16 มีนาคม 2566 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ พรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ประกอบด้วย ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์ นายนิธิ บุญยรัตกลิน และนายกานต์ กิตติอำพน ตัวแทนประชาชนจากคนทุกช่วงวัยและคนรุ่นใหม่ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่าน เวที Workshop “ปลดล็อก ทลายGen ร่วมคิด ระดมทำ” เพื่อขยายผลและนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน และมองภาพอนาคตของประเทศไทยนับจากนี้ไป
โดยให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นร่วมกันที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งไปอย่างไร ที่นำพาประเทศไปข้างหน้า สู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ถือเป็นนโยบายหลักของพรรค
ซึ่งครั้งนี้เป็นการรับฟังจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ผ่านทุกเจนเนอเรชั่นรวมเป็นพลังใหม่ ที่สะท้อนเสียงผ่านว่าที่ผู้สมัครของพรรค ไปสู่การรวบรวมข้อเสนอไปสู่การจัดทำนโยบาย เพื่อให้เกิดการแก้ไข และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ในทุกมิติ
ซึ่งพรรคจะมีเวทีให้กับประชาชนร่วมกับว่าที่ผู้สมัครร่วมหาแนวทางในประเด็นต่าง ๆ โดยในครั้งหน้าจะเป็นเรื่องแนวทางการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน เพื่อจะนำไปสู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ในการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ พรรคได้เห็นความสำคัญใน 4 มิติ
1.มิติทางการเมือง ทุกฝ่ายมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ โดยพร้อมเปิดให้ทุกฝ่ายและคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การหาข้อสรุประบบประชาธิปไตย
2. มิติทางด้านวัฒนธรรมจะต้องมีความหลากหลายทางด้านศาสนา และวัฒนธรรม ที่จำเป็นต้องรับฟังและนำมาสู่แนวทางการทำนโยบายให้ตอบโจทย์กับทุกช่วงวัย
3.มิติทางด้านเศรษฐกิจ จะต้องมีนโยบายให้เข้าถึงตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน และ สังคม ให้สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง
4.มิติทางสิ่งแวดล้อม พรรคพร้อมที่จะประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำไปสู่การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าเรื่องมลพิษที่เกิดขึ้น
“ขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาต่าง ๆ และความต้องการของประชาชน ของว่าที่ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งข้อสรุปในครั้งนี้จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายของพรรคที่มาจากเสียงสะท้อนภาคประชาชนอย่างแท้จริง
ซึ่งพรรคฯ พร้อมจะเดินหน้าเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงการช่วยเหลือและนำไปสู่การกำหนดนโยบายในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริงและให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ศ.ดร.นฤมลกล่าว
ด้านนายนิธิ กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการทำกิจกรรมในวันนี้ก็คงจะเป็นการตอกย้ำว่า สังคมไทยยังมีเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง รวมถึงความคิดเห็นที่แตกต่าง ในช่วงวัยต่าง ๆ สำหรับคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า จริงอยู่ว่าภาพของความขัดแย้งอาจจะไม่ได้รุนแรง หรือแบ่งสีแบ่งขั้วเหมือนในอดีต แต่ปัญหาทุกวันนี้ซึมลึกและซ้ำซ้อนกระจายออกไปในวงกว้างในสังคม ลึกลงไปจนถึงระดับครอบครัว
“ความต้องการของประชาชนในตอนนี้ คือ ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อยากเห็นอนาคตของลูกหลานได้โตมาในประเทศที่ชื่อว่า เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะเราย่ำอยู่กับประเทศที่กำลังพัฒนามานานแล้ว ด้านคนรุ่นใหม่ก็อยากเห็นความเป็นอยู่ที่ดี ความยุติธรรมในสังคมระบบราชการที่เป็นที่พึ่ง ที่หวังให้กับสังคมได้ เราต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งกันและกัน คนรุ่นใหม่นำประสบการณ์จากคนรุ่นเก่า มาร่วมกันพัฒนาประเทศ”นายนิธิ กล่าว
ด้าน ดร.บุณณดา กล่าวว่า ประเทศไทยมีความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรม ในเรื่องที่เราจะก้าวความขัดแย้งด้วยกัน เราจะก้าวข้ามอย่างไร เราจะก้าวข้ามไปสู่การพัฒนาที่มีส่วนร่วมร่วมกันได้อย่างไร วันนี้มีภาคประชาชน ผู้นำของชุมชน รวมถึงน้อง ๆ ในชุมชน และผู้สูงอายุ เรียกได้ว่ามีความแตกต่างกันในช่วงวัย ความเชื่อ และความไม่เข้าใจกันในหลายหลายเรื่อง
สิ่งที่เรา หาทางออกร่วมกัน และอยากจะนำเสนอเป็นนโยบายก็คือ เราจำเป็นแล้วหรือไม่ ที่เราจำเป็นต้องมีหลักสูตรการเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ที่อาจจะต้องบรรจุเข้าไปการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการเลยหรือไม่ โดยมีเป้าหมายนำพาประเทศไปสู่สันติสุข
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในหลายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝุ่น เรื่องน้ำ เรื่องพันธุ์พืช และสัตว์น้ำ ที่กลายเป็นเรื่องเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ปัญหาอย่างหนักในตอนนี้คือ ปัญหาเรื่องฝุ่น ที่คนไทยเกือบครึ่งประเทศกำลังประสบปัญหาเรื่องนี้อยู่
สิ่งที่เราต้องทำ คือการสร้างความตระหนักต่อสาธารณะ เราจำเป็นต้องปลูกฝังคนไทยตั้งแต่ในช่วงวัยเด็ก เหมือนเช่นหลาย ๆ ประเทศ จนทุกคนมีสำนึกในการรักษ์โลก เริ่มต้นจาก การคัดแยกขยะ ที่สามารถเริ่มต้นได้กับทุกคน ทุกวัย ทุกเพศ เราก็จะได้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ รวมไปถึงขยะเหล่านี้ก็ยังกลายเป็นรายได้ให้กับคนในชุมชนได้ด้วย
ด้านนายกานต์ กล่าวว่า สตรีทฟู้ด ถือเป็นจุดเด่น และจุดขายให้กับการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งอาหารสตรีทฟู้ดมีกระจายอยู่หลายพื้นที่ใน กทม.ดังนั้น หากเราดึงร้านเหล่านี้ออกมารวมกันเป็นดาต้าฮับเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และในประเทศให้สามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ง่าย ก็จะเป็นการเพิ่มและกระจายรายได้ไปในพื้นที่ต่างๆได้กว้างขวางมากขึ้น