การรับประทานอาหารและเก็บรักษาอย่างถูกวิธี ในช่วงฤดูร้อน

นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ย้ำ ฤดูร้อนอาหารเสียง่าย ควรใส่ใจในการรับประทานอาหาร ย้ำยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และควรกินอาหารปรุงสุก เสร็จใหม่ หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุก ๆ ดิบๆ เพื่อความปลอดภัย

ดร.วนะพร ทองโฉม นักสุขศึกษา (นักกำหนดอาหารวิชาชีพ) งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ฤดูร้อน เป็นช่วงเวลาที่มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ผู้บริโภคควรระวังการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรคในอาหารและน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อและเกิดโรคท้องร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไทฟอยด์และอหิวาตกโรค

สุขอนามัยพื้นฐานของการรับประทานอาหารอย่างปลอดภัย คือ การปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนสูงในระดับที่สามารถทำลายเชื้อก่อโรคต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนมากับอาหารได้ ผู้บริโภคควรรับประทานอาหารหลังจากปรุงสุก เสร็จใหม่ ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุกๆ ดิบ ๆ และหากต้องกินอาหารร่วมกันกับผู้อื่นควรใช้ช้อนกลาง และก่อนกินอาหาร ต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อลดสื่อนำโรคติดต่อจากอาหารและน้ำ

นอกจากนี้ อาหารที่ปรุงสุกแล้ว ไม่ควรวางไว้ที่อุณหภูมิปกติเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เพราะอุณหภูมิที่จุลินทรีย์และแบคทีเรียก่อโรคขยายตัวได้ดี คือ “ช่วงอุณหภูมิอันตราย” (Danger Zone) ระหว่าง 5-60 องศาเซลเซียส หมายความว่า อาหารที่อยู่ในอุณหภูมิช่วงนี้ แบคทีเรียจะสามารถเติบโตและเพิ่มปริมาณได้ดี ทำให้เชื้อเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุของอาหารบูดเสีย ผู้ที่รับประทานอาหารเหล่านี้เข้าไปจะเกิดอาหารเป็นพิษได้

องค์การอนามัยโลกและกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ไม่ควรทิ้งอาหารไว้ที่อุณหภูมิปกติเกิน 2 ชั่วโมง และหากอุณหภูมิเกิน 32 องศาเซลเซียส ไม่ควรทิ้งอาหารไว้เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งสภาพอากาศในประเทศไทยโดยเฉพาะฤดูร้อนอุณหภูมิมักจะสูงเกิน 32 องศาเซลเซียส จึงไม่ควรวางอาหารปรุงสุกแล้วไว้ที่อุณหภูมิปกติเกิน 1 ชั่วโมง เนื่องจากจุลินทรีย์มีอยู่ทั่วไปและสามารถขยายตัวในอาหารที่ตั้งทิ้งไว้ได้

สำหรับวิธีการเก็บรักษาอาหาร แนะนำการแช่เย็น ที่อุณหภูมิต่ำกว่าหรือเท่ากับ 4 องศาเซลเซียส เพราะจุลินทรีย์และแบคทีเรียเติบโตได้ช้าลง ขณะที่การแช่แข็ง อุณหภูมิเท่ากับหรือต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียส จะหยุดการเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้เก็บอาหารได้นานขึ้น โดยทั่วไปตู้เย็นในช่องแช่เย็นจะมีอุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส และช่องแช่แข็งจะอยู่ที่ประมาณ -20 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม การเก็บอาหารที่อุณหภูมิต่ำทั้งการแช่เย็นและการแช่แข็งไม่ได้เป็นการทำลายหรือกำจัดเชื้อแบคทีเรีย แต่เป็นพียงการชะลอหรือยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียเท่านั้น ซึ่งอาหารแช่เย็นยังมีวันหมดอายุและเน่าเสียได้ ในกรณีอาหารที่ปรุงประกอบด้วยส่วนผสมหลายอย่าง ให้ยึดระยะเวลาของส่วนผสมที่เสียเร็วที่สุดเป็นเกณฑ์

ส่วนการทำอาหารในปริมาณมากและต้องการแบ่งอาหารเก็บไว้รับประทานหลายมื้อ ควรแบ่งใส่ภาชนะในสัดส่วนขนาดพอดีมื้อ ปิดให้มิดชิด และนำเข้าเก็บในช่องแช่แข็งหรือแช่เย็นภายใน 1 ชั่วโมง หากรับประทานอาหารไม่หมดและต้องการเก็บอาหารไว้รับประทานในมื้อต่อไป ควรอุ่นร้อนอาหารนั้นก่อน เพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อนมาในอาหาร และเมื่ออาหารอุณหภูมิเย็นลงแล้วให้แบ่งเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บเข้าตู้เย็นภายใน 1 ชั่วโมง เช่นกัน โดยสามารถเลือกเก็บได้ทั้งการแช่แข็งและการแช่เย็น ตามเวลาที่ต้องการเก็บรักษาอาหารนั้น

ขณะเดียวกัน ก่อนการรับประทานอาหารปรุงสุกที่ทำไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง หรือเก็บค้างคืนไว้ในตู้เย็น ต้องนำมาอุ่นด้วยความร้อนอย่างทั่วถึง ที่อุณหภูมิอย่างน้อย 74 องศาเซลเซียส หรืออุ่นจนกระทั่งเดือด เพื่อให้เพียงพอที่จะทำลายเชื้อแบคทีเรีย

Written By
More from pp
พีทีที สเตชั่น ร่วมสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงมูลค่า 3 ล้านบาท ให้กับโครงการ “ONE MAN & THE SEA” ของ โตโน่ ภาคิน
นางพรรณวดี พุฒยางกูร ผู้จัดการฝ่ายการตลาดค้าปลีกน้ำมัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ มอบน้ำมันเชื้อเพลิง อัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล บี10 (UltraForce Diesel B10) มูลค่า 3,000,0000 บาท ให้ นายภาคิน คำวิลัยศักดิ์ หรือ โตโน่ สำหรับใช้ในโครงการ “ONE...
Read More
0 replies on “การรับประทานอาหารและเก็บรักษาอย่างถูกวิธี ในช่วงฤดูร้อน”