คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน สังคม หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน
ในการพัฒนานวัตกรรม สร้างเสริมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ระหว่างผู้ผลิตและบุคลากรทางการแพทย์ ให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและนวัตกรรม ภายในงาน มีปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Sustainable Health and Well-Being” โดย ดร.สาธิต ปิตุเดชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ ห้องประชุมพิบูลสงคราม ชั้น 12 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา โรงพยาบาลราชวิถี
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกแห่งสุขภาพและการแพทย์ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นวันนี้และอนาคตขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมการแพทย์ มีผลงานในการสร้างสรรค์ร่วมกันหลายนวัตกรรมทซึ่งสร้างประโยชน์ทางการแพทย์และคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนี้
1. พัฒนาศูนย์เรียกเก็บเงินอัจฉริยะ
2. นาฬิกาเตือนน้ำตาลต่ำ (Smart Hypoglycemia Warning Watch)
3. การตรวจวัดค่าอะซิโตนในลมหายใจในการวินิจฉัยภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (G Breath)
4. Telmed & Node Center
5. การดูแลแผลผู้ป่วยเบาหวานและทวารเทียมด้วย AI (AI With Wound Assessment)
6. Super App for Diabetes Center (ระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบองค์ร่วม ผ่าน Mobile Application)
7. เครื่องดันเปลนอนและเปลนั่งด้วยแบตเตอรี่
8. เส้นใยนาโนบนวัสดุรองรับสำหรับแผลติดเชื้อแบคทีเรีย
9. ระบบ Recliam และ AI ในการตรวจการเบิกสิทธิผู้ป่วยกับกองทุนต่าง ๆ
10. ประสานกลุ่มคลัสเตอร์ด้านการแพทย์เพื่อส่งเสริมเป็นผู้ประกอบการ และพัฒนานวัตกรรมการแพทย์
ทั้งนี้ ในอนาคต มหาวิทยาลัยมหิดลและกรมการแพทย์ จะประสานกลุ่มผู้ประกอบการด้านเฮลท์แคร์และเฮลท์เทค เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเปิดตลาดกว้างและเชื่อมโยงกับนานาประเทศและตลาดโลกผ่าน UNTIL UN Technology Innovation Lab อีกด้วย
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ มีความยินดีในการผนึกความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความมุ่งมั่นในการที่จะเพิ่มผลผลิตทางวิชาการและนวัตกรรมสนองความต้องการในประเทศและตลาดโลก พัฒนาให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค ยกระดับความรู้ทางด้านการแพทย์ และเป็นการประสานความร่วมมือ เพิ่มศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยสอดคล้องกับนโยบาย ”ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน”