ซีพีผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือร่วมประกาศเจตนารมณ์ “เร่งแก้ปัญหาโลกร้อน-ความหลากหลายทางชีวภาพ”

www.plewseengern.com

ซีพีผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือร่วมประกาศเจตนารมณ์ “เร่งแก้ปัญหาโลกร้อน-ความหลากหลายทางชีวภาพ” พร้อมภาคเอกชนชั้นนำของไทยบนเวทีประชุมผู้นำความยั่งยืน GCNT Forum 2022 มุ่งปกป้องระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม หวังดันเศรษฐกิจพร้อมขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศสู่ความยั่งยืน

2 พฤศจิกายน 2565 – สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT: Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติ (UN) จัดงานการประชุมผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum 2022 ภายใต้แนวคิด Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenges รวมพลังองค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ

ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จัดเสวนาพร้อมประกาศเจตนารมณ์รวมพลังภาคเอกชนเร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในงาน

พร้อมด้วยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี นางสาวกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เป็นสักขีพยานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของภาคเอกชนในสมาชิก GCNT กว่า 100 องค์กรและภาคต่างๆทั่วประเทศ โดยมีผู้นำจากภาครัฐ ประชาสังคม และภาคเอกชนชั้นนำจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

ในการนี้ บริษัทและกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ซึ่งเป็นสมาชิกในเครือข่าย GCNT ได้เข้าร่วมพิธีประกาศเจตนารมณ์ครั้งสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

โดยมีดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้ช่วยบริหารประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้แทนเครือซีพีร่วมประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้

เพื่อเดินหน้าร่วมมือหาแนวทางแก้ปัญหาและปกป้องระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรมที่มีการวัดผลและขยายผลได้นำไปสู่การขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศไทยในเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในการแสดงความมุ่งมั่นของผู้นำทั่วโลกในงาน COP27 และ COP15 ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี กล่าวแสดงความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงของ GCNT ในการให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรมที่ภาคธุรกิจจะต้องเป็นผู้นำและร่วมสนับสนุนภาครัฐในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้

โดยในปีที่ผ่านมาสมาชิกสมาคมได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน ค.ศ. 2070 ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาเครือข่าย GCNT ได้ร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้วอย่างน้อย 8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เปรียบเสมือนการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนไปกว่า 1.6 ล้านคัน

โดยการเสวนาครั้งนี้ย้ำให้เห็นว่ายังมีวิกฤตทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกประการหนึ่งที่ท้าทายและร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นคือ วิกฤตจากการถดถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) ที่โลกกำลังเผชิญในปัจจุบันจะยิ่งซ้ำเติมผลกระทบจากภาวะโลกร้อยอาจนำไปสู่การแก่งแย่งทรัพยากรธรรมชาติ และอาจส่งผลให้ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลกทวีความรุนแรงขึ้น

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า Climate Change และ Biodiversity Loss จึงเป็นโจทย์ที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญร่วมแก้ปัญหากับภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ เตรียมรับมือกับผลกระทบให้ทันท่วงทีและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีสติ ความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาดังกล่าวควบคู่ไปกับการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า สร้างสรรค์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และ SME

นอกจากนี้ จำเป็นต้องอาศัยกลไกตลาดและกลไกทางการเงินที่มีประสิทธิผล ระดมทุนให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ พร้อมทั้งจัดทำรายงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและติดตามผลการดำเนินงาน ดังนั้นการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังถือเป็นความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ประเมินว่า หากเกิดการลงทุนเพื่อปกป้องฟื้นฟธรรมชาติ จะสามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้ถึง 30 เท่า การนำแนวทางแก้ไขและรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยกลไกธรรมชาติ

เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ป่าชายเลนและระบบนิเวศชาบฝั่งนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไประเทศไทยไปถึงเป้าหมาย Net Zero ทั้งนี้ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานเอเปคและจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจไทยในสมาชิก GCNT พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามแนวคิด BCG Model และตามแนวคิดของการจัดงานเอเปคครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยแสดงความเป็นผู้นำขับเคลื่อนการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจภูมิภาคเอเปคในยุคหลังวิกฤตโควิด

“หากเราต้องการให้ธุรกิจของเรา เศรษฐกิจของเราเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องการส่งมอบโลกสู่คนรุ่นต่อไปในสภาพที่ดีและปกป้องไม่ให้มวลมนุษยชาติต้องสิ้นสุดไป ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องระดมกำลังรับมือ เร่งมือและร่วมมือแก้ปัญหาทั้งโลกร้อนและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสุดความสามารถเพื่อโลกและลูกหลานของเราสืบไป” นายศูภชัย กล่าว

ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้ช่วยบริหารประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพียังได้กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนสู่ปี ค.ศ.2030 รวมทั้งสิ้น 15 เป้าหมายภายใต้ 3 เสาหลักคือ Heart – Health – Home

