“กัญชาทางการแพทย์” เรียนรู้อย่างเข้าใจ รู้จักใช้อย่างถูกวิธี มีประโยชน์มหาศาล

จากคำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในงาน “สื่อสาร กัญ อย่างเข้าใจ” ภายใต้โครงการ “Meet the Press: กัญชา กัญชง ประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาว่าหลังจากการ “ปลดล็อกกัญชา” ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 “นโยบายกัญชาเพื่อสุขภาพและทางการแพทย์” ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสังคมอย่างที่หลายคนกังวลใจ

โดยมีข้อมูลจากกรมการแพทย์ที่ระบุถึงจํานวนผู้ป่วยที่มีภาวะพิษเฉียบพลัน จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาแนวโน้มไม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ข้อมูลจากห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการฯ เบื้องต้น ระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน – 16 สิงหาคม 2565 พบผู้ป่วยเพียง 60 ราย ซึ่งทั้งหมดเนื่องมาจากการได้รับข้อมูลข่าวสารการใช้กัญชาที่ถูกต้องผ่านช่องทางต่างๆของรัฐไปทั่วประเทศ”

คำกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างถูกต้องและถูกวิธี ข้อดีที่ได้รับจึงมีมากกว่าโทษ แม้ขณะนี้นโยบายการใช้กัญชาทางการแพทย์จะอยู่ในช่วงรอยต่อของการบังคับใช้ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….อย่างเป็นรูปธรรมและยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับเพื่อควบคุมไม่ให้มีการใช้กัญชาในทางที่ผิดด้วย

เรื่องของ “กัญชาทางการแพทย์” ถือว่ากระทรวงสาธารณสุขนั้นเป็นเจ้าภาพหลักที่กำกับดูแล ซึ่งจะมีหน่วยงานในสังกัดเป็นเจ้าภาพร่วมและดำเนินงานด้านกัญชาทางการแพทย์ตามบริบทที่แต่ละฝ่ายรับผิดชอบ ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งในประเด็นของกัญชาทางการแพทย์นั้นมีกรมการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบ

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากนโยบายกัญชาทางการแพทย์ในฐานะพืชเศรษฐกิจและผลักดันให้กัญชาเป็นพืชทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย

กรมการแพทย์จะเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่สำคัญ ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนผู้ป่วยและครอบครัวมีความเชื่อมั่นในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

โดยมีภารกิจสำคัญในด้านต่างๆที่ต้องดำเนินงาน ได้แก่ การจัดทำคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้แพทย์และทันตแพทย์สามารถสั่งใช้ และเภสัชกรสามารถจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม ผู้ป่วยได้รับการรักษา/ควบคุมอาการของโรค/ภาวะของโรคที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จัดทำแนวทางการให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ ซึ่งเป็นการผสมผสานทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทยในสถานพยาบาลแห่งเดียวกันเพื่ออำนวยความสะดวกและเอื้อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการกัญชาทางการแพทย์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

การส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ในรูปแบบต่างๆ อาทิ น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น (DMS Oil) ซีรั่มบำรุงผิวและครีมชะลอวัย (Rejuvenating cream with CBD)จาก CBD สบู่ใบกัญชา(Cannabis soap) และโปรตีนที่สกัดจากเมล็ดกัญชง(Hemp protein powder)

ดำเนินการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยในด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ การศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดกัญชาต่อเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย

ส่วนงานวิจัยที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้แก่ การศึกษาวิจัยในกลุ่มโรคมะเร็ง/ผู้ป่วยแบบประคับประคอง กลุ่มโรคผิวหนัง กลุ่มโรคทางระบบประสาท และผลิตภัณฑ์จากกัญชา (อาหารเสริม/เครื่องสำอาง)

การจัดตั้งศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ (IMCRC)เพื่อสนับสนุนการวิจัยกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ โดยการศึกษาวิจัยทางคลินิก การฝึกอบรมถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

การผลักดันรายการยาสมุนไพรสารสกัดกัญชาทางการแพทย์เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ(สปสช.)บัญชี 1 และบัญชี 3 บัญชี 1ได้แก่ สารสกัดกัญชา ชนิด THC : CBD เด่น= 1:1สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ดูแลแบบประคับประคอง และสารสกัดกัญชา ชนิด THC เด่น

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัดและบัญชี 3 ได้แก่สารสกัดกัญชา ชนิด CBD เด่นสำหรับลมชักที่รักษายากในเด็ก รวมทั้งมีการจัดอบรมการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์

ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมแล้วทั้งสิ้น จำนวน 9,587 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2565) การจัดอบรมหลักสูตรพยาบาลผู้จัดการการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ (Care manager) จำนวน 2 รุ่น เป็นพยาบาลทั้งในภาครัฐและเอกชน จำนวน 358 คน

นายแพทย์ธงชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2566 กรมการแพทย์ จะเร่งดำเนินการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่สำคัญเชื่อถือได้ และผลักดันรายการยาสมุนไพรสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับกัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย และเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วย สมดังปณิธานของกรมการแพทย์ที่ว่า “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต”

“กัญชาทางการแพทย์”อาจยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยแต่ถ้าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาชนร่วมกันทำความรู้ ความเข้าใจ และนำไปใช้อย่างถูกวิธี ก็จะเกิดประโยชน์มหาศาลทั้งด้านการรักษาทางการแพทย์ ตลอดจนด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต.

Written By
More from pp
“กาแฟพันธุ์ไทย” รุก CLMV สยายปีกบุกตลาดอาเซียน เปิดตัว “ปันคาเฟ่” แห่งแรกใน สปป.ลาว
บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เดินหน้าขยายสาขาในต่างประเทศ รุกตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) ผนึกกำลังกับ บริษัท มัลติเพล็กซ์...
Read More
0 replies on ““กัญชาทางการแพทย์” เรียนรู้อย่างเข้าใจ รู้จักใช้อย่างถูกวิธี มีประโยชน์มหาศาล”