ผักกาดหอม
อยากจะเขียนสั้นๆ จบใน ๒ บรรทัด
เพราะแค่ ๒ บรรทัด มันจบจริงๆ
จบแบบจะมีคนติดคุกหลังจากนี้
มันมีหลักฐานสามารถกล่าวหาได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โรงพยาบาลตำรวจ กรมราชทัณฑ์ สมคบคิดกันทำความผิด เพื่อไม่ให้ “นักโทษชายทักษิณ” เข้าคุก
หลักฐานที่ว่านี้บอกเลย หนาวแน่….
ไม่มีใครสามารถทำลายได้ จะเอาไปซุกที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะมันก็คือตัว “นักโทษชายทักษิณ” นั่นแหละครับ
จะเพราะความเหิมเกริม หรือขี้อวด ก็ตามแต่ เราได้เห็นกันแล้วว่า สภาพของ “นักโทษชายทักษิณ” วันที่ออกจากโรงพยาบาลตำรวจนั้นเป็นอย่างไร
ไม่อยู่ในสภาพที่ต้องมีแพทย์คอยประกบเพราะอาการเป็นตายเท่ากันเลย
มาถึงจุดสำคัญ ที่ รัฐมนตรียุติธรรม หมอใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ต้องชี้แจงให้กระจ่าง ไม่งั้นมีโอกาสติดคุก
อ่านดีๆ นะครับ…
คำถามคือ “นักโทษชายทักษิณ” “มีสภาพ” ตามที่ออกจากโรงพยาบาลตำรวจมาแล้วระยะเวลาเท่าไหร่
๑ ชั่วโมง ก่อนออก
๑ วัน ก่อนออก
๑ สัปดาห์ ก่อนออก
๑ เดือน ก่อนออก
หรือเป็นแบบนี้มาตั้งแต่วันที่เข้าไปนอนตากแอร์ ชั้น ๑๔
ที่จริงมีการตั้งข้อสังเกตกันเยอะนะครับว่าภาพแรกที่เห็น รวมถึงภาพที่นั่งริมสระบ้านจันทร์ส่องหล้า “นักโทษชายทักษิณ” ไม่ใช่ผู้ป่วยวิกฤต ที่แพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเลย
ยกมาสัก ๑ โพสต์ จาก “วิรังรอง ทัพพะรังสี”
———————
“…ข้อสังเกต จากภาพข่าว วันที่นักโทษชาย ทักษิณ ชินวัตร กลับจากโรงพยาบาลได้กลับไปพักโทษที่บ้าน ทั้งที่กรมราชทัณฑ์เพิ่งประกาศป่วยขั้นวิกฤตไม่นานนี้
๑.ไม่มีลักษณะของผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤตเลย ไม่มีสายออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ เป็นต้น
๒.ลักษณะการนั่งในรถยังสามารถทรงตัวได้เองและโน้มตัวมาข้างหน้าได้ แม้จะใส่ปลอกคอก็ไม่ได้เอนหลังหรือเอนศีรษะพิงเบาะรถ แสดงว่าขณะนี้ สุขภาพไม่ได้ป่วยหนัก เพราะถ้าป่วยหนัก จะไม่สามารถทรงตัวได้เองเช่นนั้น คนป่วยควรจะปรับเก้าอี้เป็นนอนหรือเอนมากกว่านี้ และมักจะไม่สามารถทรงตัวนั่งหรือตั้งคออยู่ได้ ส่วนใหญ่จะต้องพิงหลังและศีรษะกับที่นั่ง
๓.มีภาพแสดงให้เห็นว่าสามารถเอียงคอ และหันหน้าไปมองทางอื่นได้เอง แสดงว่าการรับรู้และการเคลื่อนไหวใบหน้าและลำคอไม่มีปัญหา
๔.ไม่มีลักษณะของคนกล้ามเนื้อแขนขาลีบเหมือนผู้ป่วยที่นอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ต่างจากผู้ป่วยอาการหนักที่รักษาตัวในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่แทบจะไม่สามารถพยุงตัวช่วยตัวเองได้ นี่อ้างว่ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลถึง ๖ เดือนและอยู่ในขั้นวิกฤต แต่ลักษณะร่างกายกล้ามเนื้อกลับแข็งแรงสมบูรณ์ชัดเจน
๔.ไม่ได้ตัดผมตามระเบียบนักโทษทั่วไป แต่ได้รับการตัดเล็มผมอย่างดีผิดแผกจากนักโทษอื่น
๕.ผู้ป่วยสูงอายุที่มีอายุเกิน ๗๐ ปีที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง ๖ เดือน แต่ผมดำสนิทไม่มีผมหงอก ทำให้เข้าใจว่าทางโรงพยาบาลคงตัดและย้อมผมหงอกให้ในห้องผู้ป่วย…”
——————-
ไม่ทราบว่าแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ วินิจฉัยโรคอย่างไร
แต่ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยเห็นว่า สีหน้า ท่าทาง ล่าสุดของ “นักโทษชายทักษิณ” ไม่ใช่ผู้ป่วยวิกฤต ที่้โรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์รับมือไม่ได้
แล้วทำไมไม่ส่งตัวกลับเรือนจำ ก่อนที่จะได้รับการพักโทษ
ทำไมปล่อยให้นักโทษป่วยธรรมดา หรือผ่านระยะวิกฤตไปแล้ว รักษาตัวนอกเรือนจำต่อ
