24 สิงหาคม 2566 เวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา กลุ่มสมาชิกส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 20 คน นำโดยนายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลภาคใต้
และนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวกรณีโหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขัดกับมติพรรคที่ให้งดออกเสียง
นายเดชอิศม์ กล่าวว่าในวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมาได้ประชุมสส.พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อพิจารณาว่าจะโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค. ในที่ประชุมมีความเห็นแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง คือ
1.ไม่เห็นชอบ ซึ่งพวกเราซักถามว่าสาเหตุคืออะไร ส่วนใหญ่คนที่ไม่เห็นชอบจะบอกว่าเนื่องจากความขัดแย้งในอดีต ความโกรธในอดีต จึงมีสส.ใหม่โต้แย้งว่าอยากให้แยกหน้าที่สส.ปัจจุบัน กับความแค้นความโกรธออกจากกัน หากเราแยกออกจากกันไม่ได้ก็จะเกิดอคติตลอดไป และมีผู้ใหญ่บางคนได้วอล์กเอาท์เดินออกจากองค์ประชุม
นายเดชอิศม์ กล่าวต่อว่า 2.มีความเห็นว่าเห็นชอบ เนื่องจากประเทศมาถึงทางตัน ความเดือดร้อนของประชาชนมีทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหายาเสพติดที่ขยายวงกว้าง และเราเกิดสุญญากาศทางการเมืองไม่ได้ ความเสียหายก็จะเกิดกับประชาชนอย่างแน่นอน
และ 3.ในที่ประชุมส่วนมากบอกว่าควรงดออกเสียง เพราะสมัยโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ก็งดออกเสียง เนื่องจากเรากังวลเรื่องการแก้ไขเรื่องม.112
“หลังจากนั้นนายจุรินทร์ ได้ลุกขึ้นพูดในที่ประชุมว่าอย่าโหวตกันเลย เพราะจริงๆ แล้วเป็นเอกสิทธิ์ของสส. นั่นคือคำพูดของท่าน และในการประชุมวันนั้นไม่มีการโหวต พวกเราจึงไม่รู้ว่าจะเป็นมติหรือไม่เป็นมติกันแน่ แล้วปิดประชุมไป
แต่พอมาวันที่ 22 ส.ค. วันเลือกนายกฯ พวกเรามานั่งฟังการอภิปรายอยู่อีกห้องหนึ่ง ฟังเรื่องความเหมาะสมไม่เหมาะสมของนายเศรษฐา ซึ่งฟังในภาพรวมแล้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์รับได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัวของนายเศรษฐา ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเป็นนายกฯ
เรานั่งคุยกันกับส.ส.ประชาธิปัตย์ ประมาณ 20 คน พอมีการโหวตเรานั่งดู 3 คนแรกที่โหวตคือ นายจุรินทร์งดออกเสียง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน โหวตไม่เห็นชอบ นายชวน หลีกภัย ก็โหวตไม่เห็นชอบ นี่คือสามเสาหลักของประชาธิปัตย์ในเวลานี้ ลงคะแนนก็ไม่เหมือนกันแล้ว
พวกเราจึงนั่งคุยกันว่านี่เป็นมติของพรรคหรือไม่ เพราะคำว่ามติพรรคจะขอยกเว้นไม่ได้ มติไปทางใดต้องไปทางนั้น พวกเราจึงมีความเห็นว่าอย่างนี้ก็ไม่ใช่มติพรรค เราจึงมาแยกพิจารณา” นายเดชอิศม์ กล่าว
นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยเขารวบรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง และเป็นรัฐบาลที่มองแล้วว่าเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ กปปส. เคยขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือกลุ่มเพื่อนนายเนวิน ชิดชอบ เคยเป็นงูเห่าออกจากพรรคภูมิใจไทยมาโหวตให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ เขายังมาสมานฉันท์กันได้
แล้วเราเป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่ทั้งหมด ไม่เคยใส่เสื้อเหลือง ไม่เคยใส่เสื้อแดง ไม่เคยมีความขัดแย้ง เราไม่ควรจะมารับมรดกความขัดแย้งต่อจากรุ่นเก่าๆ เราถามกันทุกคน ซึ่งทุกคนมีความเห็นว่าขอให้ชาติเดินไปข้างหน้าได้ เราควรสนับสนุนให้เขาเป็นนายกฯ แต่ตัวพวกเรายังเป็นฝ่ายค้าน นั่นคือเหตุผลที่เราโหวตให้นายเศรษฐา
เมื่อถามว่า แสดงว่าวันนี้ชัดเจนแล้วหรือไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน นายเดชอิศม์ กล่าวว่า วันนี้เราเป็นฝ่ายค้านเต็มตัว ทั้งตัวสส. และศักดิ์ศรีความเป็นประชาธิปัตย์ เราไม่กระเสือกกระสน กระเหี้ยนกระหือรืออยากไปเป็นรัฐบาล
