“เนื้อวากิว” เป็นอีกเมนูเด็ดไว้ต้อนรับผู้นำในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย – แปซิฟิกหรือเอเปก 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน2565 โคเนื้อวากิวนิยมเลี้ยงกันในในแถบอีสานใต้ โดยเฉพาะ จ.สุรินทร์ถือเป็นถิ่นโคเนื้อวากิวที่ชาวบ้านมีการเลี้ยงเป็นอาชีพอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนสามารถสร้างรายได้อย่าง เป็นกอบเป็นกำ
สหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จำกัด ในตำบลยางสว่าง อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ อีกหนึ่งในสหกรณ์ที่ประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงโคเนื้อวากิว ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างวากิวญี่ปุ่นกับวัวพื้นเมืองไทย เนื่องจากเนื้อวากิวมีราคาค่อนข้างสูง แม้จะเลี้ยงยากโตช้าน้ำหนักน้อยกว่าเมื่อเทียบกันวัวลูกผสมอื่น ๆ อย่างบรามันหรือชาโลเล่
นายเรืองศักด์ สีตะริสุ ประธานกรรมการสหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จำกัดเล่าว่าเมื่อก่อนชาวบ้านในตำบลยางสว่างนิยมเลี้ยงกระบือเป็นอาชีพและอ.รัตนบุรีเป็นพื้นที่มีการเลี้ยงกระบือมากที่สุดของจ.สุรินทร์ แต่มาช่วงหลังการเลี้ยงกระบือเริ่มหายไป ก่อนกลับมาพลิกฟื้นอาชีพเลี้ยงโคเนื้อวากิวขึ้นมาใหม่อีกครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากขายได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของพ่อค้าและผู้บริโภค ทว่าผลจากการต่างคนต่างเลี้ยง ต่างคนต่างขาย ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าหรือนายฮ้อย ชาวบ้านก็ขายตัดราคากัน ทำให้ไม่เป็นผลดีต่อคนเลี้ยง จึงมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ภายใต้ชื่อ สหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิก 110 ราย ทุนดำเนินงาน 3.5 ล้านบาท
นายเรืองศักดิ์เผยต่อว่าปัจจุบันสหกรณ์มีโคเนื้อวากิวอยู่ประมาณ 600 ตัวแบ่งเป็นแม่พันธุ์ 80 ตัว ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะเลี้ยงโคต้นน้ำ โดยลูกโคที่เกิดมาประมาณ 15-18 เดือนก็จะจำหน่ายให้กับทางสหกรณ์ไปขุนต่อ โดยสหกรณ์รับซื้อลูกโคจากสมาชิกสนนในราคา 100-110 บาทต่อกิโลกรัม จากนั้นมาขุนต่อประมาณ 6-8 เดือนจนได้น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 390-400 กิโลกรัมต่อตัว จึงส่งจำหน่ายให้กับโรงเชือดหรือพ่อค้าที่มารับซื้อ สนนในราคา 130-140 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันสหกรณ์จำหน่ายโคเนื้อวากิวเฉลี่ยอยู่ที่ 10-15 ตัวต่อเดือน
“เหตุที่ชาวบ้านไม่นิยมขุนต่อเพราะต้นทุนเลี้ยงสูง ต้องใช้อาหารอัดเข้าไปเยอะ สหกรณ์มีศักยภาพมากกว่า ทำให้สหกรณ์รายได้จากส่วนต่างตรงนี้”ประธานกรรมการสหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จำกัดเผยและยอมรับว่าผลพวงจากราคาเป็นสิ่งจูงใจอีกทั้งตลาดมีความต้องการสูง ปัจจุบันทำให้สมาชิกหันมาเลี้ยงโคเนื้อวากิว เฉลี่ย 3-6 ตัวต่อครัวเรือน แต่ปัญหาวากิวโตช้าและเนื้อไม่เยอะเหมือนบรามันหรือชาโลเล่ ดังนั้นสหกรณ์จึงส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงบรามันและชาดลเล่ควบคู่ไปวากิว
“ถ้าเป็นวัวทั่วไปพันธุ์พื้นเมือง 80-90 บาท บรามัน ชาโลเล่ 100-110 ส่วนวากิว 130-140 บาท ราคาและความต้องการของตลาดเป็นแรงจุงใจให้ชาวบ้านหันมาเลี้ยงวากิว” นายเรืองศักดิ์เผย
