ถ้าพูดถึงคำว่า “วิศวกร” บางคนอาจจะนึกถึงแต่ผู้ชาย แต่วันนี้แอดมินจะพาทุกคนมารู้จัก “วิศวกรสาวของบีทีเอส” กันครับ
คุณอุไรรัตน์ รักชาติ (ยุ้ย), คุณกัญญารัตน์ ตรัยรัตนากร (ฟ้า) ทั้งสองคนเป็นสาววิศกรสาวหนึ่งเดียวในทีมวิศวกรส่วนงานวิศวกรวางแผนซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และวิศวกรซ่อมบำรุงอิเล็กทรอนิกส์
พี่ยุ้ย ทำงานกับบีทีเอสมา 10 ปีแล้ว อยู่ในส่วนงานวางแผนซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า น้องฟ้า ทำงานมา 4 ปี อยู่ในส่วนงานซ่อมบำรุงอิเล็กทรอนิกส์
“พวกเราเป็นผู้หญิงคนเดียวในทีมการทำงานค่ะ”
พี่ยุ้ยเล่าให้แอดมินฟังว่า “มีหน้าที่ดูแลการทำงานของระบบรถไฟฟ้า ตรวจสอบความปลอดภัยของรถก่อนออกให้บริการ ส่วนตัวเป็นคนที่ลุยๆ ชอบความท้าทาย มองว่าการทำงานด้านวิศวกรเป็นงานที่ถนัด เลยเลือกที่จะเรียนด้านนี้ค่ะ”
ตอนเรียนถามว่ายากไหม…? “ตอบเลยว่ายากมาก (หัวเราะ) แต่พอมาทำงานก็รู้สึกว่าจริงๆ ไม่มีอะไรยาก มันอยู่ที่การฝึกฝน พยายาม และความมุมานะของเรามากกว่า”
“การเป็นวิศวกรอยู่ที่บีทีเอสเป็นความภูมิใจของยุ้ยค่ะ เพราะบีทีเอสเป็นบริษัทที่มั่นคง มีความก้าวหน้าในหน้าที่การทำงาน”
มีหลายคนมองว่าส่วนน้อยที่ผู้หญิงจะมาเป็น วิศวกร ยุ้ยมองว่าโลกค่อนข้างเปิดกว้างให้กับทุกคน ผู้หญิงอาจมีจุดด้อยเรื่องภาระกำลัง แต่ในเรื่องไอเดีย และการสื่อสาร ผู้หญิงก็มีไม่แพ้เช่นกัน “พอได้มาทำงานร่วมกันแล้ว ทุกอย่างลงตัว ทุกคนช่วยกันไม่มีการแบ่งแยก งานออกมาได้ดีเลย”
และในส่วนของน้องฟ้า ก็ได้เล่าให้ฟังเช่นกันว่า
“ฟ้าก็เป็นอีกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของวิศกรบีทีเอสที่เป็นผู้หญิง โชคดีที่นี่ให้โอกาสพอฟ้าเรียนจบก็เริ่มทำงานที่นี่เป็นที่แรก ชอบการทำงาน ชอบความเป็นทีม และรู้สึกดีนะคะที่มีคนเรียก เราว่าเป็นสาววิศวกรบีทีเอสค่ะ”
“ในส่วนของการทำงาน ฟ้าจะทำหน้าที่ดูแลในส่วนของอุปกรณ์ต่างๆ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ประตูอัตโนมัติ จนถึงตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารค่ะ วันแรกจนวันนี้การทำงานด้านวิศวกรไม่เคยมีอุปสรรคกับเรื่องเพศเลย ถึงคนจะมองว่า มีผู้หญิงที่เป็นวิศวกรน้อย แต่ภูมิใจค่ะ (หัวเราะ)”
“สังคมเดี๋ยวนี้เท่าเทียม กันไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ถ้าฝันอยากจะเป็นวิศวกร ทุกคนก็เป็นวิศกรที่ดีได้ และงานทุกอย่างต้องพึ่งพากันค่ะ”
เนื่องในวันสตรีสากล ฟ้าขอฝากถึงน้องๆ ผู้หญิง ที่ตอนนี้เรียนอยู่ และไฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร
“ขอให้น้องๆ ตั้งใจ เพศไม่ใช่ตัวกำหนด แต่สิ่งที่จะกำหนดว่าเราจะทำอะไรได้ดี คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจ และความอดทนค่ะ”