ผักกาดหอม
เหมือนสีซอให้ควายฟัง
หรือไม่ก็ฟังหูซ้ายทะลุหูขวา
รัฐบาลไม่นำพาเสียงเตือนว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล ๕.๖ แสนล้าน จะกลายเป็นหายนะทางเศรษฐกิจของประเทศในท้ายที่สุด
เสียงเตือนนี้ดังกว่านโยบายรับจำนำข้าวหลายเท่าตัว
จากสาขาอาชีพที่หลากหลายกว่า
และเป็นเรื่องน่าที่เหลือเชื่อ นโยบายทางเศรษฐกิจ ในรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยบอกว่า เป็นเผด็จการสร้างความฉิบหายให้ชาตินั้น กลับได้รับคำชมว่า มาถูกที่ถูกเวลา เช่นนโยบายคนละครึ่ง
แอปเป๋าตังได้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ ครอบคลุมทุกธุรกรรมการเงิน ไม่ต้องพกกระเป๋าตังรูปแบบเดิม ๆ อีกต่อไป
ใช้ตั้งแต่แม่ค้าข้างถนนยันห้างสรรพสินค้า
เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นสังคมไร้เงินสดในระยะเวลาอันรวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ
เมื่อเทียบกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล ๑ หมื่นบาทแล้ว คำชม แทบไม่ได้ยิน เพราะหนทางข้างหน้าช่างมืดดำ มีแต่ความวิตกกังวลถึงความเสียหายด้านการเงินการคลังที่จะตามมา
วานนี้ (๑๐ ตุลาคม) คนในรัฐบาลเรียงหน้าออกมายืนกราน งานนี้ไม่มีถอย
เดินหน้าสถานเดียว
คนอย่าง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลเลย ยังแสดงความพร้อมที่จะรับผิดชอบหากนโยบายนี้ล้มเหลว
“…ทุกเรื่องมีสองมุม จะดีหรือไม่ดี แต่อย่าเพิ่งคิดว่ามันมีผลอย่างไร แต่ให้รอดูว่าเมื่อรัฐบาลดำเนินการออกมาแล้ว หากผลออกมาไม่ดีคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะมีผลต่อพรรคการเมืองที่นำเสนอ เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยรับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ทำอะไรต้องรับผิดชอบในด้านนั้น
คนวิพากษ์วิจารณ์ก็พูดฟรีๆ ถึงจะผิดก็ไม่มีใครว่า ผมเห็นควรว่าต้องเดินหน้านโยบายนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ประกาศต่อสาธารณะแล้ว…”
“สมศักดิ์ เทพสุทิน” เป็นคนที่มองการเมืองทะลุหาตัวจับได้ คงจำได้ว่าตอนออกจากพรรคพลังประชารัฐ มาพรรคเพื่อไทย เขาประกาศว่าตั้งแต่เล่นการเมืองมาไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน
แล้วก็จริงครับ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” กลับเข้าทำเนียบรัฐบาลได้อย่างเหลือเชื่อ
แต่คราวนี้ จะมองขาดหรือไม่
นโยบายเงินดิจิทัลจะซ้ำรอยจำนำข้าวหรือเปล่า?
จากเสียงเตือนทั้งหมดในรอบหลายวันที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ เท่ากับรัฐบาลมี “เจตนา” ที่จะเดินหน้าแจกเงินดิจิทัลต่อไป
“เจตนา” นี้มีความสำคัญ เพราะจะเป็นเครื่องชี้วัดในอนาคตว่า ซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าว ที่ นายกฯหนี รัฐมนตรีติดคุก ข้าราชการถูกลงโทษเป็นหางว่าว หรือไม่
เสียงเตือนอีกเสียง แม้ไม่ใช่อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ หรืออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่มีอดีตเป็น
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“เมธี ครองแก้ว”
“…อย่างสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำโครงการรับจำนำข้าว ตอนนั้น ป.ป.ช. ที่ผมเป็นกรรมการอยู่ด้วยในช่วงดังกล่าว ทางป.ป.ช.ได้ทำหนังสือเตือนไปหลายครั้งในเรื่องการทำนโยบายรับจำนำข้าว แต่ เขาก็ไม่ฟัง เมื่อไม่ฟัง แสดงว่ามีเจตนาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องพิสูจน์เจตนา
ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ มันใช้ยาก เพราะต้องพิสูจน์เจตนาว่าคุณมีเจตนาจะทำแบบนี้จริงๆ ไม่ได้ทำโดยไม่รู้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือว่าโดยเหตุผลอื่นที่ไม่เข้าใจ แต่ตอนนั้นรู้อยู่แล้ว แต่ก็ยังทำ รับจำนำข้าว ก็รู้อยู่แล้วว่า จะเสียหาย แต่ก็ยังทำ
เพราะฉะนั้นเมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้น ถึงไปไม่รอด ติดคุกกันเป็นแถว แล้วไม่ได้มีแค่นักการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงข้าราชการประจำที่เป็นเจ้ากี้เจ้าการ เพราะหากทำตามคำสั่งตามหน้าที่ไม่ผิด แต่หากแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนหรือชี้นำรัฐบาลด้วยซ้ำ…”
จะบอกว่าขู่ก็ได้!
