“เอเปก” หรือ “เอเปค” เขียนภาษาไทยให้ถูก – รศ.ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ

www.plewseengern.com

1 ตุลาคม 2565-การประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation-APEC มีชื่อเป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการว่า การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก

ชื่อนี้เป็นชื่อทางการที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับราชบัณฑิตยสถานแล้วกำหนดขึ้น โดยอาศัยหลักเกณฑ์การทับศัพท์ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตั้งแต่วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๕

การที่ APEC เขียนทับศัพท์ว่า เอเปก นั้น อาศัยหลักเกณฑ์ ๒ ข้อคือ

ข้อแรก (หรือข้อ ๑๕ ในหลักเกณฑ์) คำทับศัพท์ที่ผูกขึ้นจากตัวย่อ ซึ่งอ่านออกเสียงได้เสมือนคำคำหนึ่ง มิได้ออกเสียงเรียงตัวอักษร ให้เขียนตามเสียงที่ออกและไม่ต้องใส่จุด

ข้อที่สอง (จากตารางเทียบเสียงพยัญชนะภาษาอังกฤษ) ตัว c ซึ่งเป็นพยัญชนะต้น หากตามมาด้วยตัว a o u r l ให้แทนด้วย ค ควาย หากตามมาด้วยตัว e i y ให้แทนด้วย ซ โซ่ ในกรณีที่ออกเสียง ช ให้แทนด้วย ช ช้าง แต่ถ้าเป็นตัวสะกดให้แทนด้วย ก ไก่ เพียงตัวเดียว

ฉะนั้น หากต้องการเขียนให้ถูกต้องตามแบบของราชการก็ต้องเขียนว่า “เอเปก”

ในกรณีที่มีผู้เขียนว่า “เอเปค” นั้นเป็นเพราะผู้เขียนมิได้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว แต่ไปใช้อีกเกณฑ์หนึ่งที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ นั่นคือ ใช้ตัวอักษรเดียวกันทั้งที่เป็นพยัญชนะต้น และพยัญชนะตัวสะกด เช่น นิวยอร์ค คำนี้ถ้าใช้เกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานจะเขียนว่า “นิวยอร์ก”

ถึงแม้ว่าเกณฑ์นี้ คณะรัฐมนตรีจะได้เห็นชอบเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๕ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นเกณฑ์ที่เพิ่งเกิดในปีนั้น หลักเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานฉบับแรกประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๘๕ ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขแล้วประกาศใช้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๒ ส่วนฉบับที่นำมาประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๕ นั้น เป็นการประกาศใช้ร่วมกับหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอื่นๆ อีก ๘ ภาษา หลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานจึงมีขึ้นก่อนที่จะเกิด เอเปก ในปี พ.ศ.๒๕๓๒

ส่วนที่มีผู้อธิบายว่า “เมื่อถอดตัวสะกดจากภาษาอังกฤษนั้น ราชบัณฑิตกำหนดว่า หากการใช้ ก สะกด ทำให้ทับซ้อนกับคำในภาษาไทยที่มีความหมายอยู่แล้ว ให้เลี่ยงเป็น ค แทนได้” นั้น น่าจะเป็นการเข้าใจผิด เพราะราชบัณฑิตยสถานไม่เคยกำหนดเช่นนั้น

ในกรณีที่การถอดคำจากภาษาอังกฤษแล้วทำให้คำนั้นมีลักษณะเหมือนกับคำไทย มีกล่าวไว้เพียง ๒ ข้อคือ

เกณฑ์การใช้ไม้ไต่คู้ ซึ่งใช้เพื่อให้เห็นแตกต่างจากคำไทย เช่น

log = ล็อก

เกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ ซึ่งใช้ในกรณีที่คำนั้นมีเสียงซ้ำกับคำไทยจนทำให้เกิดความสับสน เช่น

coke = โค้ก

coma = โคม่า

ฉะนั้น การที่มีผู้เขียนว่า เอเปค จึงไม่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานแต่ประการใด

อนึ่ง นอกจากคำว่า เอเปก แล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังได้ประสานงานกับราชบัณฑิตยสถานในการทับศัพท์ชื่อผู้นำพร้อมชื่อภรรยาหรือคู่สมรสด้วย

ตัวอย่าง เช่น

Mr.Jean Chretien = นายชอง เกรเตียง

Mr.Hu Jin Tao = นายหู จิ่น เทา

Mrs.Lui Yonqing = นางหลิว หย่งชิง

รายละเอียดหาดูได้ใน จดหมายข่าว ราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑๔๘ กันยายน ๒๕๔๖

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน

ข้อมูล สำนักงานราชบัณฑิตยสภา


Written By
More from pp
“วราวุธ” ส่งมอบเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ หลัง “ชัชชาติ” ต่อสายตรงขอสนับสนุนความช่วยเหลือ
“วราวุธ” ส่งมอบเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ หลัง “ชัชชาติ” ต่อสายตรงขอสนับสนุนความช่วยเหลือ พร้อมขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกขยะ-ไม่ทิ้งลงแหล่งน้ำ
Read More
0 replies on ““เอเปก” หรือ “เอเปค” เขียนภาษาไทยให้ถูก – รศ.ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ”