รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดสัมมนาการพัฒนาศักยภาพชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย กำหนดแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนา 4 ด้าน สร้างความเข้มแข็งให้องค์กร เพื่อเป็นฐานรากที่มีความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขของประเทศไทย
บ่ายวันนี้ (11 ตุลาคม 2565) ณ แรนโช ชาญวีร์ รีสอร์ท แอนด์ คันทรีคลับ เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดสัมมนาการพัฒนาศักยภาพชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย
และกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “รัฐจะดูแล อสม.ฐานรากระบบสาธารณสุขประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนได้อย่างไร” โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประธานชมรม อสม. ระดับอำเภอ กว่า 150 คน เข้าร่วม
นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.เป็นที่พึ่งของชุมชน ดูแลสุขภาพประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กำหนดแนวทางไว้ 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.พัฒนาศักยภาพและยกระดับ อสม.ทุกคนให้เป็นหมอคนที่ 1 เชื่อมโยงกลไก 3 หมอในการดูแลสุขภาพคนไทยทุกครอบครัว
2.พัฒนาและยกระดับการทำงาน อสม. สู่การเป็น สมาร์ท อสม.เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Platform) พัฒนาแอปพลิเคชัน “สมาร์ท อสม.” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งพัฒนาระบบการรายงานผลการปฏิบัติงาน ซึ่งจะเป็นข้อมูลด้านสุขภาพที่สำคัญของคนไทยทั้งประเทศ
3.พัฒนาการบริหารสิทธิประโยชน์ อสม. เรื่องของสิทธิ สวัสดิการ และการเสริมสร้างขวัญกำลังใจของ อสม. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ ได้พัฒนาระบบการสะสมผลงานในแอปพลิเคชัน และ “บัตรสะสมผลงาน” ใช้รวบรวมผลการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ของ อสม. เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะเข้ามาร่วมสนับสนุนการทำงานของ อสม.
และ 4.สนับสนุนการเพิ่มค่าป่วยการ อสม. เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของ อสม. ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยสนับสนุน ส่งเสริมให้ อสม.สามารถเป็นส่วนที่สำคัญของระบบสุขภาพไทยที่เข้มแข็ง นำไปสู่การจัดการสุขภาพของประชาชนในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่มุ่งหวังต่อไป
“สถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ซึ่งอสม. มีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการช่วยดูแลสุขภาพเบื้องต้นของประชาชนในชุมชน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาระงานแพทย์ พยาบาล ลดความแออัดในระบบบริการสาธารณสุข” นายอนุทินกล่าว