25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณี และเรือนานาชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2565
โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานครเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ประเพณี และการส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม จึงได้ร่วมกับสมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดการแข่งขันเรือยาวประเพณี เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูประเพณีการแข่งขันเรือยาวให้คงอยู่ท่ามกลางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในกระแสของเทคโนโลยีสมัยใหม่
นอกจากนี้ การจัดการแข่งขันเรีอยาวประเพณียังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร และเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักของนานาประเทศต่อไป
“ เป็นกิจกรรมที่หยุดไปตั้งแต่ปี 58 ปีนี้เราเริ่มจัดใหม่เพื่อแสดงความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยาและวิถีชีวิต จริงๆแล้วจัดปีนี้ถูกต่อว่าเยอะว่าทำไมไม่เชิญจังหวัดอื่นๆในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดมาแข่ง ทำไมเชิญแต่จังหวัดนนทบุรี ปีนี้ทดลองก่อน ปีหน้าจัดใหญ่เลย จะเชิญทั้งหมด โดยในวันพรุ่งนี้จะมีคู่หยุดโลกระหว่างกรุงเทพมหานคร (เรือเอราวัณ) พบ นนทบุรี (สาวเมืองนนท์) และขอให้มาเชียร์กันเยอะๆ และขอให้งานจัดด้วยความปลอดภัย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
สำหรับการแข่งขันเรือประเภทต่าง ๆ รวม 38 ทีม ประกอบด้วย
1. เรือยาวประเพณี 55 ฝีพาย มีทีมเรือเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 8 ทีม
2. เรือยาวประเพณี 30 ฝีพาย มีทีมเรือเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 12 ทีม
3. เรือยาวนานาชาติ 10 ฝีพาย ชาย มีทีมเรือเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 8 ทีม
4. เรือยาวนานาชาติ 10 ฝีพาย หญิง มีทีมเรือเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 8 ทีม
5. เรือยาวประเพณี 30 ฝีพาย หญิง คู่พิเศษระหว่าง กรุงเทพมหานคร (เรือเอราวัณ) พบ นนทบุรี (สาวเมืองนนท์)
ทุกทีมที่ชนะการแข่งขันจะได้รับถ้วยรางวัลจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
โดยมีรายละเอียดการแข่งขันและเงินรางวัล ดังนี้ ประเภทการแข่งขันและเงินรางวัลในการแข่งขัน
1. เรือยาวประเพณี 55 ฝีพาย จะได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล 400,000 บาท
2. เรือยาวประเพณี 30 ฝีพาย จะได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล 200,000 บาท
3. เรือยาวนานาชาติ 10 ฝีพาย ชาย ระยะ 500 เมตร จะได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล 80,000 บาท
4. เรือยาวนานาชาติ 10 ฝีพาย ชาย ระยะ 200 เมตร จะได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล 80,000 บาท
5. เรือยาวนานาชาติ 10 ฝีพาย หญิง ระยะ 500 เมตร จะได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล 80,000 บาท
6. เรือยาวนานาชาติ 10 ฝีพาย หญิง ระยะ 200 เมตร จะได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล 80,000 บาท
7. เรือยาวประเพณี 30 ฝีพาย หญิง คู่พิเศษ จะได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท
ค่าเชิญเรือในการแข่งขันที่มอบให้ทีมเรือยาวประเพณีที่เข้าร่วมการแข่งขัน
1. เรือยาวประเพณี 55 ฝีพาย ทีมละ 70,000 บาท
2. เรือยาวประเพณี 30 ฝีพาย ทีมละ 40,000 บาท
รวมเงินรางวัลพร้อมค่าเชิญเรือ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,225,000 บาท
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานประเพณีการแข่งขันเรือยาว ในวันที่ 25 – 26 พ.ย. 65 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณสะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) เขตบางพลัด โดยวันที่ 25 พ.ย.65 เป็นการแข่งขันรอบคัดเลือก และวันที่ 26 พ.ย.65 เป็นรอบชิงชนะเลิศ เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป สามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง Face book : thailongboat และ You tube ของทางกรุงเทพมหานคร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว (กองการกีฬา) โทรศัพท์ 0-2246-8079
กิจกรรมวันนี้ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทย ผู้บริหารเทศบาลนครนนทบุรี ผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ผู้บริหารสำนักเทศกิจ ผู้บริหารเขตบางพลัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน ณ บริเวณสะพานพระราม 8 เขตบางพลัด