ไทยเตรียมพร้อมจัดงานประชุมผู้นำของหน่วยงานให้ทุนระดับโลก (GRC) มุ่งลดความซ้ำซ้อน เน้นการนำภาษีมาใช้เพื่อพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด

www.plewseengern.com

ประเทศไทย ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการประชุม 2022 Global Research Council Asia-Pacific Regional Meeting หรือ GRC Regional Meeting ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำของหน่วยงานให้ทุนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. จับมือ 2 หน่วยบริหารและจัดการทุนของประเทศของไทย คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

ร่วมกับ 2 หน่วยงานให้ทุนของญี่ปุ่น คือ Japan Science and Technology Agency (JST) และ Japan Society for the Promotion of Science (JSPS) เป็นเจ้าภาพการประชุม ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้

GRC หรือ Global Research Council เป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานให้ทุนหรือ Funding Agencies หรือที่บางครั้งเรียกว่า Research Councils หลัก ๆ ของโลก มีสมาชิกจากทุกประเทศ ทุกภูมิภาค นับเป็นเวทีกลางสำคัญที่หน่วยงานให้ทุนแต่ละประเทศได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถนำประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้หรือต่อยอดได้ และช่วยเร่งการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความร่วมมือ นำความรู้ไปใช้ประโยชน์และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มักจะเป็นประเด็นร่วมในระดับโลก

การประชุมใหญ่ประจำปีของ Global Research Council จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยก่อนการประชุมใหญ่ประจำปี จะมีการประชุมในระดับภูมิภาค หรือ Regional Meeting ซึ่งแบ่งเป็น 5 ภูมิภาค โดยประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และในปี พ.ศ. 2565 ไทยได้รับการเสนอให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อรวบรวมประเด็นสำคัญและข้อคิดเห็นของหน่วยงานจัดหาเงินทุนในภูมิภาค

ก่อนนำเสนอต่อการประชุมระดับโลกของ GRC ครั้งถัดไปที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ปี 2566 สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นพื้นที่ใหญ่มีสมาชิกจำนวนมาก เช่น ในอาเซียน เอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย เป็นต้น

โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้นำหน่วยงานให้ทุนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศ รวมถึงประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ ที่สนใจ และ สกสว.ตั้งเป้าผู้นำหน่วยงานจากนานาประเทศเข้าร่วมงาน 50 – 100 คน นับเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานให้ทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สกสว.ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมประจำปี Global Research Council หรือ GRC ครั้งที่ 10 ที่ประเทศปานามา และได้รับการเสนอชื่อและคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม 2022 Global Research Council Asia-Pacific Regional Meeting

ซึ่งโดยแนวปฏิบัติ จะมีการเลือกอีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประเทศร่วมเป็นเจ้าภาพ สกสว. จึงขอเชิญประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีการทำงานร่วมกันมายาวนาน โดยหน่วยงานของญี่ปุ่นที่ร่วมเป็นเจ้าภาพ คือ Japan Science and Technology Agency (JST) และ Japan Society for the Promotion of Science (JSPS)

ในส่วนของประเทศไทย สกสว. ได้เชิญ 2 หน่วยบริหารและจัดการทุนของประเทศเป็นร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

ในปี 2566 ที่จะถึงนี้ ประเด็นสำคัญของ GRC ที่จะนำหารือ มี 2 เรื่องหลัก คือ หนึ่ง บทบาทของหน่วยงานให้ทุน ว่าจะช่วยจัดการปัญหาของ Climate Change ซึ่งพบว่ามีความรุนแรงทั่วโลก ตัวอย่างเช่นในปัจจุบัน ประเทศไทยก็พบปัญหาน้ำท่วมอยู่หลายพื้นที่ และสอง คือ นวัตกรรมของการให้รางวัลแก่นักวิจัยที่สามารถสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยแต่ละประเทศก็มีวิธีในการให้รางวัลหรือประกาศเกียรติคุณให้กับนักวิจัยที่สร้างผลงานที่มีกระทบสูงแตกต่างกันไป ก็จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาวิธีหรือแนวปฏิบัติที่ดีร่วมกัน รศ.ดร.พงศ์พันธ์ กล่าวเสริม

รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ สกสว. ได้เป็นเจ้าภาพหลักในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อระบบ ววน.ของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานด้าน ววน. ของไทยจะได้เรียนรู้จากประเทศอื่น ๆ ในมุมใดที่ไทยมีความโดดเด่นมากกว่า ก็สามารถแบ่งปันประสบการณ์ให้กับประเทศสมาชิกอื่นได้ วิธีการแบบนี้ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาที่ประสบร่วมกันในระดับโลกได้ดีขึ้น เช่น ปัญหาคุณภาพของอากาศ ปัญหาเชิงสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ร่วมกัน เป็นต้น


Written By
More from pp
กรรมการไตรภาคี ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง สวน ‘เศรษฐา’ แนะรัฐบาลแก้ปัญหาของแพงดีกว่า
11 ธันวาคม 2566 นายอรรถยุทธ ลียะวณิช คณะกรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง ระบุว่า ในเมื่อคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบไปด้วยฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ...
Read More
0 replies on “ไทยเตรียมพร้อมจัดงานประชุมผู้นำของหน่วยงานให้ทุนระดับโลก (GRC) มุ่งลดความซ้ำซ้อน เน้นการนำภาษีมาใช้เพื่อพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด”