน่วยงานที่รับผิดชอบ ควรกำหนดกลไกในขั้นตอนต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม

-โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการ ให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด

-การป้องกันลงทะเบียนเป็น “ร้านค้าปลอม” การกำหนดประเภท/ขนาดร้านค้า,ประเภทสินค้าต้องห้ามและฯลฯ -การตรวจสอบว่ามีการซื้อขายสินค้าจริงและป้องกันไม่ให้มีการขายลดสิทธิ์

ด้วยเหตุผลและข้อสังเกตข้างต้น ธปท.จึงมีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและรายละเอียดต่างๆ ของโครงการแจก ๕ แสนล้าน

เป็นโครงการมีรายละเอียด การดำเนินการซับซ้อน ใช้งบประมาณจำนวนมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระการคลังของประเทศในระยะยาว

มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ควรรอบคอบระมัดระวัง มีกระบวนการที่ถูกต้องรัดกุม

จึงเสนอให้ครม.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม

พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่างๆให้เป็นรูปธรรมด้วย

ก่อนที่ครม.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อไป
………….
“แบงก์ชาติ” อย่าลด “พระแสงธารพระกร” ในมือลงเป็นขาดเชียวนะ…ท่าน!

เปลว สีเงิน
๒๕ เมษายน ๒๕๖๗

Written By
More from plew
๑๗-๑๘ พย. “ซอมบี้” เริงเมือง
เปลว สีเงิน พรุ่งนี้-ปะรืน ๑๗-๑๘ พย. สมาชิกรัฐสภาจะประชุมเพื่อโหวตรับ/ไม่รับ “ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ทั้งหมด ๗ ญัตติ มีทั้งของรัฐบาล ฝ่ายค้าน...
Read More
0 replies on “จาก “แบงก์ชาติ” ถึง “รัฐบาล” – เปลว สีเงิน”