แต่มันคือข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และอาจเกิดอีกครั้งกับรัฐบาลเศรษฐา
และการที่ “เมธี ครองแก้ว” พูดถึงข้อมูลอินไซด์ภายในป.ป.ช. ก็น่าจะทำให้รัฐบาลเงยหน้ามาดูความจริงได้บ้าง
“…ผมทราบว่าขณะนี้สำนักงานป.ป.ช. เขามีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเหมือนกัน ซึ่งหากมีคนไปร้องเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ผมว่าเป็นเรื่องแน่
คนที่จะทำเรื่องนี้ได้ ไม่ได้มีแค่ป.ป.ช. อย่างผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ หากเขาเห็นว่าโครงการนี้ทำแล้วจะมีคนเดือดร้อน ทำให้เกิดภาระต่างๆ ขึ้นเช่นภาระทางภาษี เกิดขึ้นในอนาคตซึ่งเป็นภาระที่ไม่จำเป็น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็อาจส่งเสียงขึ้นมาได้ว่า การทำโครงการดังกล่าวรัฐบาลทำเกินหน้าที่แห่งรัฐ ใช่หรือไม่
คือไม่จำเป็นต้องทำ แต่ไปกระทำ ก็มีสิทธิ์ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ก็อาจเลือกที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ยังได้…”
“…ดูแล้ว มีขวางหมากเต็มไปหมด ผมก็ยังมองไม่ออกว่าเขาจะลุยไฟไปทำไม มีสิทธิ์ติดคุกกันเยอะเลย โครงการนี้ จริงๆ ผมไม่ได้พูดเล่นๆ ผมใช้คำว่าลุยไฟเลย คือหากอยากจะทำ ก็ทำ แต่รับรองเลยว่ามีผลแน่นอน แล้วก็ไปเสี่ยงดวงเอาแล้วกัน ว่าจะติดคุกหรือไม่อย่างไร…”
เตือนขนาดนี้แล้ว หากยังดันทุรังต่อ ก็เตรียมนับศพกัน!
ก็ไม่ทราบได้ว่าข้อความของ “เมธี ครองแก้ว” ไปถึงหูรัฐบาลหรือเปล่า ท่าทีของรัฐบาลดูเหมือนจะเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย
“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง บอกว่า
“…รัฐบาลได้รับฟังเสียงสะท้อนทั้งหมด และจะนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการ ให้พิจารณาการปรับโครงสร้าง โดยอาจจะมีการยกเว้นคนที่ฐานะร่ำรวย ซึ่งตรงนี้ก็กำลังหาคำตอบอยู่ว่า จำนวนเงินที่จะได้รับผลกระทบ รวมถึงจำนวนคนที่ไม่ได้รับเป็นอย่างไร เพราะว่าต้องหาตัวเลขหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยเกณฑ์การวัดความรวย อาจจะดูเรื่องของยอดเงินในบัญชี หรือจะดูเรื่องของรายรับต่อเดือน แต่ทั้งนี้ต้องเป็นตัวเลขที่พิสูจน์ได้ ไม่ใช่นั่งเทียนขึ้นมา…
…วัตถุประสงค์หลักของการแจกเงินนี้ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่การช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นการลดจำนวนคนที่จะได้รับจะต้องไม่มีผลกระทบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในตอนนี้เรากำลังรับฟังและพิจารณาอยู่ ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยอาจจะมีความเป็นไปได้ ในการยกเว้นกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย…”
ก็เริ่มมีคนรวยโผล่ขึ้นมา
ซึ่ง “จุลพันธ์”บอกว่า ใครที่เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องลงทะเบียนก่อน รัฐบาลคงจะคิดว่าคนรวยจะไม่เข้าร่วมโครงการนี้
โครงการใช้เงินมหาศาลขนาดนี้ แต่รัฐบาลกลับยังไม่มีความชัดเจนอะไร นี่เท่ากับนโยบายนี้มิได้อ้างอิงข้อมูลทางเศรษฐกิจ ไม่มีหลักวิชาอะไรเลยตั้งแต่ต้น
นิยามคนรวยคืออะไร รัฐบาลตกผลึกแล้วหรือยัง
หรือจะรอดูว่าสุดท้ายแล้ว ใครติดคุกเป็นเพื่อนบ้าง