ผักกาดหอม
ลุ้นกันตัวโก่ง
เมื่อไหร่พรรคก้าวไกลจะพูดถึง “ชั้น ๑๔”
ตายตาหลับแล้วครับ
มีคนพูดแล้ว!
“รังสิมันต์ โรม” สร้างปรากฏการณ์อันเหลือเชื่อ พูดถึงสิทธิพิเศษของคนชั้น ๑๔
ต้นตอของเรื่องมาจาก การเดินสายพูดคุยเรื่องแนวทางนิรโทษกรรมของ “ชัยธวัช ตุลาธน” ที่ตกเป็นข่าวเกรียวกราวจากการไปพบ “พุทธะอิสระ”
ก็กะเกณฑ์กันว่า พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จะสามารถสร้างความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนทุกฝ่าย ทุกสีเสื้อ
อะไรที่เคืองแค้นกันก็น่าจะจบลงได้
สวนทางกลับหลังหันเลยครับ
ใส่กันไฟแลบ
ก็เพราะชั้น ๑๔ นี่แหละ
ต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจกันก่อน เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล นำโดย “ชัยธวัช ตุลาธน” ยื่นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีการเมืองต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร
สาระสำคัญคือให้ ย้อนหลังตั้งแต่ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน
มีเงื่อนไขไม่นิรโทษกรรมให้บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม
ใครเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง
การชุมนุมปี ๒๕๔๙ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือคนเสื้อเหลือง
การชุมนุมระหว่างปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. หรือคนเสื้อแดง
การชุมนุมระหว่างปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ ของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.
การชุมนุมระหว่างปี ๒๕๕๗-ปัจจุบัน ของกลุ่มต่อต้าน คสช. คณะราษฎร ม็อบสามนิ้ว ที่พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกลให้การสนับสนุนอย่างเข้มข้น
แต่คำพูดของ “ชัยธวัช ตุลาธน” ในวันนั้น กลับพบว่าจุดประสงค์หลักเจาะจงไปที่คนบางกลุ่ม เพราะใช้คำว่า “จำเป็นต้องยุตินิติสงครามต่อประชาชน”
พรรคก้าวไกลและเครือข่าย ไม่เคยยอมรับการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง-กปปส. เพราะมองว่าเป็นมวลชนของเผด็จการทหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร
มีแต่ม็อบสามนิ้วม็อบเสื้อแดงเท่านั้น ที่พรรคก้าวไกลนิยามว่าเป็น นิติสงคราม รัฐบาลเผด็จการใช้กฎหมายเล่นงานประชาชน
ถ้าพูดให้ชัดก็คือ การใช้ ม.๑๑๒
“…การนิรโทษเป็นหนทางที่จะถอนฟืนออกจากกองไฟ ยุตินิติสงคราม เพื่อเป็นก้าวแรกในการสร้างความยุติธรรมและปรองดองอย่างยั่งยืนในสังคมต่อไป…”
นี่คือประโยคที่ “ชัยธวัช ตุลาธน” ภูมิใจนำเสนอ
ก่อนอื่นไปดูว่าใครบ้างไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการนิรโทษกรรมจากร่าง พ.ร.บ.ของพรรคก้าวไกล
๑.บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ หากเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ
๒.การกระทำผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่เป็นการกระทำโดยประมาท
๓.การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ อาทิ คดีกบฏล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ คดีแบ่งแยกการปกครอง
๔.ไม่รวมความผิดฐานคอร์รัปชัน
ฉะนั้น บุคคลที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๑๑๒ ถือว่าอยู่ในข่ายได้รับการนิรโทษกรรม
