กู้มาแจก-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ไปให้สุด…

นายกฯ เศรษฐา แถลงไปเรียบร้อย คนไทยประมาณ ๕๐ ล้านคน จะได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า ๑๐,๐๐๐ บาท

บนเงื่อนไขใหม่

ต้องมีอายุ ๑๖ ปีขึ้นไป

มีรายได้ไม่ถึง ๗ หมื่น ต่อเดือน

มีเงินฝากทุกบัญชีต่ำกว่า ๕ แสนบาท

ก็หมายความว่า คนที่มีเงินเดือนเกิน ๗ หมื่นบาท หรือ มีเงินฝากทุกบัญชีเกิน ๕ แสนบาท อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ๑ หมื่นบาท

ใช้สิทธิ์ภายใน ๖ เดือน

ขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ

ใช้งบประมาณทั้งโครงการ ๕ แสนล้านบาท

แล้วเงินมาจากไหน?

นายกฯ เศรษฐา แถลงดังนี้…

“…ในวันนี้ คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออก พระราชบัญญัติ เป็นวงเงิน ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฎีกา เพื่อให้การออกพระราชบัญญัติกู้เงินดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องการออกพระราชบัญญัติ จะมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา

ผมมั่นใจว่า ในที่สุดแล้วจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา ๕๓ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ พระราชบัญญัติการกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet ให้เป็นไปด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

และรัฐบาลจะทำการกู้เงิน ก็ต่อเมื่อมีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด ซึ่งนี่จะเป็นการทำให้เงินในระบบทั้งหมดใหญ่ขึ้นกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ล้าน ซึ่งจะหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัย…”

สรุปก็คือกู้เงินมาแจก!

รัฐสภาคงให้ผ่าน เพราะหากไม่ผ่านรัฐบาลก็พังทันที

แต่ดูเหมือนว่า นายกฯ เศรษฐา จะเผื่อเหลือเผื่อขาด จึงได้ใช้คำว่า “คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออก พระราชบัญญัติ “

ก็แสดงว่ายังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ

อาจหาเงินจากช่องทางอื่นก็ได้

แต่ ณ วินาทีนี้ ถือว่า การออกพระราชบัญญัติกู้เงิน คือทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดที่รัฐบาลจะทำ

ทำได้หรือเปล่า?

ทำได้ครับ เพราะรัฐบาลประยุทธ์ ออกเป็นพระราชกำหนดด้วยซ้ำ แต่อยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างจากปัจจุบัน

เช่นปี ๒๕๖๔ รัฐบาลออกพระราชกำหนดกู้เงิน ๕ แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-๑๙ การเยียวยาประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจ

กู้แล้วเพดานหนี้ไม่เกิน ๖๐% ของจีดีพี

แต่สถานการณ์ในปัจจุบันจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่…ประเด็นนี้ผู้รู้พูดกันไปเยอะแล้ว

พระราชบัญญัติกู้เงินจะไปได้ตลอดรอดฝั่ง สิ่งสำคัญคือต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย

พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ วางกรอบในการกู้เงินและใช้จ่ายเงินไว้ ดังนี้

กู้เงินนั้นจะต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจน เช่น วัตถุประสงค์ ระยะเวลาในการกู้ แผนงานหรือโครงการที่จะเบิกจ่าย ตลอดจนหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ

การกู้เงินจะกระทำได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว

การเบิกจ่ายเงินกู้จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกู้เงินและระเบียบการเบิกจ่ายเงินอย่างเคร่งครัด และการใช้เงินจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่า และประหยัด

ให้มีการติดตามประเมินผล และการรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

ถ้ามีเงินเหลือหรือไม่มีการดำเนินการหรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินตามแผนงานหรือโครงการนั้นอีกให้นำส่งคืนคลัง

การกู้เงินต้องเป็นไปตามกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งกรอบดังกล่าว กำหนดให้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี ถ้าก่อหนี้เกินกว่ากรอบดังกล่าว รัฐมนตรีต้องรายงานเหตุผล และวิธีการรวมถึงระยะเวลาที่หนี้สาธารณะจะกลับมาเป็นไปตามสัดส่วนดังกล่าว

ที่สำคัญจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่!

ถ้าอยู่ในกรอบนี้ คนไทย ๕๐ ล้านคนก็เตรียมรับคนละ ๑ หมื่นบาท

วันนี้ต้องให้เครดิตพรรคก้าวไกลซะหน่อย ใช่ว่าจะตำหนิติติงไปเสียทุกอย่าง

“ศิริกัญญา ตันสกุล” เตือนแล้วนะ…ท้ายที่สุดอาจไม่มีใครได้เงินจากโครงการนี้เลย

“…เพราะเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๐

และขัดต่อพระราชบัญญัติวินัยการเงิน การคลัง มาตรา ๕๓ ที่มีการระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ จะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่วันนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร

เราไม่ได้อยากกดดันให้มีการร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริงที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้เด็ดขาด ว่ารัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ ๕ แสนล้านบาท ได้หรือไม่ โดยไม่ต้องไปถึงมือขององค์กรอิสระที่ไม่เป็นวิถีทางประชาธิปไตยสักเท่าไหร่…”

ไม่ทราบว่าขู่หรือไม่!

แต่หากเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ระวังจะซ้ำรอยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ถูกคว่ำพระราชบัญญัติกู้เงิน ๒ ล้านล้านมาแล้ว

ครับ…อีกสักพักจะมีเสียงคร่ำครวญว่า รัฐบาลประยุทธ์กู้ได้ไม่ผิด แต่รัฐบาลเพื่อไทยจะกู้ทีไรก็มีปัญหาทุกที

ก่อนบ่นต้องรู้ให้แน่ก่อนว่า ทำไมกู้เหมือนกัน แต่ผลที่ออกมามันไม่เหมือนกัน

กลับไปดูได้ครับ รัฐบาลประยุทธ์กู้เงินภายใต้กรอบของกฎหมายทุกประการ เป็นไปตามพระราชบัญญัติ งบประมาณที่ผ่านสภา

กรณีการกู้เงินที่เป็นการออกพระราชกำหนด ก็มีเหตุฉุกเฉินจากสถานการณ์โควิด มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกู้ซึ่งเข้าองค์ประกอบของกฎหมาย

รัฐบาลประยุทธ์ ดำเนินการอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ

แต่รัฐบาลเศรษฐา กู้มาเพื่อแจก ในสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ

ยิ่งรัฐบาลอ้างว่าต้องแจกเงินหัวละ ๑ หมื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจในปัจจุบัน มีสถานการณ์หรือหลักวิชาอะไรมายืนยันว่า การทุ่มแจกเงิน ๕ แสนล้านบาทใน ๖ เดือน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ควรกระตุ้นได้จริง

ถ้าไม่เคลียร์อาจถึงขั้นต้องใช้สูตรนายกฯ คนละครึ่ง

Written By
More from pp
เอาไว้ ‘ยักไหล่’ ตอนจบ #ผักกาดหอม
ผักกาดหอม ฆ่าไม่ตาย ยักไหล่แล้วไปต่อ รวมไปถึง พาดพิงศาลรัฐธรรมนูญว่า “เสนียด” นั่นคือปฏิกิริยาหลัง พรรคประชาชน ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากด้อมส้ม แต่…จะบอกว่ายังไม่จบครับ ผลของนโยบายแก้ ม.๑๑๒...
Read More
0 replies on “กู้มาแจก-ผักกาดหอม”