18 กันยายน 2566 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รวมทั้ง ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงมหาดไทย
ณ โอกาสนี้ นายอนุทิน ได้มอบนโยบายกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า
ทางกระทรวงฯ มีนโยบายสำคัญ 10 ประเด็น ซึ่งในจำนวนนี้เป็นประเด็นเน้นย้ำจำนวน 4 ประเด็น ได้แก่
1. การปกป้องและเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ หมายถึงการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการ “พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ” คือ ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์
2. น้ำดื่มสะอาดฟรี ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้ครัวเรือนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง
3. การลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันของทุกส่วนราชการ สร้างต้นแบบ ให้ประชาชนได้เห็นตัวอย่างของการใช้พลังงานทางเลือก ด้วยการส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell / Solar Rooftop ในสถานที่ราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และใช้กับไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ
นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมสนับสนุนให้สถานที่ราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
4. การจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล หรือกลุ่มที่มีการใช้อำนาจเหล่านั้นในทางมิชอบ
“หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยคือ มุ่งเน้นการจัดระเบียบสังคมเพื่อสร้างสังคมให้สงบสุข บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดอบายมุข ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัย สิ่งใดที่ขัดกับความมุ่งหมายนี้ ก็คือสิ่งที่เราต้องใช้กลไกของรัฐในการกำจัดให้สิ้นไป”
นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก 4 นโยบายมุ่งเน้น ยังมีประเด็นนโยบายสำคัญเพิ่มเติม ในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย
5. พลังงานสะอาด มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด โดยสนับสนุนให้มีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชน รวมไปถึงการเพิ่มรายได้
จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ให้แก่รัฐ ตลอดจนส่งเสริมให้ครัวเรือนและชุมชนสร้างรายได้จากพลังงานสะอาด โดยการจัดตั้งธนาคารคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ทุกจังหวัด
6. การบริการประชาชนแบบ One Stop Service มุ่งหน้าสู่ระบบรัฐบาลดิจิทัลเป็นแนวทางสำคัญของรัฐบาล ที่ถือเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง
กระทรวงมหาดไทย จะนำเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติราชการ การทำธุรกรรม เพิ่มประสิทธิภาพ และความโปร่งใส
ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติราชการแล้ว ยังเพิ่มความสามารถในการให้บริการประชาชนมากยิ่งขึ้น พร้อมไปกับเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ขจัดช่องโหว่ที่เอื้อต่อการทุจริตอีกด้วย
7. การอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ส่งเสริมให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
บูรณาการจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อจัดระเบียบพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ไปจนถึงดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว
8. การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การผลิต การตลาด และการจำหน่าย เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่น (OTOP) ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการประสานกับภาคเอกชน เพื่อให้เข้าใจแนวโน้มตลาดมากขึ้น
การสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ซึ่งจะนำสู่การส่งออกสินค้าเชิงวัฒนธรรม และนำหลักการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่นเป็นหน่วยธุรกิจในการสร้างงานสร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วย
9.การแก้ไขปัญหายาเสพติด เสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน ชุมชน ตามแนวทางหมู่บ้าน ชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่อย่างจริงจัง รวมทั้งการป้องกัน ปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย การบำบัดรักษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม การสื่อสารเชิงรุก
ให้มองผู้เสพ คือ ผู้ป่วยนำผู้เสพยาเสพติดไปเข้ารับการบำบัดรักษาและได้รับการฟื้นฟู เพื่อคืนคนดีสู่สังคม โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด ให้หมดไปจากสังคมไทย
10.สนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเตรียมความพร้อมท้องถิ่นรองรับสังคมผู้สูงอายุ
“ที่สุดแล้ว ขอให้บุคลากรทุกท่านยึดหลักการทำงาน ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที
ขอให้ช่วยกันพิจารณาว่าระเบียบที่ใช้อยู่นั้น ยังส่งเสริมการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ อะไรไม่จำเป็นให้ตัดออก อะไรที่ยังทำงานได้ดี ก็ให้ปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โดยมีเป้าหมายเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคม รายได้ และมีความสุขและความพึงพอใจของประชาชน เป็นตัวชีวัดความสำเร็จ” นายอนุทินกล่าวทิ้งท้าย