เพราะหลักการร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ยังเหมือนเดิม คือ 1.เขาต้องเทียบเชิญเรามาก่อน 2.ต้องประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการกับสส. และลงมติว่าอย่างไรทุกคนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งทุกอย่างยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ถามต่อว่าการที่ลงมติเห็นชอบนายเศรษฐา เป็นการสร้างความเสียหายให้กับพรรค และยังมีเรื่องการไปพบกับพรรคการเมืองอื่นด้วย ซึ่งพรรคอาจจะมีการตั้งกรรมการสอบ ถึงขั้นขับออกจากพรรค
นายเดชอิศม์ กล่าวว่า โทษในการไปพบกับใคร พวกตนเป็นสส.รุ่นใหม่เราพบทุกพรรค เรามีเพื่อนทุกพรรค เพราะเราแยกระหว่างหน้าที่กับความรักความผูกพัน หน้าที่กับความโกรธแค้นชิงชังในอดีต เราแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด
เพราะหากเราเอาหน้าที่ของสส.ไปผูกพันกับความรักเราก็ลำเอียง หากเอาหน้าที่ของสส.ไปยึดโยงกับความเคียดแค้นเกลียดชังเราก็เกิดอคติ
ฉะนั้นพวกเราสนิทกับทุกพรรค ถ้าการไปพบทุกพรรคมีความผิด ตนก็น่าจะโดนประหารชีวิตไปตั้งนานแล้ว เพราะเป็นความผิดมาก เนื่องจากมีความสนิทกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค
แต่พอเข้าในสภาก็อีกหน้าที่หนึ่ง ส่วนตัวก็อีกหน้าที่หนึ่ง ความเป็นคนไทยและเป็นสส.ที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่ง
ต่อข้อถามว่าจะมีการพบปะพูดคุยเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพภายในพรรคหรือไม่ นายเดชอิศม์กล่าวว่า พรรคเริ่มไม่มีเอกภาพตั้งแต่องค์ประชุมวิสามัญพรรคล่ม จนถึงวันนี้เรายังไม่รู้เลยว่าจะมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ได้เมื่อไหร่ ต้องไปถามกลุ่มคนบางกลุ่มที่ทำให้องค์ประชุมล่มว่าเขาต้องการอะไร
เมื่อถามว่าต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ขับออก เพื่อไปอยู่พรรคการเมืองใหม่หรือไม่ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ความจริงแล้วการขับออกจากพรรคต้องมีสส. ร่วมกับกรรมการบริหารพรรค และเป็นมติ 3 ใน 4 แต่ดูไปดูมาสส. และกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่อยู่ตรงนี้หมดแล้ว ไม่รู้ว่าจะขับใครกันแน่ ไม่ทราบเหมือนกันเพราะเสียงส่วนใหญ่อยู่นี่เกือบทั้งหมด ดังนั้นจะขับกันอย่างไร
ถามต่อว่าเสียงส่วนใหญ่จะขับเสียงส่วนน้อยออกหรือไม่ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ไม่คิดจะขับใครออกจากพรรค เราพร้อมจะพูดคุยและเจรจา แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาเจรจากับเราเลย ไม่ว่าจะเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หรือทิศทางใดๆ
เมื่อถามว่าหากเป็นเช่นนี้แล้วจะร่วมงานกันอย่างไร นายเดชอิศม์ กล่าวว่า เรายินดีพูดคุยอยู่บนเหตุและผล และความเป็นไปได้ อย่างที่ตนยืนยันว่าพวกเราไม่อยากพกมรดกความแค้นในอดีตแล้วมาให้เรารับต่อ หากนโยบายใหม่ที่ดีๆแล้วให้พวกเรารับต่อ เรายินดี และความจริงแล้วเราก็พบปะกันตลอดแต่เขาไม่พูดคุยกับเรา
“เราพร้อมที่จะออกจากความเป็นสส.ของพรรค พรุ่งนี้ มะรืนนี้ยังได้เลย หากเรามีความรู้สึกว่าเราทรยศประชาชน ฉะนั้นไม่ว่าคนใต้หรือคนทั้งประเทศ เราไม่เคยคิดทรยศ เราซื่อสัตย์ ทำงานให้กับประชาชน เรามาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่เราแคร์ที่สุดคือชาติ ประชาชน” นายเดชอิศม์ กล่าว
นายเดชอิศม์ กล่าว พรรคต้องเริ่มต้นจากการประชุมวิสามัญ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้ได้ จึงอยากฝากไปถึงฝ่ายที่ทำให้องค์ประชุมล่มว่าจะทำอย่างไรให้องค์ประชุมครบ ส่วนจะแข่งขันก็เป็นปกติของพรรคประชาธิปัตย์ พวกเรายินดีที่จะร่วมด้วย ถึงแม้พวกตนแพ้ไม่ได้เป็นกรรมการบริพรรคเราก็ยินดีให้ความร่วมมือ
สมัยปี 62 ตนไม่ได้เลือกนายจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรค แต่เมื่อมติที่ประชุมใหญ่เลือกนายจุรินทร์และคณะมาเป็นกรรมการบริหารพรรค พวกตนก็ทำหน้าที่ลูกพรรคที่ดี หลายครั้งที่มีขบวนการจะล้มนายจุรินทร์ แต่พวกตนไม่ยอม ปกป้องมาตลอด แสดงให้เห็นว่าพวกตนยินดีให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย
ถามย้ำว่าพูดได้หรือไม่ว่าขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์แตกแล้ว นายเดชอิศม์ กล่าวว่ายังไม่ถึงกับแตกหัก อาจจะมีความเห็นยังไม่ตรงกัน ยังมีเวลาและคิดว่าต้องลดทิฐิต้องมารับฟังกัน เพราะทุกคนมาจากประชาชน กว่าจะฝ่าฝันมาได้เป็นเรื่องยากมาก