ยกวิธีคิด ต่อยอดศิลปหัตถกรรมนักเรียน เชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีสร้างภาคีเรียนรู้ เครือข่าย ครู-ผู้เรียน ยกระดับไปพร้อมกัน

ภายหลังการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 69 การศึกษา 2562 โดยมี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 เป็นแกนกลางเพื่อประสานอำนวยการจัดงานจนสำเร็จลุล่วงดังวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างครบถ้วนซึ่งหลังจากการจัดงานดังกล่าวแล้วเสร็จก็ได้มีการรวบรวมข้อมูลในด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาสู่การถอดบทเรียน เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้เรียน

นายอิทธิพัทธ์ ธีระวรรณสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาภาพกระจาดทองอุปถัมภ์ จ.สมุทรปราการ หนึ่งในบุคลากรด้านการศึกษาที่คลุกคลีอยู่กับการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนมาอย่างยาวนาน กล่าวว่า เด็กปัจจุบันนี้มีความรู้ความสามารถที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยรวดเร็วทำให้การค้นคว้า แสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนบทบาทของครูผู้สอนที่ เริ่มมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้เรียนมากยิ่งขึ้น

“วันนี้เราต้องปรับเปลี่ยน Mind Set มาเป็น วิธีการสำคัญน้อยกว่าวิธีคิด เพราะเด็กสามารถแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ได้กว้างขวางและรวดเร็วขึ้น หรืออาจจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ดีกว่าครูด้วยซ้ำไป ดังนั้น  สิ่งสำคัญคือการสอนวิธีคิดให้กับเขา เพื่อที่เขาจะได้นำองค์ความรู้ไปบูรณาการสร้างโอกาสให้กับชีวิต เพื่อปูทางไปสู่การประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น เราสอนเด็กทำบัญชีรับ-จ่ายเพื่อให้เขาเห็นว่าอะไรบ้างที่ต้องซื้อ แล้วตั้งคำถามว่าสามารถปลูกเองได้ไหม ทำเองได้ไหม เราสอนเด็กให้ผลิตสบู่ ลำดับแรกคือวันนี้ผลิตได้เองแล้วควรใช้เองไหมจะได้ไม่ต้องไปซื้อในสิ่งที่ผลิตเองได้ หรือถ้าจะผลิตเพื่อจำหน่ายเราถอดบทเรียนจากผู้ผลิตสินค้าเดียวกันแต่ขายไม่ได้เลย เราควรสร้าง Story ให้ผลิตภัณฑ์ของเราไหมเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเราต้องทำอย่างไร เหล่านี้คือการสอนวิธีคิด เพื่อให้เขาได้ต่อยอดความรู้ความสามารถของเขา” นายอิทธิพัทธ์ กล่าว

พร้อมกันนี้ยังกล่าวต่อไปอีกว่า การจัดเวทีศิลปหัตถกรรมนักเรียนวัตถุประสงค์อย่างแรก คือการสร้างพื้นที่ให้เด็กได้แสดงศักยภาพ โชว์ความรู้ ความถนัด ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการยอมรับ และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเองต่อไป ยุคก่อนจัดระดับชาติครั้งเดียว ซึ่งกว่าจะมาถึงระดับชาตินักเรียนก็ต้องผ่านเวทีมาก่อนเป็นตัวแทนเพื่อเข้าแข่งขันระดับชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นการจัดระดับชาติใน 4 ภูมิภาค ก็ยิ่งช่วยกระจายโอกาสให้กลุ่มโรงเรียนเล็กได้มีโอกาสได้เข้าร่วมเวทีใหญ่ได้มากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอน การฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ ให้กับเด็กนักเรียนไปด้วย ซึ่งจะดีมากหากไม่ไปจำกัดว่าเด็กนักเรียนคนนี้เก่งด้านนี้ ต้องฝึกด้านนี้ด้านเดียว หรือเด็กคนนี้สังกัดโรงเรียนนี้ต้องเรียนกับคนนี้เท่านั้น

