เจียระไน ‘หยก’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เรื่อง “หยก”…

เกิดกระแสดรามากันทั้งสัปดาห์

บางคนบอกว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่มีคนจำนวนมากบอกว่า เรื่องใหญ่

บางคนอ้างว่าเป็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ แต่หลายคนบอกว่า เป็นเรื่องการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคม ซึ่งต้องมีกติกาคอยกำกับพฤติกรรม

“หยก” จึงเป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้าง

กว้างกว่าประเด็น หุ้นไอทีวีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ด้วยซ้ำ

ในแง่ปรากฏการณ์ทางสังคม “หยก” มีประเด็นให้พูดถึงหลากหลายแง่มุมมาก

แค่เส้นทางของ “หยก” ก็สามารถอธิบายเรื่องราวทางการเมืองช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมาได้เกือบจะครอบคลุม

“หยก” คือเหยื่อ คือ ผลิตผลของการเมืองสุดโต่ง ที่เอาแต่ใจตัวเอง

ในวันแรกๆ ที่มีการพูดถึง ประเพณีไหว้ครูว่าไร้ค่าล้าหลัง เจ้ายศเจ้าอย่าง หรือในวันแรกๆ ที่มีการพูดว่า พ่อ แม่ ไม่มีบุญคุณกับลูก ดังนั้นไม่ต้องชดใช้ ใครจะไปเชื่อว่าแนวความคิดนี้ถูกปั่นจนเยาวชนจำนวนหนึ่งซึมซับ กอดเป็นหลักการในชีวิต คิดว่าตัวเองคือศูนย์กลางของจักรวาล

วันนี้มันสำแดงออกมาแล้วครับโดย “หยก”

ความเชื่อที่ว่า การกระทำอย่างสุดโต่ง คือความถูกต้อง นับเป็นสิ่งอันตรายต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างยิ่ง

ที่น่าสะพรึง มิใช่ “หยก” คนเดียวเท่านั้นที่มีความคิดแบบนี้

เรากำลังมี ส.ส.สุดโต่งเข้าไปนั่งในสภา จะมากน้อย วันเวลาจะพิสูจน์ให้เห็นเอง แต่วันนี้เริ่มเห็นให้เป็นที่น่ากังวลแล้ว

“หยก” ย้อมสีผม แต่งชุดไปรเวตไปโรงเรียน เลือกเรียนเฉพาะวิชาที่อยากเรียน ไปพร้อมๆ กับการโทษระบบการเรียนการศึกษาว่าล้าหลัง

โทษว่าโรงเรียนคือตัวแทนของอนุรักษนิยม

“หยก” ไม่ร่วมกิจกรรมของโรงเรียน ไม่เคารพธงชาติ เพราะเพลงชาติมาจากเผด็จการ

แต่ “หยก” เลือกที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตัวเองไม่เห็นด้วย เพื่อให้บรรลุในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

แต่งชุดไปรเวตไปโรงเรียนอ้างว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่แต่งชุดนักเรียนไปทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

จนเป็นที่มาของวาทกรรม กระบวนการยุติธรรมรังแกเยาวชน

มีว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล ชื่อ “รักชนก ศรีนอก” แสดงความเห็นได้อย่างน่าวิตกอย่างยิ่ง

“…กฎระเบียบข้อไหนกันที่บังคับให้ต้องเอาพ่อแม่มาเท่านั้นถึงจะมอบตัวได้ แล้วแบบนี้เด็กกำพร้าที่ไม่มีทั้งพ่อและแม่ไม่ต้องมอบตัวไม่ต้องเรียนหนังสือหรือไง

ถ้ากลไกสภายังทำงานอยู่ ไอซ์จะร้องเรื่องนี้ให้กรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตอบคำถามสังคม

ไอซ์ขอยืนยันจุดยืน ไม่ควรมีเด็กคนไหนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยความไม่สมัครใจไม่ว่าด้วยกฎระเบียบข้อบังคับใดก็ตาม

ลองถามใจลึกๆ ดู ว่าควรมีเด็กคนไหนในประเทศนี้ต้องออกจากระบบการศึกษาไป เพราะสังคมบางส่วนรู้สึกว่าน้อง ‘ทำตัวไม่น่ารัก’ หรือเพราะไม่เคารพกฎระเบียบแบบเดิมๆ หรือป่าว เรากำลังต่อสู้กับขนบเดิมๆ กันอยู่ไม่ใช่หรือ…”

ปัจจุบันการหาข้อมูลไม่ได้ยากเย็นอะไร

ไม่ต้องวิ่งเข้าห้องสมุดใช้เวลาเกือบทั้งวันเพื่อหาข้อมูลอันน้อยนิด

แค่เสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตครู่เดียวก็เจอแล้ว แต่ว่าที่ ส.ส.ใช้ความรู้สึกใช้อารมณ์ในการค้นหาคำตอบ

ทัศนะที่ออกมาจึงบ่งบอกว่า ไร้กึ๋น

เด็กต้องอยู่ในการดูแลของผู้ปกครอง นี่เป็นกติกาสากล

การตั้งคำถามว่า เด็กกำพร้า จะเอาพ่อแม่มาจากไหนเป็นผู้ปกครอง เป็นการตั้งคำถามที่ปัญญาอ่อนอย่างมาก

พ่อแม่คือผู้ปกครอง แต่ผู้ปกครองก็ใช่ว่าจะเป็นพ่อแม่เสมอไป

กฎหมายมีเขียนไว้ นอกจากพ่อแม่แล้ว ผู้ปกครองยัง หมายถึง บุคคลอื่น ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อปกครองผู้เยาว์ ผู้ปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้อยู่ในปกครอง

ส.ส.ทำหน้าที่นิติบัญญัติคือออกกฎหมาย แต่ ส.ส.ดันไม่ค้นไม่อ่านกฎหมาย มันก็บรรลัยสิครับ

ประเด็นผู้ปกครอง เป็นเรื่องที่ “หยก” เข้าใจผิดเพราะตกเป็นเหยื่อของคนที่ตั้งตนเป็นผู้ปกครองให้ “หยก” มาตั้งแต่ต้น

แถลงการณ์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ตอนหนึ่งที่ระบุว่า

“ในการรายงานตัวดังกล่าว ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการมอบตัวตามประกาศการรับนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๖๖ ที่กำหนดให้นักเรียนต้องมามอบตัวที่โรงเรียนพร้อมกับผู้ปกครอง (มารดา) ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๖”

นั่นเพราะการรายงานตัวก่อนหน้า “หยก” ไปกับผู้ปกครองซึ่งเป็นแม่

แต่ครั้งนี้ไม่ปรากฏว่า “แม่” จะพา “หยก” ไปมอบตัว

สังคมจึงพากันถามหา “แม่หยก” ว่าติดขัดอะไร ทำไมถึงไม่พาลูกสาวไปมอบตัวกับโรงเรียน

เหมือนกับเมื่อครั้ง “หยก” ถูกส่งตัวเข้าบ้านปรานี จากคดี ม.๑๑๒ เพราะไม่มีผู้ปกครองมารับตัว

ครั้งนั้น เนติพร-บุ้ง ทะลุวัง อ้างตัวเป็นผู้ปกครอง แต่ศาลไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ทางกฎหมาย “หยก” จึงต้องอยู่ในการดูแลของรัฐ แต่แก๊งทะลุวังเอาไปโจมตีว่าศาลรังแกเด็ก

เห็น “สุณัย ผาสุข” ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย แนะนำว่า เรื่องเร่งด่วนตอนนี้ก็คือ ให้ความคุ้มครองแก่ “หยก” ด้วยการแต่งตั้งผู้ปกครอง ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ถูกต้องครับ “สุณัย” รู้จริง รู้ว่าถ้า “หยก” ไม่มีผู้ปกครองจะลำบากกว่านี้อีกเยอะ

ย้ายโรงเรียนก็จะเจอสภาพเดิม เพราะระเบียบของทุกโรงเรียนต่างถามหาผู้ปกครองกันทั้งนั้น

เยาวชนต้องมีผู้ปกครองปกป้องเป็นหลักการสากล

“อังคณา นีละไพจิตร” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เขียนถึงประเด็นนี้ไว้ชัดเจนครับ

“…ในส่วนของ ‘ผู้เยาว์-minor’ ตามกฎหมายไทย และกฎหมายระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับ #ผู้ปกครอง มาก ในอารัมภบทของ #อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ขององค์การสหประชาชาติ (Convention on the Rights of the Child- #CRC) ระบุว่า

…เชื่อว่า ครอบครัวในฐานะเป็นกลุ่มพื้นฐานของสังคมและเป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ สำหรับการเจริญเติบโตและการกินดีอยู่ดีของสมาชิกทุกคนโดยเฉพาะเด็กควรได้รับการคุ้มครองและการช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อที่จะสามารถมีความรับผิดชอบในชุมชนของตนได้เต็มที่”

“ยอมรับว่า เพื่อให้พัฒนาบุคลิกภาพได้อย่างกลมกลืนและเต็มที่ เด็กควรจะเติบโตในสิ่งแวดล้อมของครอบครัว ..” และ “คำนึงถึงว่า ตามที่ได้ระบุในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนั้น เด็กโดยเหตุที่ยังไม่เติบโตเต็มที่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงต้องการการพิทักษ์และดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงต้องการการคุ้มครองทางกฎหมายที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังการเกิด”…

มันคือหลักสากล

เมื่อ “แม่หยก” ไม่ปรากฏตัว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คนที่รัก “หยก” ควรจะไปขอให้ศาลมีคำสั่ง ตั้งผู้ปกครองตามกฎหมาย

และหวังว่าชีวิต “หยก” หลังมีผู้ปกครอง จะได้รับการขัดเกลาที่ดีกว่านี้

“หยก” สำหรับชาวจีน เป็นหินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ กว่าจะกลายเป็นหยกได้นั้น ต้องใช้เวลานับล้านๆ ปี ในการซึมซับพลังจากจักรวาล อันประกอบไปด้วย พลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ และพลังงานความเย็นจากดวงจันทร์ รวมไปถึงพลังงานจากดวงดาวต่างๆ

ชาวจีนจึงถือว่าหยกเป็นหินที่เป็นแหล่งรวมพลังของชีวิต

“หยก” และเยาวชนแบบหยก ยังสามารถเจียระไนให้เป็นหยกชิ้นงามได้ หากซึมซับความเป็นไปอีกด้านของการเมืองสุดโต่ง

แต่หากได้ผู้ปกครองแบบ “เนติพร-บุ้ง ทะลุวัง” ที่พยายามอ้างจะเป็นอยู่บ่อยครั้งก็คงต้องปล่อย

แล้วแต่เวรแต่กรรมชาติปางก่อน

Written By
More from pp
“จุรินทร์ ออนทัวร์ เขตตลิ่งชัน” เปิดตัว 7 สก.หญิง ปชป. เน้นบทบาทสตรีมีส่วนร่วมการเมือง ลั่น !!! พื้นที่ กทม.ประชาธิปัตย์พร้อม 90%
วันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. ศูนย์ประสานงานพรรคประชาธิปัตย์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหามนคร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์...
Read More
0 replies on “เจียระไน ‘หยก’ – ผักกาดหอม”