‘เอเปก’ เพื่อพรุ่งนี้-ผักกาดหอม

www.plewseengern.com

ผักกาดหอม

เห็นด้วยกับ “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ครับ

การประชุมเอเปกต้องเป็นประโยชน์แก่คนไทย ให้ได้มากที่สุด

วานนี้ (๑๖ พฤศจิกายน) “อุ๊งอิ๊งค์” ทวีตข้อความ ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ Ing Shin@ingshin ตามนี้ครับ

“…เมื่อ ๑๙ ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยรักไทย ใช้ APEC เป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศไทยที่กำลังฟื้นฟูหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและโรคระบาดซาร์ส เวที APEC ครั้งนั้น คือโอกาสสำคัญที่จะใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจ เพื่อสร้างผลประโยชน์แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด

ในยามประเทศเกิดวิกฤตทั้งเศรษฐกิจและโรคระบาด ทุกงบประมาณ ทุกภาษีที่ประชาชนจ่าย ทุกสรรพกำลังของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้คนอีกจำนวนมากมหาศาลอยู่เบื้องหลังงานครั้งนี้ เราควรทำให้ #APEC2022 เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

นั่นคือสิ่งที่เราในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งผู้เสียภาษีคาดหวังกับ #APEC2022 ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาค่ะ…”

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓

ครั้งแรกปี ๒๕๓๕ ยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน

เกิดผลลัพธ์สำคัญ คือ การออกแถลงการณ์ประกาศจัดตั้งสำนักเลขาธิการเอเปก หรือ APEC Secretariat ที่สิงคโปร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการการประชุมและประสานงานเรื่องต่างๆ

ครั้งที่ ๒ อย่างที่รู้กันยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปี ๒๕๔๖

ผลลัพธ์สำคัญ คือ การสนับสนุนให้เกิดความคืบหน้าในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาภายใต้องค์การการค้าโลก

การต่อต้านการก่อการร้ายที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

และครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ Open. Connect. Balance.

สิ่งที่ประเทศไทยจะผลักดันในกรอบความร่วมมือครั้งนี้ ได้แก่

เปิดกว้างในทุกโอกาส สานต่อการดำเนินงานในการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการไหลเวียนสินค้าจำเป็น เช่น วัคซีนโควิด-๑๙ และสินค้าทางการแพทย์

นอกจากนี้ ยังตระหนักถึงการเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล เช่น กระบวนการระบบศุลกากรที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการดำเนินธุรกิจที่ช่วยลดต้นทุนจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

และไทยจะส่งเสริมการหารือการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมให้มีความทันสมัย

เชื่อมโยงในทุกมิติ เน้นในเรื่องการกลับมาเชื่อมโยงกันผ่านการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙

สมดุลในทุกแง่มุม นำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy Model ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทย

เป็นแนวคิดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนระดับต่ำ

รวมถึงการสานพลังร่วมสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและเยาวชน จะผลักดันให้เกิดการใช้แนวคิดใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้เทคโนโลยีและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยไทยจะเน้นเรื่องการคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในเรื่องการรักษาป่าไม้ การจัดการขยะทางทะเล และการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายด้วย

นอกจากนี้ ยังมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหารด้วย

นั่นคือกรอบที่วางไว้ เกิดผลลัพธ์สำคัญหรือไม่ อยู่ที่การเจรจาความ

การประชุมเอเปกสมัยทักษิณ ได้รับคำชมว่าจัดได้ดี มีพิธีกรรมที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับชาวต่างชาติ

เหมือนจะราบรื่นไปหมด แต่รัฐบาลไทยขณะนั้นถูกวิจารณ์ว่ารับใช้ตะวันตกถึงขนาด ยอมให้มีการจับกุม “ฮัมบาลี” บิน ลาดิน แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทย

แน่นอนครับ “ฮัมบาลี” ผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงสมควรถูกจับไปพิจารณาโทษ

“ฮัมบาลี” เป็นชาวอินโดนีเซีย

เป็นบุคคลสำคัญในการวางแผนลอบวางระเบิดแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซียเมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๕ ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๒ พันคน

ข้อสังเกตคือ ไม่มีการจับกุม “ฮัมบาลี” ในอินโดนีเซีย รวมถึงมาเลเซีย ที่ “ฮัมบาลี” มีเครือข่ายอยู่ แต่มาจับกุมที่ไทย

เป็นการจับกุมเดือนสิงหาคมปี ๒๕๔๖

รัฐบาลทักษิณเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปก เดือนตุลาคม ๒๕๔๖

การจับกุมแทนที่จะดำเนินการอย่างลับๆ เพื่อความปลอดภัยของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งใน กทม.