ส่วนการวางแผนธุรกิจเลี้ยงโคจากนี้ไป เขาระบุว่าขณะนี้กำลังทำเรื่องเสนอของงบจากองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ยางสว่างเพื่อทำโรงเรือนรวบรวมโคเนื้อวากิวเพื่อเป็นตลาดซื้อ-ขายในเขตอำเภอรัตนบุรีและประสานเชื่อมโยงเครือข่ายกับสหกรณ์อื่น ๆ ที่สนใจมารับซื้อโคไปจะทำตลาดต่อไป หลังจากทำโรงเรือนรวบรวมตลาดซื้อขายเสร็จ จากนั้นสหกรณ์มีแผนสร้างโรงชำแหละแปรรูปเพื่อจะได้ดำเนินการโคเนื้อวากิวแบบครบวงจร โดยทุกวันนี้พ่อค้าที่มารับซื้อวากิวจากสหกรณ์จะนำไปจ้างโรงชำแหละที่จ.ขอนแก่นและของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคขุนตำบลสลักได ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในจ.สุรินทร์
“อนาคตสหกรณ์เราก็มีแผนสร้างโรงชำแหละแปรรูป อยากได้โรงเชือดแปรรูป ทำแผนยื่นขอการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ไป 5 ล้านบาท เชือดได้เดือนละ10-20 ตัว ถ้าเรามีโรงเชือดมาตรฐาน GMP ตั้งอยู่ตรงนี้ต่อไปก็จะมีผู้ประกอบการขายเนื้อในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง อย่างศรีสะเกษหรืออุบลราชธานีที่เลี้ยงโคกันเยอะก็จะมาจ้างโรงเชือดชำแหละของเราก็จะสร้างรายได้ให้กับสหกรณ์อีกทางหนึ่ง เพียงแต่ที่ผ่านมาสหกรณ์ยังติดปัญหาเรื่องที่ตั้ง เพราะยังใช้พื้นที่ของหมู่บ้าน ตอนนี้มีสมาชิกได้บริจาคพื้นที่ให้ 1 ไร่ 3 งานเป็นที่ตั้งโรงงาน ทราบว่าขณะนี้ท่านรองได้สั่งการให้ทางสหกรณ์จังหวัดสุรินทร์ลงมาดูพื้นที่แล้ว” นายเรืองศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยนายนิรันดร์ อ่อนนุ่ม สหกรณ์จังหวัดสุรินทร์ และคณะเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จำกัด โดยมีนายเรืองศักด์ สีตะริสุ ประธานกรรมการสหกรณ์และสมาชิก ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังรายงานผลงานดำเนินงานของสหกรณ์
โดยรองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กล่าวกับคณะกรรมการและสมาชิกสหกรณ์ว่าขอให้รักษาระดับมาตรฐานระดับดีเลิศของสหกรณ์นี้ไว้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกทั้ง 110 คนให้ดำเนินธุรกิจและร่วมกิจกรรมการส่งเสริมอาชีพของสหกรณ์ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานในระดับพื้นที่ ทั้งองค์กรท้องถิ่นและส่วนราชการเข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายที่ช่วยแนะนำส่งเสริมความรู้ด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาดให้กับเกษตรกรและชาวบ้าน โดยมีสหกรณ์เป็นศูนย์กลางและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกให้มีความกินดีอยู่ดี มีรายได้ที่มั่นคง โดยเฉพาะการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อปัจจุบันตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สหกรณ์จะขยายการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกและพัฒนากระบวนการเลี้ยงโคเนื้อให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ เพื่อให้คู่ค้าเอกชนและเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดต่างๆเกิดการยอมรับและขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคเนื้อวากิว จากตำบลยางสว่าง ให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งตลาดภายในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดอื่น ๆ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลแนะนำส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ มีระบบการควบคุมภายในที่ดี บริหารจัดการด้วยความโปร่งใสและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างครบวงจรต่อไปในอนาคต