ซึ่งแสดงความมุ่งมั่นของเครือซีพีในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนที่เป็นระบบมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน และมีการรายงานต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส ซึ่งการที่เครือซีพีและบริษัทในเครือฯได้ร่วมเป็นสมาชิกใน GCNT ถือเป็นความร่วมมือของบทบาทภาคธุรกิจไทยในการขับเคลื่อนเป้าหมายความยั่งยืนร่วมกับภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ รวมไปถึงภาคประชาสังคม ด้วยเพราะเครือซีพีทำธุรกิจที่หลากอุตสาหกรรมและมีการลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก

จึงเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์สำคัญในฐานะภาคเอกชนไทยในการร่วมผนึกกำลังขับเคลื่อนเป้าหมายความยั่งยืนกับทุกภาคส่วนไปด้วยกัน โดยเฉพาะประเด็นความท้าทายของโลกที่นอกจากเรื่องโลกร้อน ซึ่งเครือฯ ได้ประกาศความมุ่งมั่นสู่ Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 แล้วนั้น

ประเด็นเรื่องของการปกป้องระบบนิเวศและความหลากลายทางชีวภาพซึ่งเป็นประเด็นที่มีความท้าทายและจำเป็นต้องหาแนวทางออกมาอย่างเป็นรูปธรรม วัดผลและขยายผลได้โดยร่วมมือกับทุกฝ่าย โดยเครือซีพีได้มีกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายไว้ชัดเจนเพื่อขับเคลื่อนตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดประสิทธิผลต่อไป

ทั้งนี้ ในงานเสวนาดังกล่าวเครือซีพี โดยนายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร ได้เป็นผู้แทนเครือฯ เข้าร่วมเสวนาหัวข้อ “การกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพ – บทบาทของธุรกิจและผู้บริโภค” (Setting Biodiversity strategy & target – Role of Business & Consumers) ร่วมกับนายณัฐพงศ์ จิรวัฒนาวรกุล ผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กรและกิจการสัมพันธ์

บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) ดร. สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ ศรีเลิศฟ้า รักษาการ ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานกลยุทธ์และบริหารความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และนางสาวอมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์ เยาวชนผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วม UN Youth4Climate

นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพีตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่ไม่สร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อปกป้องความสมดุลของระบบนิเวศและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับทรัพยากรธรรมชาติตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โดยเครือฯ ได้มี “การจัดทำนโยบายย่อยด้านสิ่งแวดล้อม”ในส่วนของการปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนของเครือฯสู่ปี 2030 เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญและต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในการทำธุรกิจ

โดยเครือฯได้มีการทำโครงการต่างๆเพื่อ “สร้างความตระหนักรู้” ให้พนักงานในองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องในการให้ความรู้และส่งเสริมให้เกิดการสร้างแนวทางแก้ไขปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางบกและทางน้ำ อาทิ

โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไทย SEACOSYSTEM ที่ได้ร่วมมือกับชุมชนประมงใน 17 จังหวัดทั้งแถบอ่าวไทยและอันดามัน ในการส่งเสริมและวิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลในการเพาะพันธุ์อนุรักษ์สัตว์น้ำ รวมไปถึงโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน

นอกจากนี้ เครือซีพี ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการ “สร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ” (Traceability) วัตถุดิบทางการเกษตรของเครือซีพี อาทิ ข้าวโพด ปลาป่น และถั่วเหลือง จะต้องมีแหล่งที่มาที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและทะเล ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการบริหารความเสี่ยงด้านการจัดการปกป้องระบบนิเวศให้เกิดความสมดุล

นอกจากนี้ยังมีการ “สร้างองค์ความรู้” รวมไปถึงพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวควบคู่ไปด้วย ดังนั้นการปกป้องธรรมชาติและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความสมดุลและยั่งยืน สิ่งสำคัญต้องทำให้เป็นเนื้อเดียวกันกับการทำธุรกิจ

ทั้งนี้เครือซีพีไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ ต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้เป้าหมายนี้ขับเคลื่อนได้อย่างสำเร็จในการร่วมปกป้องธรรมชาติให้อยู่คู่กับโลกได้อย่างยั่งยืน

Written By
More from pp
สยามพิวรรธน์ ยูนิลีเวอร์ คาโอ เต็ดตรา แพ้คและเครือข่ายพันธมิตร ร่วมเปิด ไดร์ฟทรู รีไซเคิล คอลเลคชั่น เซ็นเตอร์ แห่งแรกในประเทศไทย
บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด  กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย บริษัท คาโออินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด  บริษัท เต็ดตรา แพ้ค...
Read More
0 replies on “ซีพีผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือร่วมประกาศเจตนารมณ์ “เร่งแก้ปัญหาโลกร้อน-ความหลากหลายทางชีวภาพ””