ผักกาดหอม
วินาทีนี้ต้องยกนิ้วให้จริงๆ
“วิษณุ เครืองาม” กับการชี้โพรงรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ที่จริง “วิษณุ” ก็ไม่ถึงกับเชียร์ให้เกิด
แต่ในทางทฤษฎี มันมีความเป็นไปได้
และเมื่อพลิกรัฐธรรมนูญดูแล้ว ยุคนี้มีโอกาสเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้มากที่สุด
แต่หากเลยเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๖๗ เป็นอันเลิกคุย เพราะวุฒิสภาจะถูกริบอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๒ ที่บัญญัติว่า… ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๙ เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙ วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๙ วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
วุฒิสภาชุดนี้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ ก็ครบ ๕ ปีเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๗
ฉะนั้นหลังการเลือกตั้ง ๑๔ พฤษภาคมนี้ น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่วุฒิสภาทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี
เว้นเสียว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่ แล้วเกิดเหตุนายกฯ ยุบสภา หรือลาออกในเร็ววัน ก็อาจได้เห็นวุฒิสภาเลือกนายกฯ อีกครั้ง
แล้วรัฐบาลเสียงข้างน้อยเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ก็ตามที่ “วิษณุ” ชี้โพรงไว้ ขั้นตอนการตั้งรัฐบาลมันใช้เวลา
กระบวนการจับขั้วจะชัดเจนตอนเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
หากเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย ประธานรัฐสภาจะกลายเป็นคนของฝ่ายค้าน
แต่ก็ไม่แน่เสมอไป หากเกิดการสลับขั้วขึ้นมา
“วิษณุ” พูดถึงการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในทางทฤษฎี
“…เห็นทุกพรรคการเมืองพร้อมใจกันพูดว่าจะไม่ให้เกิดไม่ใช่หรือ แต่โดยมากแล้วรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นไม่ควรจะตั้ง แต่ถ้าหนีไม่พ้นแล้วจำเป็นต้องตั้งก็จะเป็นเสียงข้างน้อยอยู่ไม่กี่วันและจะเป็นเสียงข้างมากขึ้นมาเอง คงไม่อยู่ไปถึงขนาดไปเจอกฎหมายงบประมาณ…”
ความหมายคือ ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปก่อน แล้วค่อยดูด ส.ส.จากขั้วตรงข้ามทีหลัง
แล้วใครจะเป็นฝ่ายตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
หากผลเลือกตั้ง พรรคร่วมรัฐบาลเดิม รวมกันแล้วได้เสียง ส.ส.น้อยกว่าอีกขั้ว การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอาจเกิดขึ้นได้ เพราะ ส.ว. ๒๕๐ คน ยังถูกคาดหมายว่าจะไม่แปรพักตร์ไปเข้ากับขั้วการเมืองที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ
แต่การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ คือช่วงเริ่มแรกเท่านั้น
กระบวนการดูด ส.ส.จนกลายเป็นเสียงข้างมากในสภา จะต้องเสร็จสิ้นก่อนมีกฎหมายของรัฐบาลเข้าสภา
หากไม่ทันรัฐบาลพังทันที เพราะแพ้โหวต
โพรงที่ชี้นี้ หากเป็นไปได้ ไม่ควรทำ นอกจากไม่สง่างามแล้ว ยังจะสร้างปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหนักขึ้น
เป็นประเพณีทางการเมืองที่ไม่ควรสร้างขึ้นมา
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร
หลังเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ ก็มีการพูดประเด็นนี้กันมาแล้ว เพราะการแข่งกันตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทย กับ พรรคพลังประชารัฐ มีตัวแปรมากมาย
โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์
หากวันนั้นพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจไม่อยู่ข้างพรรคพลังประชารัฐ โฉมหน้ารัฐบาลเปลี่ยนทันที แม้พรรคพลังประชารัฐจะมีวุฒิสภาหนุนหลังอยู่ก็ตาม
เราอาจได้เห็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่มาเก็บ ส.ส.เอาทีหลัง
หรือไม่ก็ได้เห็นพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล
ปี ๒๕๑๘ เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายกัน แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันพอสมควร
การเลือกตั้งทั่วไปปี ๒๕๑๘ มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมายหลายพรรค สมกับยุคที่เรียกว่า ประชาธิปไตยเบ่งบาน
ตัวละครหลักคือ ๒ พี่น้อง
พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย “หม่อมพี่” ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
ส่วนพรรคกิจสังคม นำโดย “หม่อมน้อง” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ผลเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ๗๒ ที่นั่ง
รวมกับพรรคเกษตรสังคม แนวร่วมสังคมนิยม และพรรคอื่นๆ ได้เสียงสนับสนุน ๑๐๓ ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
แต่เสียงกึ่งหนึ่งของสภาในขณะนั้นคือ ๑๓๕ เสียง
ฉะนั้นรัฐบาล “หม่อมพี่” จึงเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
แต่ “หม่อมพี่” เชื่อมั่นว่าจะสามารถล็อบบี้ ส.ส.มาร่วมรัฐบาลเพิ่มจนเกิน ๑๓๕ เสียงได้
เมื่อมาถึงการแถลงนโยบาย รัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๗ บัญญัติว่า การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร
ถึงวันแถลงนโยบาย กลายเป็นว่ารัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้รับเสียงสนับสนุนเพียง ๑๑๑ เสียงเท่านั้น
มีถึง ๑๕๒ เสียงที่ไม่เห็นชอบ
รัฐบาลหม่อมพี่จึงพังพาบ
“ม.ร.ว.เสนีย์” อยู่ในตำแหน่งนายกฯ เพียง ๒๗ วันเท่านั้น
จากนั้นถึงคิว “หม่อมน้อง”
“ม.ร.ว.คึกฤทธิ์” เปิดเจรจากับพรรคการเมืองขนาดกลางอีก ๘ พรรค รวม ส.ส.ได้ ๑๓๕ ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาสำเร็จ
โดยที่พรรคกิจสังคมมีเพียง ๑๘ เสียงเท่านั้น
ด้วยความที่พรรคกิจสังคมมีเพียง ๑๘ เสียงทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลง่อนแง่น “หม่อมน้อง” เป็นนายกฯ ท่ามกลางการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลสูงสุด
แต่ก็ประคับประคองรัฐบาลได้ปีกว่า สุดท้ายต้องยุบสภา
ที่สหราชอาณาจักรก็เพิ่งจะเกิดไปเมื่อปี ๒๕๖๐
หลังเลือกตั้ง พรรคอนุรักษนิยมของ “เทเรซา เมย์” บรรลุข้อตกลงเรื่องการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยกับพรรคเดโมแครติก ยูเนียนอิสต์ พรรคการเมืองแนวคิดอนุรักษนิยมจากไอร์แลนด์เหนือ
การเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคอนุรักษนิยม มี ส.ส. ๓๑๗ ที่นั่ง จากทั้งหมด ๖๕๐ ที่นั่ง
กึ่งหนึ่งคือ ๓๒๖ เสียง
“เทเรซา เมย์” ตั้งรัฐบาลแล้วดูดพรรคเดโมแครติก ยูเนียนอิสต์ ที่มี ๑๐ เสียงเข้ามา
กลายเป็นรัฐบาล ๓๒๗ เสียง
ครับ…สำหรับประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ๑๔ พฤษภาคม โอกาสเปิดกว้างมากกว่าปี ๒๕๖๒ เพราะพรรคการเมืองหลายพรรคมีความยืดหยุ่นในการขยับย้ายขั้วมากกว่า
ตัวแปรสำคัญ ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย
ฉะนั้นรัฐบาลเสียงข้างน้อย มีความเป็นไปได้ไม่น้อยเช่นกัน