โรงพยาบาลโรคมะเร็งระดับโลกในญี่ปุ่นเลือกไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยยาและการรักษาผู้ป่วยด้วย Telemedicine ของเอเชีย

24 พฤศจิกายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ป่วยมะเร็งในอัตราสูง และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ ทำให้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้แสวงหาความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อลดอัตราการป่วย การเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย ตลอดจนลดการเสียชีวิตของคนไทยให้ได้มากที่สุด

โดยขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินความร่วมมือกับโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Center Hospital (NCCH)) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลโรคมะเร็งระดับโลกภายใต้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ญี่ปุ่น (National Cancer Institute, Japan) เพื่อดำเนิน 2 โครงการวิจัยด้านมะเร็งในประเทศไทย ได้แก่ Asian Cancer Trials Network (ATLAS) ที่เป็นโครงการพัฒนายา และเวชศาสตร์จีโนม (Genomic Medicine)

ซึ่งเป็นการแพทย์ที่อาศัยเทคโนโลยีพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล เพื่อวินิจฉัยและพยากรณ์โรค และ โครงการ Decentralized Clinical Trials (DCT) ซึ่งศึกษาวิจัยการรักษาผู้ป่วยมะเร็งผ่านระบบ Telemedicine ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้การรักษาผู้ป่วยผ่านระบบทางไกลจากญี่ปุ่น และมีแพทย์ในประเทศไทยร่วมควบคุมกระบวนการรักษา

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ปัจจุบัน NCCH ได้ดำเนินโครงการลักษณะเดียวกันนี้เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูลการวิจัยในหลายประเทศในเอเชีย อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน แต่ NCCH ได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการดำเนินการวิจัย และประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยารักษามะเร็งที่ได้จากการวิจัย เพื่อกระจายไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบัน NCCH ได้ตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อขับเคลื่อนทั้ง 2 โครงการที่กรุงเทพฯ แล้ว และเมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้บริหารของ NCCH ได้เดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แพทยสภา องค์การอาหารและยา(อย.) และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมโครงการ

และได้มีการนำประเด็นความคืบหน้าต่างๆ ที่ได้มีการหารือระดับเจ้าหน้าที่เพื่อนำมาหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอรับการสนับสนุนจากระดับนโยบาย ในช่วงที่นายอนุทินได้นำคณะเพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว

โดยรองนายกรัฐมนตรีได้รับทราบประเด็นที่ NCCH ขอให้ช่วยเหลือผลักดัน และยืนยันว่าฝ่ายไทยจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะโครงการนี้เป็นโอกาสที่จะพัฒนาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเวชศาสตร์จีโนม และเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยที่จะเข้าถึงยาและการรักษาที่ทันสมัยมากขึ้น

ขณะที่แพทย์ไทยก็รับองค์ความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับการจัดการการรักษามะเร็ง และสถาบันเฉพาะทางในไทยก็จะสามารถดึงดูดผู้ป่วยในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการการรักษามะเร็งเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยได้

ในการนี้ นายอนุทิน และนพ.โอภาส ได้เห็นร่วมกันและมอบหมายให้ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งดูแลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยและ NCCH ต่อไป พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำขอให้ NCCH ให้ความสำคัญสูงสุดต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยชาวไทย ตลอดจนการเข้าถึงยาของผู้ป่วยอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

Written By
More from pp
LINE STICKERS เตรียมจัดงานประกาศรางวัล LINE STICKERS AWARDS 2022 ชวนแฟน LINE STICKERS ให้กำลังใจและร่วมลุ้นรางวัล “สติกเกอร์ยอดนิยมแห่งปี” 27 ก.พ. นี้
LINE STICKERS เตรียมจัดงาน LINE STICKERS AWARDS 2022 มอบรางวัลให้กับครีเอเตอร์ ดารา และศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานลายเส้นสติกเกอร์ที่โดดเด่นและได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานสติกเกอร์บนแอปพลิเคชัน LINE ตลอดทั้งปี...
Read More
0 replies on “โรงพยาบาลโรคมะเร็งระดับโลกในญี่ปุ่นเลือกไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยยาและการรักษาผู้ป่วยด้วย Telemedicine ของเอเชีย”