“กรมสรรพากร” เผยหลักเกณฑ์มาตรการภาษี “ช้อปดีมีคืน” ปี 2566 ลดหย่อนสูงสุด 40,000 บาท เริ่ม 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2566

ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ปี 2566 เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 42,000 ล้านบาท และจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ปี 2566 เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 42,000 ล้านบาท และจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจประเทศ

โดยสามารถลดหย่อนภาษีจากค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 สำหรับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) ลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท”

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ทั้งการส่งเสริมการอ่าน จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี พร้อมทั้งออกร่างประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ปี 2566” โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

1. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรหรือใบรับซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมระบุชื่อและนามสกุลของผู้มีเงินได้ในรูปแบบกระดาษหรือ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt แล้วแต่กรณี

2. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนอีกไม่เกิน 10,000 บาท จะต้องมี e-Tax Invoice หรือ e-Receipt แล้วแต่กรณีเท่านั้น

ทั้งนี้ e-Tax Invoice ตามข้อ 1 และข้อ 2 ในที่นี้หมายความรวมถึง e-Tax Invoice by Email ด้วย

ในการใช้สิทธิลดหย่อนตามข้อ 1 และข้อ 2 ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่รวมถึงค่าสินค้าหรือค่าบริการ ดังนี้

(1) ค่าสุรา เบียร์ และไวน์
(2) ค่ายาสูบ
(3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
(4) ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ

(5) ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
(6) ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
(7) ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

(8) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
(9) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ (วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566) เช่น ค่าสมาชิกต่าง ๆ
(10) ค่าประกันวินาศภัย

3. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ แต่ต้องได้รับใบรับ ซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมระบุชื่อและนามสกุลของผู้มีเงินได้

(1) ค่าซื้อหนังสือ
(2) ค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
(3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว”

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ปี2566 นี้คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ 1.4 ล้านคน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นที่เป็นเศรษฐกิจระดับฐานราก ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการอ่าน อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้” หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

Written By
More from pp
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต มอบสินไหมมรณกรรม หนึ่งในคุณครูผู้เสียชีวิตเหตุรถบัสทัศนศึกษา
นายชาญวุฒิ โชติวิทยากุล ผู้จัดการ อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย สาขานครสวรรค์ เป็นตัวแทนของ บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต...
Read More
0 replies on ““กรมสรรพากร” เผยหลักเกณฑ์มาตรการภาษี “ช้อปดีมีคืน” ปี 2566 ลดหย่อนสูงสุด 40,000 บาท เริ่ม 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2566”