ความจริง ไทย-กัมพูชา – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

“…ขอให้เอาความจริงมาพูดกัน…”

เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ “นพดล ปัทมะ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยุคที่ไปลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Communiqué) สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เพียงฝ่ายเดียว

ฉะนั้นก็ต้องพูดความจริงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

เพราะอดีตที่ขุ่นมัว ความไว้วางใจในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยถึงได้ต่ำเตี้ย

ความเคลื่อนไหวเพียงน้อยนิด ที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกัมพูชาจึงเป็นที่จับตามอง เพราะไม่อาจทราบได้ว่า ในอนาคตจะกลายเป็นเรื่องใหญ่หรือไม่

แต่ในอดีตมันเกิดขึ้นมาแล้ว

ย้อนกลับไปอีกทีครับ ช่วงปี ๒๕๔๘-๒๖๔๙ กัมพูชาดำเนินการฝ่ายเดียวในการยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

ขณะที่ไทยได้มีบันทึกช่วยจำ ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ประท้วงการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยประชุมที่ ๓๑ ระหว่างวันที่ ๒๓ มิถุนายน-๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ที่เมืองไครสต์เชิร์ช (Christchurch) ประเทศนิวซีแลนด์ ได้มีการบันทึกไว้ว่า กัมพูชาและไทยตกลงกันว่ากัมพูชาจะเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ในสมัยประชุมที่ ๓๒ ของคณะกรรมการมรดกโลก ในปี ๒๕๕๑

รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เข้ารับหน้าที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

ถัดมาไม่กี่วัน คือ วันที่ ๓-๔ มีนาคม ๒๕๕๑ “สมัคร สุนทรเวช” และคณะ เดินทางไปเยือนกัมพูชา ในการหารือกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในขณะนั้น มีการหารือเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

“วีรชัย พลาศรัย” อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในขณะนั้น ได้มีบันทึกลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๑ เสนอการประเมินผลการดำเนินการตามแผนรักษาสิทธิของไทยกรณีกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อ “นพดล ปัทมะ”

โดยประเมินผลตามขั้นตอนที่ ๑ การเจรจาทำความตกลงทวิภาคีเรื่องการบริหารจัดการร่วมกันกับกัมพูชา โดยฝ่ายไทยได้ปรับร่าง joint statement ให้ฝ่ายกัมพูชาพิจารณาเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๑ และทาบทามให้มีการเจรจาจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ

คาดว่าฝ่ายกัมพูชาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเจรจาทวิภาคี และมุ่งบีบไทยในเวทีพหุภาคี ซึ่งเชื่อว่าจะมีแรงสนับสนุนมากกว่าฝ่ายไทย

และเสนอแนะเห็นควรเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนที่ ๒ ในกรอบพหุภาคี โดยจัดทำและบรรจุข้อบทรักษาสิทธิของไทยไว้ในข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลก และหากโอกาสอำนวยอาจพิจารณาหาทางให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๒ เลื่อนการพิจารณาออกไปอีกครั้งหนึ่ง โดยเสนอตามลำดับชั้นเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

แต่ “นพดล ปัทมะ” ได้เก็บเรื่องไว้ไม่สั่งการใดๆ จนกระทั่งวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จึงได้ส่งแฟ้มเรื่องคืน

๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ “นพดล ปัทมะ” เจรจาหารือกับ “สก อาน” รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่สำนักงานใหญ่ ยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้จัดทำร่างแถลงการณ์ร่วม (Joint Communiqué) โดยไทยสนับสนุนกัมพูชาในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ มีการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอร่างแถลงการณ์ร่วม พร้อมแผนที่แนบท้าย ให้ที่ประชุมพิจารณา

