หนังปักษ์ใต้ (โคตร) ท้าทาย? – สันต์ สะตอแมน

สันต์ สะตอแมน

ระหว่างเฝ้าลุ้น “สัปเหร่อ” วิ่งสู่ 1,000ล้านบาท!

นั่งดู “ธี่หยด” จะไปถึง 500 ล้านหรือไม่ และชะเง้อคอรอ “เงินดิจิทัล” 10,000 บาทของรัฐบาลเศรษฐาด้วยระทึก จะได้-ไม่ได้

ก็..บังเอิญได้อ่านข้อเขียนของ Nuttharavut Kunishe Muangsuk ที่โพสต์ ทำให้ได้รู้และหายข้องใจ มันเรื่องอะไรน่ะหรือ ลองอ่านดูก็แล้วกัน..

“ทำไมหนังปักษ์ใต้ไม่แมสเหมือนไทบ้าน?

ภาคใต้นี่ทำหนังให้แมสยากกว่าอีสานหรือภาคอื่นๆ​ ไม่ใช่แค่เรื่องตลาดหรือจำนวนประชากร เพราะเราไม่มีวัฒนธรรมแสดงวิถีอัตลักษณ์แบบที่เรียกว่า​ “ไทบ้าน” ของอีสาน

หรือ​ “คนเมือง” แบบภาคเหนือ​ เพราะความเป็นปักษ์ใต้มันหลากหลายเกินไป สำเนียงภาษาก็ต่างกัน​

ฝั่งอันดามัน​กับอ่าวไทย​ นครศรีฯ​ พัทลุง​ สงขลา​ ตรัง​ สุราษฎร์ธานี​ ฯลฯ​ ศัพท์แสงแต่ละจังหวัดต่าง​กัน แต่ละสำเนียงใช้เพียง​ 1-2 จังหวัด​

ขนาดหนังตะลุงต้องสร้างตัวละครที่มีสำเนียงต่างกันหลายสิบตัวละคร​ ผู้คนในภูมิศาสตร์ควน (เขา)​ ป่า​ นา​ เล ต่างกันสิ้นเชิง​

วัฒนธรรมท้องถิ่นแต่ละจังหวัดก็ไม่เหมือนกัน ไม่นับคนเมือง (เด็กหลาด) ​กับพวกโตในสวนยาง​กลางหุบเขา (ในหม็อง)​

ไหนจะคนไทย​พื้นถิ่น​คนเชื้อสายจีน มลายู​มุสลิม (พุทธกับมุสลิมใครมากกว่าในภาคใต้ยังไม่มีผลสำรวจเป็นทางการ​แต่จากสัมผัสเองเดาว่ามุสลิมน้อยกว่าไม่เยอะ)​

อินเดีย​ ชาวเล​ คนลุ่มทะเลสาบ​ ฯลฯ​ คนในแผ่นดินใหญ่ก็ไม่เหมือนกับคนเกาะ ประเพณีบางอย่างต่างกัน​เพราะอยู่ในบริบทสังคมและเศรษฐกิจคนละแบบ

ครั้งหนึ่งไปนั่งในวงเหล้าของวัยรุ่นนครศรีธรรมราชกับพัทลุง​มันขอเพลง​ “ลัง” ของไข่​มาลีฮวนน่ากับวงดนตรีในร้านแล้วคุยประสบการณ์เก่ากันน้ำตารื้น​

คนกระบี่กับเด็กระนองมองหน้ากันแล้วยิ้มแห้งๆ​ เพราะบ้านเราไม่มีรถไฟ​ ไม่มีประสบการณ์ขนลังขึ้นรถไฟมาแสวงหาอนาคตที่กรุงเทพฯ​

เราเติบโตมากับรถทัวร์ที่หลับข้ามคืนก็ถึงบ้าน

ไม่แปลกใจว่าทำไมหนังภาคใต้ของ เอกชัย​ ศรีวิชัย​ ที่พยายามอย่างหนักมาตลอดแต่ละเรื่องถึงไม่ทำเงิน​ ทำทีไรก็เจ็บตัว​ ไม่ว่าเทริด​ (อ่านควบเสียง​ ทร​ ไม่ใช่​ เท-ริด)