กลับประชาสัมพันธ์ทำกันอย่างเอิกเกริก

ในวงประชุมด้านความมั่นคงระดับนานาชาติ หลังจากนั้น หลายประเทศชี้มือมาที่ไทย โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าสุ่มเสี่ยงจะกลายเป็น แหล่งบ่มเพาะก่อการร้าย แหล่งใหม่

ช่วงเวลานั้น ตอนเหนือของมาเลเซียและทางตอนใต้ของไทย มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย เช่น “กลุ่มเจไอ” หรือเจมาห์ อิสลามิยาห์

เครือข่ายของฮัมบาลี ก็เคยเข้าออกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

พัฒนาการความรุนแรงหลังจากนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการจับกุม “ฮัมบาลี” ที่พระนครศรีอยุธยา และรัฐบาลไทยตีข่าว เพื่อโชว์ผลงาน

เหตุระเบิดเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ปากซอยรามคำแหง ๔๓/๑ ผู้ต้องหาที่ถูกจับและถูกออกหมายจับแล้วเป็นชาว จ.นราธิวาส

มีปฏิบัติการลับๆ พาไปชี้จุดต้องสงสัยในพื้นที่ พบอุปกรณ์ประกอบระเบิดถูกฝังไว้ล็อตใหญ่

ผู้ต้องหาชุดนี้เป็น “กลุ่มพูโลใหม่” ที่เพิ่งผ่านการฝึก ประวัติขาวสะอาด ไม่เคยก่อคดีใดๆ

รับงานแรกคือลอบวางระเบิดย่านรามคำแหง

แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ความรุนแรงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากจับกุม “ฮัมบาลี” ถูกขยายแนวรบมาถึงใน กทม.

แต่หลังจากนั้น กทม.ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายบ่อยครั้ง

รวมทั้งเหตุระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหม เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘ ในยุครัฐบาล คสช. มีผู้เสียชีวิตทั้งไทยและเทศกว่า ๒๐ ราย

นี่คือสิ่งที่ “อุ๊งอิ๊งค์” ไม่ได้เขียนถึง

อีกประการหนึ่งที่รัฐบาลทักษิณ จัดงานเอเปกราบรื่น เพราะขณะนั้นประชาชนยังไม่ถูกแบ่งเป็น ๒ ขั้ว ไม่มีเหลือง ไม่มีแดง

มีแค่คนเลือกพรรคไทยรักไทย กับคนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ขัดแย้ง สู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย

แต่ “เอเปก” ครั้งนี้แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง การเมืองขัดแย้งกันแสนสาหัส ประชาชนถูกแยกเป็น ๒ ฝ่าย แทบไม่เผาผีกัน

ผลลัพธ์สำคัญของการประชุมเอเปกครั้งนี้ จะออกมาในยุครัฐบาลหน้า อาจจะเป็นรัฐบาลที่ “อุ๊งอิ๊งค์” เป็นนายกรัฐมนตรี

หากเกิดความสำเร็จในวันนั้น อย่างน้อยต้องขอบคุณรัฐบาลนี้ที่ปูทางไว้ให้

โรคระบาดขาลง เศรษฐกิจขาขึ้น คือโอกาสที่รัฐบาลถัดไปต้องหยิบฉวยให้ได้ แล้วทำมันเพื่อประชาชนทั้งชาติ

ไม่ใช่ร่ำร้องจะเอาพ่อกลับบ้าน!

Written By
More from pp
กทม. ขอความร่วมมือ BTSC ทบทวนและชะลอขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า ห่วงเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน
2 ธันวาคม 2565- นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) แจ้งขอปรับขึ้นค่าโดยสาร ว่า
Read More
0 replies on “‘เอเปก’ เพื่อพรุ่งนี้-ผักกาดหอม”