“ในส่วนของครู สิ่งที่เราอยากเห็นคือ ทำอย่างไรเวทีศิลปหัตถกรรมจะดึงศักยภาพ ดึงความคิดสร้างสรรค์ ดึงความรู้ความสามารถของเด็กออกมาให้ได้ หรือควรถามเด็กไหมว่าเขาชอบอะไร เพราะเด็กบางคนเก่งในหลายด้าน เขาอาจต้องการพัฒนาในด้านอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน ครูต้องเป็น Trainer ให้เขา ถ้าครูยังยึดกับกรอบเดิม คือสร้างแต่วิธีการไม่เปลี่ยนวิธีคิดก็ลำบาก สิ่งหนึ่งที่จับใจผมคือ ได้คุยกับครูที่สอนการพากย์แข่งเรือพายสมุทรปราการเราไม่เคยส่งนักเรียนไปแข่งรายการนี้เลย ครูก็คิดพาเด็กมาเข้าค่ายซึ่งเด็กที่มาเข้าค่ายเป็นนักกีฬาฟุตซอลที่ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย ให้เด็กดู Video Clip การแข่งขันเรือพาย เทคนิคการพากย์ เขาอยากให้เด็ก In แล้วก็ไปหาเรือให้เด็กไปฝึกพาย ดูจังหวะ สัมผัสประสบการณ์จริงของการพายเรือ ฝึกการพากย์ที่เด็กIn ไปกับการแข่งขันรู้ไหมส่งปีแรกได้ชนะเลิศอันดับหนึ่งเลย นี่คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ครูเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ส่งเสริม ผลักดันให้เกิดการต่อยอดได้ ดังนั้นการรับรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ วิธีการคิดจะเปลี่ยนถ้าการรับรู้เปลี่ยน ผมเชื่ออย่างนั้น”

นอกจากนั้นยังได้เสนอแนวทาง เพื่อให้การจัดแข่งขันศิลปหัตถกรรมได้สร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างมีประสิทฺธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงและเผยแพร่ สร้างภาคีเครือข่ายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน ทั้งในส่วนขององค์ความรู้ในการสอนของผู้สอน รวมทั้งในส่วนของผู้เรียนด้วย

“เรามีเทคโนโลยี เป็นไปได้ไหมที่ครูที่เก่งในแต่ละด้านจะมา Share องค์ความรู้กัน แบ่งปันสื่อการสอน และร่วมกันพัฒนาสื่อการสอนไปด้วยกันเป็นเครือข่าย ไม่ต้องมาหวงวิชากัน ครูคนไหนเก่งดนตรี เก่งโขน มีเทคนิคการสอนที่น่าติดตาม อัดคลิปแล้วมา Share การเรียนรู้ใช้เป็นสื่อในการสอนร่วมกัน หรือเด็กคนไหนที่แกะสลักเก่งๆ สวยๆ อัดเป็นคลิปแล้วเผยแพร่ไปให้เพื่อนที่อยู่ห่างไกลได้เห็น นักเรียนเก่งระดับเหรียญทอง เหรียญเงินเขามีมาตรฐานอย่างไร เด็กที่อยู่ไกลที่อยากเก่งอยากพัฒนาตัวเองก็จะได้แบบอย่าง จะได้เกื้อหนุนกันด้านการศึกษา เกิดแรงบันดาลใจ สร้างแรงกระตุ้นกันทั้งระบบ เราต้องหาเครื่องมือใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยพัฒนาต่อยอดคนของเรา โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน แล้วเราจะไปได้ไกลกว่านี้” นายอิทธิพัทธ์กล่าวสรุป

Written By
More from pp
ปตท. จับมือ กฟผ. ร่วมศึกษาและพัฒนาโครงการ LNG Receiving Facilities ภาคใต้ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานไทย
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือศึกษา ในโครงการ LNG Receiving Facilities รองรับการนำเข้าก๊าซ LNG ในพื้นที่ภาคใต้...
Read More
0 replies on “ยกวิธีคิด ต่อยอดศิลปหัตถกรรมนักเรียน เชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีสร้างภาคีเรียนรู้ เครือข่าย ครู-ผู้เรียน ยกระดับไปพร้อมกัน”