ใช้งานข้อมือและข้อศอกหนักเกินไป อาจเสี่ยงเอ็นอักเสบ

Tennis elbow และ Golfer’s elbow ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นในนักกีฬาเทนนิสและกอล์ฟเท่านั้น แต่เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ใช้งานข้อมือและข้อศอกหนักเกินไปจนทำให้เอ็นอักเสบ

แพทย์หญิงวิชชุรีย์ เวชชากุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านมือ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า เอ็นอักเสบที่เกิดจากการใช้งานข้อมือและข้อศอกมากและหนักเกินไป แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

เอ็นข้อศอกนักเทนนิส (Tennis elbow) หรือการอักเสบของเส้นเอ็นข้อศอกฝั่งด้านนอกหรือฝั่งนิ้วโป้ง (Lateral epicondylitits) บริเวณปุ่มกระดูกที่เป็นจุดเกาะของเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่กระดกข้อมือขึ้นและเหยียดนิ้วมือ (Extensor group) ซึ่งพบการอักเสบและทำให้เกิดอาการปวดข้อศอกได้บ่อยกว่า

ส่วนใหญ่มักเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อ Extensor carpi radialis brevis (ECRB) ซึ่งทำหน้าที่กระดกข้อมือ อีกกลุ่ม คือ

เอ็นข้อศอกนักกอล์ฟ (Golfer’s elbow) หรือการอักเสบของเส้นเอ็นข้อศอกฝั่งด้านในหรือฝั่งนิ้วก้อย (Medial epicondylitis) บริเวณปุ่มกระดูกที่เป็นจุดเกาะของเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่กระดกข้อมือลง คว่ำมือและงอนิ้วมือ (Flexor-pronator group)

“ที่มีชื่อว่าเอ็นข้อศอกนักเทนนิสหรือนักกอล์ฟนั้น เนื่องจากเป็นอาการปวดข้อศอกบริเวณจุดเกาะเอ็นกล้ามเนื้อที่มักพบในนักเทนนิสหรือนักกอล์ฟ หลังจากตีนานๆ ตีแรง ตีโดนพื้น หรือพบในคนที่ใช้งานข้อมือและข้อศอกหนักๆ เกร็งในท่าซ้ำๆ จนทำให้เกิดอาการปวดจากการอักเสบและมีปัญหาในการใช้มือ เช่น การหยิบจับสิ่งของ เป็นต้น” แพทย์หญิงวิชชุรีย์กล่าว

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค Tennis elbow และ Golfer’s elbow มักมาจากการเหยียดงอข้อศอก สะบัดข้อมือซ้ำ ๆ ช่วงเล่นกีฬา เช่น นักกีฬาเทนนิส/แบดมินตัน การเกร็งข้อมือซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น การทำงานบ้าน ทาสี ทำสวน หรือการใช้คีย์บอร์ด ไม่ได้ยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลังการเล่นกีฬา การสูบบุหรี่และน้ำหนักเกินมาตรฐานเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น โรคนี้พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ในช่วงอายุประมาณ 30-50 ปี

“โรคเอ็นข้อศอกนักเทนนิสและโรคเอ็นข้อศอกนักกอล์ฟจะมีอาการปวดข้อศอกบริเวณปุ่มกระดูกเวลาขยับศอกหรือสะบัดมือ ยกหรือหยิบจับของลำบาก บางรายอาจถือแก้วน้ำหรือขวดน้ำไม่ไหว เหยียดข้อศอกได้ไม่สุด ข้อศอกอักเสบ บวม แดง ร้อน อาจปวดร้าวขึ้นต้นแขนหรือร้าวลงข้อมือ หากปล่อยไว้จนเรื้อรังอาจมีอาการอ่อนแรงของนิ้วมือและข้อมือได้ โดยอาการปวดสามารถหายได้เองภายใน 2-9 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค” แพทย์หญิงวิชชุรีย์กล่าว

สำหรับการวินิจฉัย แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยแยกโรคหรือภาวะอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาทบริเวณข้อศอก รวมถึงการตรวจเลือด