หรือมนต์รักดอกผักบุ้ง​ หรือสะพานรักสารสิน เอกชัยมีไอเดีย​และมีเงิน​แต่ภาคใต้มันหลากหลายเกินไปในพื้นที่แคบๆ​ มันจึงจับตลาดได้ยาก​

โนราห์ไม่ได้มีทุกจังหวัดภาคใต้​หนังของแขกถึงไปยากในภูมิภาคตัวเอง​ (น่าจะไปได้ไปฝั่งมาเลย์) ​พอทำให้คนกรุงเทพฯ หรือคนภูมิภาคอื่นดู​รายละเอียดในหนังมันต้องปรับคนภาคอื่นเข้าใจ​

เช่นให้ตัวละครพูดภาษาใต้สำเนียงแบบภาคกลาง​ คนปัตตานีพูดไทยกลางไปเลย ซึ่งคนใต้ก็ไม่อินด้วยอีก​พอคนท้องถิ่นไม่อือออด้วยมันไปตลาดใหญ่ยาก

เอาง่ายๆ​ในหนัง​ The Irishman นักแสดงชาวอเมริกันที่อยู่ในแก๊งไอริชต้องไปฝึกภาษาอังกฤษสำเนียงไอริช แม้แต่โรเบิร์ต เดอนีโร​ คนเชื้อสายอิตาเลียนก็ต้องฝึก​

แต่ในสะพานรักสารสิน​โกดำกับอิ๋วต้องพูดแบบภูเก็ตหรืออันดามันตอนบน ​(พังงา-ภูเก็ต-ระนอง)​ นางเอกในเรื่องดันพูดภาษาไทยกลาง​

ส่วนพระเอกพูดใต้แบบดัดสำเนียงให้คนภาคกลางฟังเข้าใจ​ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดปัญหากับหนังในจักรวาลไทบ้าน​(แม้ว่าอีสานก็มีหลายสำเนียงเช่นกัน)

ความเรียลทำให้คนเชื่อหนัง นี่คือปัญหาหลัก มันเลยยากมากที่จะทำให้หนังภาคใต้แมส​

เพราะหนังไทยที่ขายกลิ่นอายท้องถิ่น (ที่รัฐเรียกว่า​ซอฟต์พาวเวอร์?)​ การตอบรับจากท้องถิ่นคือโจทย์ใหญ่​ มันต้องเกิดกระแสตอบรับจากท้องถิ่น…

​ใครฝันเรื่องจะทำหนังขายความเป็นท้องถิ่นปักษ์ใต้บอกตรงๆ​ ว่ายาก​มาก​โคตรท้าทายหรือถ้าใครมีไอเดียลองเสนอดูครับ…”

ครับ..เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ถ้าใครคิดจะทำหนังปักษ์ใต้เพื่อธุรกิจ-การค้าก็ให้ทำใจ ส่วนคุณเอกชัยที่ยังพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะได้ชื่อเป็น “ผู้กำกับภาพยนตร์” มือรางวัล

ก็..ขอเป็นกำลังใจให้ประสบความสำเร็จ-ไปถึงเป้าหมาย และคอยดูว่าผลงานล่าสุดเรื่อง “เหมรย” (การบนบานสานกล่าวของคนใต้) ที่จะเข้าฉายต้นปีหน้า จะโกยเงินได้แค่ไหน..

ยังไงๆ อย่าลืมใส่ “หอมแดง” เข้าไปด้วยล่ะ!

Written By
More from pp
สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย?
ผสมโรง สันต์ สะตอแมน เลิกแล้วค่ะ หนูเลิกกับเค้าแล้วค่ะ! จันทร์ที่ 28 ธันวา น่าจะได้ยินคำนี้จากปากของนักร้อง “อมิตา ทาทา ยัง”...
Read More
0 replies on “หนังปักษ์ใต้ (โคตร) ท้าทาย? – สันต์ สะตอแมน”