สงสัยกันมั้ยครับ ทำไมพรรคก้าวไกลถึงต้องเดินสายล็อบบี้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของตัวเอง โดยเฉพาะการไปขอแรงสนับสนุนจาก “พุทธะอิสระ” ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วจะได้คำตอบว่าอย่างไร
ที่พรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ มาจากปัจจัยหลักซึ่งสำคัญที่สุดนั่นคือ การยืนกรานจะแก้ ม.๑๑๒ ทุกวิถีทาง อ้างว่าเป็นสัญญาประชาคม
การจัดตั้งรัฐบาลรอบแรก ๘ พรรคการเมือง ล้มไม่เป็นท่าเพราะพรรคการเมืองอื่นไม่เห็นด้วยกับการแก้ ม.๑๑๒
มาคราวนี้สถานการณ์แทบไม่เปลี่ยนอะไรเลย พรรคก้าวไกลยังคงถูกโดดเดี่ยวจากความพยายามที่จะแก้ ม.๑๑๒
การล็อบบี้ “พุทธะอิสระ” ผลสำเร็จแทบเป็นศูนย์
อีกอย่าง “พุทธะอิสระ” ไม่ใช่ สส. ไม่สังกัดพรรคการเมือง ไม่ได้เข้าไปทำงานในสภา
หรือพรรคก้าวไกลต้องการแค่สร้างกระแส
“นิติสงคราม” ในนิยามของพรรคก้าวไกลคืออะไร
๑.ใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม คดีความ เป็นอาวุธ ไม่ได้ใช้ปืน ดาบ รถถัง ยุทโธปกรณ์
๒.ใช้กระบวนการในระบบกฎหมาย ตั้งข้อหา สอบสวน สั่งฟ้อง พิจารณาคดี พิพากษาลงโทษ ไม่ได้ใช้กระบวนการนอกระบบกฎหมาย เช่น อุ้มฆ่า อุ้มหาย ลักพาตัวไปซ่อน ยิงทิ้ง
๓.ใช้กระบวนการทางสื่อและความเห็นของสาธารณชนเข้าสนับสนุน ด้วยการโหมประโคมโฆษณาชวนเชื่อ จนทำให้สังคมและคนจำนวนมากเชื่อไปก่อนแล้วว่า ผู้ประท้วงเหล่านี้มีความผิดจริง ก่อความไม่สงบจริง ใช้ความรุนแรงจริง โดยอาจใช้ภาพสื่อ เฟกนิวส์ ใช้สื่อที่เป็นกระบอกเสียงของตนพูดซ้ำๆ ย้ำๆ ทุกวันเพื่อด้อยค่าผู้ชุมนุม เมื่อสังคมและคนจำนวนมากคิดล่วงหน้าไปเช่นว่าหมดแล้ว ต่อให้กระบวนการทางกฎหมายจะบิดเบี้ยวอย่างไร พวกเขาก็ไม่สนใจ เพราะในสำนึกรับรู้ของพวกเขา ต้องการให้ผู้ประท้วงถูกลงโทษ
๔.ใช้กระบวนการทางกฎหมายทำให้เป็นเรื่องเทคนิควิธี รายละเอียดหยุมหยิม กลบหลักการคุณค่าพื้นฐานไปเสียหมด เช่น แทนที่คนจะคิดว่าผู้ประท้วงต้องได้ประกันตัวตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็ไปคิดว่าผู้ประท้วงไม่ได้ประกันตัวเพราะโง่เอง ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้เทคนิควิธีให้ได้ประกัน หรือเห็นใจผู้ประท้วงที่ต้องรับโทษอยู่เหมือนกันนะ แต่ทำไมไม่สู้คดีแบบนี้ล่ะ เสียดาย ไม่น่าเลย พลาดง่ายๆ ทางกฎหมาย ถ้าเก่งกฎหมายสักหน่อยก็รอดแล้ว เป็นต้น
วิธีการของ “นิติสงคราม” ในความคิดของพรรคก้าวไกลคือ ตั้งข้อหากวาดกองไว้ให้หมด ไล่ไปตั้งแต่ ความผิดตามกฎหมายรักษาความสะอาด ยันความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตาม ป.อาญา มาตรา ๑๑๒
ฉะนั้นนัยสำคัญของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล อยู่ที่การเคลื่อนไหวของม็อบ ๓ นิ้วเป็นหลัก ส่วนที่เหลือถือเป็นผลพลอยได้
แต่…แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคก้าวไกลจะผ่านสภา
เพราะก้าวไกลไม่มีมิตร
การนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ต้องคดี ม.๑๑๒ จะลงเอยเหมือนกับการที่ก้าวไกลได้สิทธิ์ตั้งรัฐบาล
คือล้มเหลว
การกระทบชิ่งไปที่ “ชั้น ๑๔” ก็มิได้ทำเพื่อหาแนวร่วม เพราะพรรคก้าวไกลเชื่อว่า หมาใกล้ตาย เห็บต้องเตรียมกระโดดหนี
แต่พรรคก้าวไกลลืมไปว่า มีหมาหลายตัวที่ใกล้ตาย
พรรคฉาวโฉ่เรื่อง สส.คุกคามทางเพศก็เป็นหนึ่งในนั้น