ส่วนการรักษาแบ่งออกเป็น 5 วิธี ดังนี้

1.การรักษาเบื้องต้น คือพักการใช้งานข้อศอกและยกข้อศอกสูงเพื่อลดอาการบวม ประคบเย็นบริเวณที่ปวด 15 – 20 นาที วันละ 2 – 4 ครั้ง เพื่อลดการอักเสบ ร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) รวมทั้งหลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้มีอาการปวด เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การรักษาได้ผลดี

2.กายภาพบำบัด ควรเริ่มทำหลังพ้นระยะอักเสบเฉียบพลันหรืออาการปวดลดลงแล้ว โดยยืดกล้ามเนื้อข้อมือ ข้อศอก และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ควบคู่กับการประคบอุ่น อัลตราซาวนด์ (Ultrasound therapy) เลเซอร์ (Laser therapy) หรือช็อกเวฟ (Shock wave therapy)

3.ใส่สายรัดข้อศอก (Elbow strap) แนะนำให้ใส่ช่วงที่ต้องใช้งานแขน เช่น ยกของหนัก เล่นกีฬา เพื่อป้องกันการดึงรั้งของเอ็นกล้ามเนื้อและลดแรงที่มากระทำต่อกล้ามเนื้อเวลาใช้งาน

4.ฉีดเกล็ดเลือดความเข้มข้นสูง หรือ PRP (Platelet-rich plasma) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบและซ่อมแซมเอ็นที่เสียหาย

5.การผ่าตัด ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรง รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้นใน 6-12 เดือน แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดส่วนของเส้นเอ็นที่มีความเสื่อมออก แล้วปรับแต่งเส้นเอ็นไม่ไห้ตึงเกินไป หรือในรายที่มีความเสื่อมมากจนทำให้ข้อศอกไม่มั่นคง แพทย์จะสร้างเส้นเอ็นข้อศอกใหม่ ช่วงหลังผ่าตัดจะใส่เฝือกอ่อนประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากถอดเฝือกจะทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน

แพทย์หญิงวิชชุรีย์ยังกล่าวอีกว่า โรค Tennis elbow และ Golfer’s elbow สามารถป้องกันได้ด้วยการ บริหารกล้ามเนื้อข้อมือและข้อศอกให้แข็งแรงและมีความยืดหยุ่นอยู่เสมอ ยืดกล้ามเนื้อข้อมือและข้อศอก 5-10 นาที ก่อนการใช้งานหรือเล่นกีฬาทุกครั้ง เลือกอุปกรณ์กีฬาหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานให้เหมาะสม ปรับท่าทางในการทำงานให้เหมาะสมกับกิจกรรม หลีกเลี่ยงการใช้งานแขนและข้อมือในท่าเดิมต่อเนื่อง หรือเปลี่ยนท่าและหยุดพักเป็นระยะหากจำเป็นต้องใช้งานนานๆ

Written By
More from pp
สัมผัสประสบการณ์จิบน้ำชายามบ่าย “THE UNUSUAL VALENTINE’S AFTERNOON TEA” รังสรรค์พิเศษเพื่อร่วมฉลองเทศกาลวาเลนไทน์สุดแสนโรแมนติก
โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ แนะนำอาฟเตอร์นูนทีเมนูใหม่เพื่อร่วมฉลองเทศกาลแห่งความรักที่กำลังจะมาถึง ดื่มด่ำไปกับช่วงเวลาแสนหวานด้วยการจิบน้ำชายามบ่ายชุด “The Unusual Valentine’s Afternoon Tea” ลิ้มรสนานาเมนูคาวหวานที่ผ่านการปรุงอย่างพิถีพิถัน พร้อมเพลิดเพลินไปกับความงดงามของสนามกอล์ฟราชกรีฑาสโมสรและวิวใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่...
Read More
0 replies on “ใช้งานข้อมือและข้อศอกหนักเกินไป อาจเสี่ยงเอ็นอักเสบ”