“นพดล ปัทมะ” เสนอต่อที่ประชุมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อ่อนไหวต่อมวลชนทั้งในประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ และประเทศกัมพูชา เพื่อมิให้มีผลกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา จึงได้ขอความกรุณาท่าน ผบ.สูงสุด ได้กำชับแหล่งข่าวบางแหล่ง มิได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น นอกจากเรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว และกัมพูชาจะมีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ประเด็นนี้อาจจะใช้เป็นประเด็นในทางการเมืองของเขา และอาจมีผลอย่างที่สถานทูตเราเคยถูกเผาเมื่อหลายปีก่อน ขอความกรุณาให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ ถือเรื่องนี้เป็นเรื่องลับ และขอความกรุณาจากทุกหน่วยงานระมัดระวังในการให้สัมภาษณ์ด้วย และยังได้กล่าวถึงกรณี “สมปอง สุจริตกุล” ซึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูต ไปเขียนบทความใน “ไทยโพสต์” ลักษณะว่าไทยกำลังจะเสียดินแดน บทความนี้สร้างความสับสนให้กับประชาชน คล้ายกับว่าไทยยังเป็นเจ้าของปราสาทอยู่

“สมัคร สุนทรเวช” นายกรัฐมนตรี ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สอบถามว่า ตกลงประชุมวันนี้ก็ไม่แถลงเหรอ

“นพดล ปัทมะ” แจ้งว่า แถลงแค่เพียงว่าเราไปตรวจสอบแผนที่แล้ว เรารับได้ แต่เราจะไม่บอกว่าเราไปกดดันให้เขาแก้ไขอะไรต่างๆ เขายอมเรา

“สมัคร สุนทรเวช” แจ้งว่า มันเป็นเรื่องใหญ่นะ เขาจะเอาออกจากตำแหน่งนะ

“นพดล ปัทมะ” ตอบว่า ไม่เป็นไร

“สมัคร สุนทรเวช” จึงบอกว่า เมื่อครั้งไปแนะนำตัวได้พูดจากันถูกอัธยาศัย สิ่งหนึ่งที่คุณฮุน เซน เขาปรับทุกข์ก็คือ ขอให้เราช่วยอนุเคราะห์เขาหน่อย เขาต้องทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อผลการเลือกตั้ง

ครับ…ข้อมูลอีกมุมพอคร่าวๆ เรื่องนี้เป็นมหกรรมการเมืองทั้งในไทย และระหว่างไทยกับกัมพูชา

มีจุดสิ้นสุดของเรื่องในหลายประเด็น อาทิ

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่า คําแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Communiqué ฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางอีกด้วย ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติ ๖ ต่อ ๓ เห็นว่า พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลย (นพดล ปัทมะ) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และไม่มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ พิพากษาให้ยกฟ้อง

ศาลโลก กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ พิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยศาลโลกไม่ได้ตัดสินให้กัมพูชาได้รับพื้นที่ทับซ้อน ๔.๖ ตร.กม. พื้นที่ “ภูมะเขือ” ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน หรือให้ใช้มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒ แสน

และศาลโลกยังแนะนำให้ทั้ง ๒ ฝ่ายร่วมมือกัน ในฐานะเป็นมรดกโลก

วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาฝ่ายเดียว ให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

เมื่อมีข่าวพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล โดยที่กัมพูชาหลับตาขีดเส้นเฉือนเกาะกูดของไทย ในบรรยากาศการเมืองที่นักการเมืองไทย-กัมพูชา มีความชอบพอกันเป็นพิเศษ จึงอดคิดไม่ได้ว่า MOU 44 จะซ้ำรอยแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือไม่

นี่คือความจริงในอดีตและปัจจุบัน

ความจริงในอนาคต จับตาอย่ากะพริบ

ไทยจะเสียเหลี่ยมกัมพูชาอีกรอบหรือไม่

Written By
More from pp
ระวัง..ศรัทธาผู้ชม?
ด่า ประณาม หยามหยันเขาเช้า-เย็น-ค่ำ.. พอโดนทหารสวนกลับเอาบ้าง นักการเมือง (บางคน) ก็ร้องโวยวาย อ้าง..ก้าวก่ายการเมือง ผิดวินัยกลาโหม! เนี่ย..ตกลงนักการเมืองเป็นอาชีพที่มี “อภิสิทธิ์” เหนือผู้อื่นหรืออย่างไร...
Read More
0 replies on “ความจริง ไทย-กัมพูชา – ผักกาดหอม”