ผักกาดหอม
พระเจ้าช่วยกล้วยทอด
เห็นทีพรรคคู่แข่งของพรรคเพื่อไทย ไม่น่าจะใช่พรรคพลังประชารัฐเสียแล้ว
พรรคภูมิใจไทยมาแรงจริงๆ
ตามรายงานข่าวบอกว่า มี.ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นเตรียมย้ายเข้าภูมิใจไทยร่วมๆ ๕๐ คน
วันนี้พรรคภูิใจไทยมีส.ส.อยู่ในสังกัดรวม ๖๕ คน
หากมีส.ส.ย้ายพรรคตามจำนวนที่ว่าจริง พรรคภูมิใจไทยมีส.ส.ตุนในมือทะลุ ๑๐๐ คน!
ย้ายมาจากไหนกันบ้าง
พรรคพลังประชารัฐ ๑๔ คน
พรรค เพื่อไทย ๑๐ คน
พรรคก้าวไกล ๕ คน
เศรษฐกิจไทย ๓ คน
และมาจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคชาติพัฒนา พรรครวมพลัง พรรคละ ๑ คน
ยังมีดีลในทางลับอีกประมาณ ๕-๖ คน
เบื้องต้นในวันที่ ๑๖ ธันวาคมนี้ จะมี ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่จะย้ายมาพรรคภูมิใจไทย ไม่ต่ำกว่า ๔๓ คน
ดูตัวเลขพรรคพลังประชารัฐแล้วช่วงนี้ “ลุงป้อม” น่าจะนอนไม่ค่อยหลับ ต้องคิดเยอะ เพราะยังไม่นับส่วนที่ตาม “ลุงตู่” ไปรวมไทยสร้างชาติอีก ยังไม่รู้ว่ากี่คนกันแน่
แต่เป็นสิบ!
หักลบกลบหนี้กับการดึง “กลุ่มธรรมนัส” กลับก็ยังขาดทุนอยู่พอสมควร
นี่เป็นแค่ตัวเลขเอาไว้ประเมินคร่าวๆ ครับว่า พรรคไหนจะได้ส.ส.มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคการเมืองไหน
เพราะเอาเข้าจริงส.ส.หน้าเก่าใช่ว่าจะสอบผ่านกันทุกคน
การเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาส.ส.หน้าเก่าสอบตกไปก็เยอะ ส.ส.หน้าใหม่จากทุกพรรคการเมืองตบเท้าเข้าสภาฯ ก็แยะ
จากข้อมูลส.ส.ในสภาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ จะเห็นได้ชัดเจนว่าถึงจะเก๋าแต่ก็ร่วงไปเยอะ
ในวันนั้นกกต.ประกาศรับรอบ จำนวน ๔๙๘ คน
เทียบกับส.ส.ในปี ๒๕๕๔ จำนวนทั้งสิ้น ๕๒๗ คน
ผลเป็นดังนี้ครับ
มีจำนวน ๑๘๐ คนที่เป็นส.ส.เดิมในปี ๒๕๕๔ และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี ๒๕๖๒
นั่นก็คือส.ส.หน้าเก่า
คิดเป็น ๓๖% ของจำนวนส.ส.ทั้งหมด
ที่เหลืออีก ๓๑๘ คน เป็นส.ส.หน้าใหม่ที่ไม่เคยเป็นส.ส.มาก่อน
ถือว่าเยอะมาก ก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ว่าการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ มีการล้มช้าง ล้มยักษ์มากเป็นประวัติการณ์ครั้งหนึ่งเลยทีเดียว
ในจำนวนนี้หากแยกตามรายพรรคพบว่าพรรคเพื่อไทย ๕๑% เป็นส.ส.หน้าเก่า
รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ ๒๑%
พรรคพลังประชารัฐ ๑๔%
พรรคภูมิใจไทย ๑๐%
และพรรคอื่นๆ ๗%
ส่วนส.ส.หน้าใหม่จำนวน ๓๑๘ คน
มาจาก พรรคพลังประชารัฐ ๒๘%
รองลงมาคือพรรคอนาคตใหม่ ๒๕%
พรรคเพื่อไทย ๑๔%
พรรคภูมิใจไทย ๑๐%
และพรรคประชาธิปัตย์ ๔%
ในบรรดาส.ส.หน้าเก่าของแต่ละพรรค เป็นส.ส.หน้าเก่าที่ย้ายพรรค จำนวน ๓๘ คน
พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคที่มีส.ส.หน้าเก่า ๒๕ คน
หรือคิดเป็น ๒๑% ของส.ส.พรรคพลังประชารัฐทั้งหมด ๑๑๕ คน
ส.ส.เหล่านี้ ๖๔% ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย
รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ ๒๐%
และพรรคพลังชล ๘%
ครั้งนั้น พรรคภูมิใจไทย มีส.ส.เก่าจากพรรคอื่น ๖ คน อาทิจากพรรคประชาธิปัตย์ ๑ คน พรรคเพื่อไทย ๒ คน เป็นต้น
ครับ…การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ ยากที่จะตอบได้ว่า ส.ส.หน้าเก่า จะสอบผ่านกี่คน ที่ย้ายกันไปย้ายกันมา ณ เวลานี้ สักกี่เปอร์เซ็นต์จะได้กลับเข้าสภาใหม่อีกครั้ง
หากเทียบสถานการณ์การเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ กับปีนี้ ถือว่ามีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อยทีเดียว
เพราะสูตรหารร้อย บรรดาหน้าเก่านานนมจากพรรคเพื่อไทย จะโผล่มาในฐานะส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ส่วนพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่) ที่เคยได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็นกอบเป็นกรรมผิดธรรมชาติ คราวนี้น่าจะลดลงไปเยอะพอควร
สำหรับพรรคเล็ก พรรคเกิดใหม่ หากอยากแจ้งเกิดอีกครั้งมีแค่ ๒ ทางเลือก คือรวมพรรค หรือไม่ก็ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และขนาดกลางแทน
อีกไม่กี่วันจะมีความชัดเจนว่าพรรคสร้างอนาคตไทย กับพรรคไทยสร้างไทย ควบรวมกัน
คนหน้าเก่าลานตาอยู่
กลุ่ม ๔ กุมาร อดีตทีมเศรษฐกิจตระกูลคนละครึ่งจากพรรคพลังประชารัฐ นำโดย อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ จะรวมกับพรรคคุณหญิงหน่อย, ศิธา ทิวารี
สรุปคือ คนหน้าเก่าจากพรรคใหญ่ ก็แตกออกมาเยอะทีเดียว
ที่ยังต้องรอดูคือพรรครวมไทยสร้างชาติที่ “ลุงตู่” จะไปเป็นหัวให้ ก็คงต้องปลุกเสกกันไม่น้อย เพราะต้องได้ส.ส.เข้าสภา ๒๕ ที่นั่ง เพื่อจะได้เสนอชื่อแคนดิเดตชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
ก็เป็นอันว่าการเมืองวันนี้ยังเป็นเรื่องของน้ำจิ้มอยู่ เมนูหลักยังไม่มา
เรื่องยุบสภาก็กองเอาไว้ก่อนหลังปีใหม่ค่อยมาว่ากัน
รอของจริงใกล้ๆ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ กำหนดเส้นตายย้ายพรรค ความชัดเจนจะบังเกิด
แม้กระทั่ง “ลุงตู่” เอง ก็ต้องเคลียร์แล้วว่าจะไปอยู่พรรคไหน
เหตุผลง่ายๆ ถ้าไม่ย้ายก่อนวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ แล้วเกิดไม่มีการยุบสภา ก็จบเห่ครับ
ต้องสมัครส.ส.ในนามพรรคเดิม เพราะการไปพรรคใหม่ ต้องเป็นสมาชิกพรรคไม่ต่ำกว่า ๙๐ วัน จึงจะมีสิทธิสมัครส.ส.
ฉะนั้นวันนี้คนคุมเกมจึงยังเป็น “ลุงตู่” ครับ