กลับไปดู กฎกระทรวง ว่าด้วยการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ จะพบว่า มีโอกาสสูงครับที่จะมีคนติดคุกแทน “นักโทษชายทักษิณ” จริงๆ
ต้องฟ้องครับ จะได้เรียกหลักฐานจากโรงพยาบาลตำรวจทั้งหมดมาดูให้หายสงสัย
แต่หาก “นักโทษชายทักษิณ” ป่วยหนักจริง ที่เราเห็นนั่งปล่อยอารมณ์ที่ริมสระนั้น แท้จริงแล้วยังวิกฤตเป็นตายเท่ากัน เพราะยังรักษาไม่หาย แพทย์ทำได้แค่ประคับประคองตามที่แถลงกันมาตลอด ก็น่าเห็นใจครับ
และขออภัยอย่างสุดซึ้งที่วิจารณ์สุ่มหกสุ่มแปด
จะเกี่ยวกันหรือไม่ ก็ไม่ทราบได้ มีบทความจากแพทยสภา เผยแพร่หลายปีมาแล้ว อาจจะพอเทียบเคียงได้
————————-
…เมื่อคนไข้ป่วยหนักด้วยโรคที่รักษายาก บ่อยครั้งที่..ความต้องการและเสียงเรียกร้องของเขาจะไม่มีใครได้ยิน
นั่นเพราะทุกคน กำลังพุ่งเป้าหมายไปที่การจัดการโรค..ให้หาย มากกว่าการจัดการชีวิต..ให้มีคุณภาพ Palliative care หรือ การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง หรือบางโรงพยาบาลอาจเรียกว่า ชีวาภิบาล เป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคที่รักษายาก ไม่ใช่การรักษาเพื่อยื้อชีวิต แต่เป็นการป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมานต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นการดูแลแบบองค์รวมทั้งทางกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ ของทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัว
เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับทุกคน
Palliative care Team จะเป็นการทำงานแบบสหสาขาวิชา ทั้งหมอ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ อาสาสมัคร ฯลฯ มาร่วมกันเป็นทีมพี่เลี้ยง เพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับไปใช้ชีวิตเต็มที่ที่บ้านตามต้องการ และครอบครัวก็สามารถดูแลผู้ป่วยได้
ผู้ป่วยหลายคนเมื่อรู้ความจริงว่า รักษาไปก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย แค่อาจยืดชีวิตไปได้บ้างเท่านั้น เขาจะเลือกกลับไปใช้ชีวิต เพราะผู้ป่วยมักจะเข้าใจในสัจธรรมและรับได้ว่าเวลามีจำกัด ฉะนั้นการเลือกใช้ชีวิตเต็มที่ จึงดีกว่าการเสียเวลาในโรงพยาบาล
และในการพยายามยื้อความตายด้วยเทคโนโลยีนั้น ผู้ป่วยก็จะต้องอดทนและเจ็บตัวในสิ่งที่เขาอาจไม่ได้เป็นผู้เลือก แต่มีคนอื่นเลือกให้แทน ด้วยความปรารถนาดี
นอกจากจะเป็นการทรมานต่อผู้ป่วยแล้ว บ่อยครั้งยังเป็นการสร้างปัญหาระยะยาวให้กับครอบครัวด้วย เพราะการยื้อชีวิตในช่วงสุดท้ายต้องทุ่มเททรัพย์สินเงินทองอย่างมากมายไปกับการรักษาในโรงพยาบาล ที่อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่ก่อให้เกิดหนี้สิน
นั่นเพราะเราลืมไปแล้วว่า..ความกตัญญูไม่ได้มีรูปแบบเดียว
การให้โอกาสผู้ป่วยได้ออกแบบความตายด้วยตัวของเขาเอง อาจเป็นความกตัญญูในอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยการอนุญาตให้ช่วงสุดท้ายของชีวิต ดำเนินไปตามธรรมชาติ โดยมีหมอและพยาบาลประคับประคอง ช่วยบำบัดความปวดให้กับผู้ป่วย ให้เขาได้จากไปอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่ทุกข์ทรมาน
ในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ Palliative care อาจเป็นคำตอบหนึ่งให้ทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และวงการสาธารณสุขของไทยก็เป็นได้….
————————–
ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ไม่น่าจะมีใครต้องติดคุกแทน
แต่…ยากครับที่คนนอนเป็นผักในโรงพยาบาล พอได้พักโทษปุ๊บจะแข็งแรงนั่งตัวตรงขึ้นมาทันที
ครับ…ต้องมีคนติดคุก
ร้อยบาทเอาขี้หมากองเดียว